HoonSmart.com>>ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยจัด 4 ช่วงวิกฤตกว่าจะผ่านพ้นต้องใช้เวลา 2-3 ปี นักลงทุนรอดช่วงหนีตายแล้ว รอเฟดสู้เงินเฟ้อ ปีหน้าจะเป็นช่วงมรสุมเศรษฐกิจ เตือนนักลงทุนรับมือ พร้อมหาโอกาส KKP มองสถานการณ์ไต้หวันเพิ่มความไม่แน่นอน เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนโฉมสิ้นเชิง ปรับตัวให้ทัน คาดส่งออกชะลอตัวครึ่งปีหลัง กกร.เพิ่มเป้าส่งออกปีนี้โต 6-8% บล.ยูโอบีฯมองช่วงสั้นลุ้นขึ้นไปถึง 1,640 จุด รับปัจจัยลบไปมากแล้ว
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวในงานสัมมนา “จัดทัพลงทุนฝ่าวิกฤติเงินเฟ้อ” ว่า สถานการณ์ความตึงเครียดด้านการเมืองระหว่างสหรัฐฯ จีน และไต้หวัน ถือเป็นความเสี่ยง หากเกิดความรุนแรงขึ้นจะมีผลกระทบมากกว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพราะจีนเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ ที่สำคัญคือจีนถือพันธบัตรของสหรัฐสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
เศรษฐกิจในขณะนี้เป็นภาวะถดถอยทางเทคนิคเท่านั้น แต่การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่แท้จริงนั้นยังต้องใช้ระยะเวลา เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ชั่วข้ามคืน ยกเว้นแต่ว่าเกิดโรคระบาด หรือ สงคราม เท่านั้น จึงมองว่าเฟดจะยังคงดำเนินการตามแผนในการปรับขึ้นดอกเบี้ย และเร่งดูดสภาพคล่องออกจากระบบ ซึ่งการลดคิวที จะมีผลเท่ากับการปรับขึ้นดอกเบี้ย 2-4 ครั้ง
นายกอบศักดิ์ได้จัด 4 ช่วงของวิกฤตรอบนี้ที่จะใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะผ่านพ้นไปได้ โดยช่วงแรก นักลงทุนขายเงินลงทุน หนีตาย ซึ่งจบไปแล้ว ช่วงที่ 2 เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย และลดคิวที สู้กับเงินเฟ้อ ช่วงที่ 3 นำไปสู่โอกาสการเกิดเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ เงินเฟ้อลง แถมถูกซ้ำเติมปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน มีโอกาสเกิดวิกฤตในประเทศกำลังพัฒนา และช่วงที่ 4 เฟดกระตุ้นเศรษฐกิจ
“อีก 2-3 ปีนี้ไม่ง่าย ปี 66 จะเป็นช่วงมรสุมเศรษฐกิจ เราต้องเตรียมการรับมือและมองหาโอกาส หลังจากนี้กรุณารัดเข็มขัด เพราะมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ทั้งวิกฤติความขัดแย้งระหว่างประเทศ วิกฤติราคาพลังงาน วิกฤติอาหารโลก ความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลก เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย และโอกาสเกิดวิกฤติในประเทศเกิดใหม่ การเตรียมการที่ดี คือทางออก “นายกอบศักดิ์กล่าว
ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของไทย กนง.จะมีการประชุมอีก 3 ครั้งในปี 2565 คาดว่าจะปรับขึ้นทุกครั้งๆอย่างน้อย 0.25% เป็น1.25% และในปี 2566 จะปรับขึ้นเรื่อยๆสู่เป้าหมาย Save Zone กลางปีหน้า รอนักท่องเที่ยวกลับมาดี เงินบาทจะเคลื่อนไหวตามสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ย ดูดสภาพคล่อง จีนจะลดลดดอกเบี้ย แนวโน้มระยะยาว ดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าต่อไป เงินบาทจะอ่อนตัว มีผลต่อการลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า สถานการณ์ไต้หวันเพิ่มความตึงเครียดและความไม่แน่นอน เพราะการเผชิญหน้ามากขึ้น จีนยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าจากไต้หวัน
ส่วนเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงถดถอย ทำให้การส่งออกของไทยจะชะลอตัวครึ่งปีหลัง ขณะที่เงินเฟ้อสูง แม้ว่าออกมาโต 7% แล้ว แต่ยังไม่ถึงจุดสูงสุด กนง.น่าจะเห็นมากกว่านี้ ทำให้กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยแน่นอน แต่ประเด็นสำคัญว่าจะขึ้น 0.25% หรือ 0.50% ซึ่งมีโอกาสที่จะขึ้น 0.50% ธปท.ไม่อยากขึ้นเร็ว เพราะกลัวเรื่องเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและต่างประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญ ส่วนตลาดหุ้น จะต้องจับตาปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าจะเห็นกำไรบจ.โตน้อยกว่าที่คาด เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น บริษัทแต่ละแห่งจะส่งผ่านได้ไม่เท่ากัน และดอกเบี้ยทยอยขยับขึ้นด้วย
“เตือนเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ จักรวาลคู่ขนาน สถานการณ์แวดล้อมด้านเศรษฐกิจเปลี่ยนโฉมสิ้นเชิง ทั้งเงินเฟ้อต่ำสู่ภาวะเงินเฟ้อสูง และภาวะดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น และโลกาภิวัตน์ที่กำลังเปลี่ยนไป ความขัดแย้งด้านการเมืองระหว่างประเทศที่มีมากขึ้นจนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งนับเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจโลกและไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”
นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทายเชิงโครงสร้าง ทำให้โตช้าลงและมีความเสี่ยงที่จะมีความสามารถในการแข่งขันลดลง ในขณะที่ปัจจัยแวดล้อม เช่น พัฒนาด้านเทคโนโลยี กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ทางออกสำคัญของเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การยกระดับคุณภาพการศึกษาและทักษะแรงงาน การเปิดเสรีแรงงานและบริการ การลดการผูกขาด ตลอดจนการเพิ่มคุณภาพสถาบันเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส
ด้านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)มีมติปรับเพิ่มเป้าส่งออกปีนี้เป็นโต 6-8% จากเดิมที่ 5-7% และปรับเงินเฟ้อทั้งปีเพิ่มขึ้นเป็น 5.5-7.0% จากเดิม 5-7% โดยมองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะยังเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากราคาน้ำมันโลกยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งการปรับขึ้นราคาสินค้าที่กระจายตัวมากขึ้น
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการท่องเที่ยว และมาตรการของภาครัฐ จะเป็นแรงส่งสำคัญต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ มีโอกาสแตะ 7-8 ล้านคนได้ ซึ่งเป็นผลจากการยกเลิกมาตรการ Thailand Pass มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังขยายตัวในกรอบ 2.7-3.5%
กกร.มองสถานการณ์ตึงเครียดที่ไต้หวันว่าผู้เกี่ยวข้องอยู่ในวงจำกัด แต่จะเป็นปัจจัยให้ทั่วโลกต้องเผชิญแรงกดดันที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของไทยในเรื่องห่วงโซ่อุปทาน
ตลาดหุ้นวันที่ 3 ส.ค.2565 ในภูมิภาคมีทั้งบวกและลบ จากความกังวลสถานการณ์ตึงเครียดไต้หวัน จีนและสหรัฐ ส่งผลให้ดัชนีปิดที่ระดับ 1,594.73 จุด เพิ่มขึ้น 5.57 จุด หรือ +0.35% มูลค่าซื้อขาย 50,898.19 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขาย 108.08 ล้านบาท สถาบันไทยขาย 853.53 ล้านบาท ส่วนบัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 387.42 ล้านบาท นักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิ 574.19 ล้านบาท
ด้านค่าเงินบาทปิด 36.25 บาท ดอลลาร์ยังได้รับปัจจัยกดดันจาก การปรับขึ้นของบอนด์ยิลด์ และความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในไต้หวัน
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นผันผวน แต่ยังอยู่ในกรอบภาพบวกอยู่ โดยดัชนีฯแกว่งในกรอบ 1,585-1,590 จุด รอบนี้ดัชนีมีโอกาสขึ้นทดสอบไปถึง 1,640 จุด หลังจากที่ตลาดได้ตอบรับปัจจัยลบไปมากพอควรแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจไทยดูดีกว่าภูมิภาค
“แนะนำหุ้นสถานีบริการน้ำมัน อย่างหุ้น OR, PTG เนื่องจากผลงานไตรมาส 2/65 คาดว่าจะออกมาดี และยังได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองด้วย อีกทั้งแนะนำหุ้นในกลุ่มการเงิน เนื่องจากราคาหุ้นปรับตัวลงไปมากแล้ว จนเกิด Valuation ที่น่าสนใจ เพราะเทรด P/E แค่ 15-20 เท่า ต่ำกว่าในอดีตที่เทรดกว่า 30 เท่า”นายกิจพณกล่าว
ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นในวันที่ 4 ส.ค.2565 ให้น้ำหนักตลาดฟื้นตัว โดยมีแนวรับ 1,585 จุด แนวต้าน 1,600 จุด