กองทุน LTF เงินไหลออกครึ่งปี 2.2 หมื่นลบ.- ซื้อ RMF หุ้นจีนสูงสุดหลังคลายล็อกดาวน์

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” เผยภาพรวมกองทุนประหยัดภาษี มูลค่าสินทรัพย์หดตัวตามราคาหุ้นร่วง พบเงินไหลเข้าสุทธิกองทุน SSF กว่า 1,500 ล้านบาท ในไตรมาส 2/65 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน หนุนครึ่งปียอดสุทธิ 2,800 ล้านบาท กระจายลงทุนทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ ด้านกองทุน LTF เงินไหลออกต่อเนื่องรวมครึ่งปีเงินออกสุทธิ 2.2 หมื่นล้านบาท สูงกว่าทั้งปี 64 ส่วนกองทุน RMF เงินเริ่มไหลเข้าไตรมาส 2/65 ซื้อกองทุน RMF หุ้นจีนมากขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์ หนุนครึ่งปีเงินไหลเข้าสูงสุด

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมกองทุนเพื่อการออม (SSF) และกองทุน SSFX มูลค่าทรัพย์สินสุทธิยังหดตัว แต่เงินไหลเข้าสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยกองทุน SSF ลดลง 7% จากสิ้นปี 2564 และหดตัว 6.1% จากไตรมาสแรกของปี ไปอยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1,500 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ 1,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี ทำให้โดยรวมรอบครึ่งปีแรกยังมีเงินไหลเข้าสุทธิ 2,800 ล้านบาท ที่สูงกว่าปี 2564 อยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาทเล็กน้อย แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนยังกดดันให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิหดตัวลง

“เงินไหลเข้ากองทุน SSF-SSFX ทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ โดยกลุ่ม Equity Large-Cap เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าการลงทุนแบบกองทุนเพื่อการออมมากที่สุดรวม 1.2 หมื่นล้านบาท ในช่วงครึ่งปีแรกกองทุนกลุ่มนี้ยังมีเงินไหลเข้าสุทธิ แต่อยู่ในช่วงผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบทั้ง 3 เดือนและครึ่งปี ทำให้มูลค่าทรัพย์สินหดตัวลง 0.7% จากสิ้นปีที่แล้ว ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมากลุ่ม Global Equity มีผลตอบแทนติดลบต่อเนื่องและรุนแรงกว่าไตรมาสแรก โดยเฉลี่ย 6 สะสมเดือนอยู่ที่ -28.7% แม้ว่าจะมีเงินไหลเข้าสุทธิสะสม 6 เดือนระดับ 700 ล้านบาทก็ตาม แต่มูลค่าทรัพย์สินยังหดตัวลงไปอยู่ที่ 7.7 พันล้านบาท”น.ส.ชญานี กล่าว

ทางด้านกองทุนหุ้นจีนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงขึ้น 3.0% จากสิ้นปีที่แล้ว หรือ 12.7% จากไตรมาสแรก สะท้อนผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นจีนที่ดีกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสะสมรอบครึ่งปีเป็นอันดับ 3 ด้วยมูลค่ารวมเกือบ 4 ร้อยล้านบาท

ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จำนวน 5 รายครองส่วนแบ่งตลาดรวม 83% โดยบลจ.กสิกรไทยมีส่วนแบ่งตลาดกองทุนเพื่อการออม 25.3% ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 9.4 พันล้านบาท ซึ่งลดลงจากเมื่อสิ้นปีที่แล้วที่ระดับ 1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นภาพลักษณะเดียวกันกับบลจ.รายอื่น ด้านบลจ.ไทยพาณิชย์มีส่วนแบ่งตลาด 23.2% เพิ่มขึ้นจากเมื่อสิ้นปีที่แล้วเล็กน้อย รวม 5 บลจ.ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสกองทุน SSF สูงสุดมีส่วนแบ่งตลาดรวม 83.0%

ขณะที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เงินไหลออกต่อเนื่องและมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 3.3 แสนล้านบาท ลดลง 10.1% จากสิ้นปี 2564 หรือลดลง 6.8% จากไตรมาสแรก โดยในไตรมาสนี้มีเงินไหลออกสุทธิที่ค่อนข้างชะลอตัวลงรวม 5,100 ล้านบาท รวมเงินไหลออกสุทธิรอบครึ่งปีแรก 2.2 หมื่นล้านบาท หรือมากกว่าเงินไหลออกสุทธิของทั้งปีที่แล้วที่ระดับ 1.9 หมื่นล้านบาท

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังนี้หากตลาดหุ้นไทยยังมีทิศทางปรับตัวลงก็อาจไม่ทำให้เกิดแรงจูงใจในการขายกองทุน LTF ออกมามากนัก เนื่องจากในช่วงปลายปี 2560 ที่ SET Index อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1,500 จุดเล็กน้อย ซึ่งค่อนข้างใกล้เคียงกับระดับปัจจุบัน

ด้านกองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.7 แสนล้านบาท ลดลง 6.4% จากสิ้นปี 2564 มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.8 พันล้านบาทในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา นำโดยกองทุนตราสารทุน 1,900 ล้านบาท ในขณะที่กองทุนผสมและกองทุนตราสารหนี้มีเงินไหลออกสุทธิ ทำให้โดยรวมกองทุน RMF มีเงินไหลเข้าสุทธิในครึ่งปีแรกระดับ 200 ล้านบาท

ภาพรวมกลุ่มกองทุน RMF ที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุดในไตรมาสที่ผ่านมานี้คือกองทุนหุ้นจีน ด้วยมูลค่ากว่า 900 ล้านบาท โดยในช่วงเดือนมิ.ย.เป็นต้นมา เริ่มมีเม็ดเงินเข้าลงทุนหุ้นจีนแบบเร่งตัวขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการเริ่มคลายล็อคดาวในประเทศจีน ทำให้เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสะสมสูงสุดในครึ่งปีแรกที่ 1,800 ล้านบาท ยังไม่ได้แสดงนัยอะไร เนื่องจากปกตินักลงทุนจะเริ่มเข้าซื้อกองทุนในไตรมาส 3/2565 และเข้าซื้อจำนวนมากในไตรมาส 4/2565


“สำหรับกลุ่มกองทุนประหยัดภาษี คาดว่าเงินจะไหลเข้ามากกว่าปีก่อน โดย SSF ที่ลงทุนระยะยาว จังหวะตลาดปรับตัวลงมามากจึงน่าสนใจสำหรับการถือลงทุนระยะ 10 ปีตามเงื่อนไข ซึ่งเราไม่ได้เห็นตลาดลงมามากบ่อยนัก”น.ส.ชญานี กล่าว

ด้านบลจ.บัวหลวงมีส่วนแบ่งตลาดกองทุน RMF สูงสุดที่ 26% ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 9.8 หมื่นล้านบาท ลดลงจากระดับ 1 แสนล้านบาทในช่วงสิ้นปีที่แล้ว ตามมาด้วยบลจ.กสิกรไทยด้วยส่วนแบ่ง 23% จากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 8.6 หมื่นล้านบาท รวม 5 บลจ.รายใหญ่ในตลาดกองทุน RMF คิดเป็นสัดส่วน 81%