HoonSmart.com>>บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU หนึ่งในบริษัทอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เดินหน้าใช้นวัตกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่อง และนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารเงินลงทุน เงินสด สภาพคล่อง และธุรกิจแบบเรียลไทม์ภายในกลุ่ม ด้วยบริษัทมียอดขายจากต่างประเทศสูงถึง 90% จึงให้ Global Treasury Center ของบริษัทแม่ที่ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นเสมือนธนาคาร หรือ In-House Banking ให้กับบริษัทลูกทั้งโลก เชื่อว่าสามารถบริหารต้นทุนทางการเงินและความเสี่ยงได้ดี ไม่แพ้ครอบครัวปตท. และกลุ่มบีทีเอสที่มีการกู้ยืมภายในกลุ่มเช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน
“ยงยุทธ เสฏฐวิวรรธน์” กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการบริหารการเงินกลุ่มและศูนย์บริการร่วมทางการเงิน บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เล่าให้ฟังว่า ในปี 2564 TU ได้เปิดตัว Blue Finance หรือการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืน โดยนำเป้าหมายด้านความยั่งยืนเข้ามาเป็นหลักเกณฑ์ประเมินอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย ถ้าหากความยั่งยืนทำได้สำเร็จตามเงื่อนไข ก็จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้ต่ำลง แต่ยังไม่เพียงพอ บริษัทยังคงเดินหน้านวัตกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่อง
Global Treasury Center กับนวัตกรรมทางการเงิน
“ไทยยูเนี่ยนฯ” ดำเนินธุรกิจอยู่ทั่วโลก เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารและการบริการทางการเงินแบบรวมศูนย์ จึงได้จัดตั้ง Global Treasury Center ภายใต้โมเดล In-House Banking & Automation ภายหลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเป็นศูนย์บริหารเงิน (Treasury Center) จากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงใบอนุญาตจากกรมสรรพากรในการเป็นสำนักงานใหญ่ระหว่างประเทศ (International Headquarter: IHQ) ซึ่งกรมสรรพากรได้เปลี่ยนเป็นใบอนุญาตในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center: IBC)ในภายหลัง
Global Treasury Center ทำงานร่วมกับศูนย์บริหารเงินในลักเซมเบิร์กที่บริหารงานที่เกี่ยวข้องในทวีปยุโรปและอีกศูนย์หนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองลอสแองเจลีสสำหรับการบริหารงานที่เกี่ยวข้องในสหรัฐอเมริกา
“ไทยยูเนี่ยนฯ”ยังได้เริ่มระบบการจัดการสภาพคล่องทางการเงินระหว่างส่วนกลางกับบริษัทต่างๆ ในกลุ่มประเทศยุโรป (Global Cash Pooling) ในการจัดการเงินทุน เงินสด และสภาพคล่องทางการเงินแล้วรวบรวมยอดเงินคงเหลือของแต่ละบริษัท ส่งต่อศูนย์กลางที่ประเทศไทย เพื่อนำมาบริหารจัดการเงินสดและสภาพคล่องโดยรวม และบริษัทได้ขยายขอบเขตของ Global Cash Pooling ให้ครอบคลุมการจัดการสภาพคล่องทางการเงินระหว่างส่วนกลางกับกลุ่มบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ Global Treasury Center ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนให้กับบริษัทในเครือทั้งหมดด้วย ทำให้กิจกรรมต่างๆ ที่ต้องทำกับธนาคารโดยตรงลดปริมาณธุรกรรมลง และสามารถเพิ่มอำนาจการต่อรองได้มากขึ้น พร้อมทั้งกำหนดนโยบาย เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินและตรวจสอบต่างๆ อีกด้วย แต่ยังคงมีการดำเนินการตามนโยบายกับธนาคารในระดับแต่ละภูมิภาค
“บริษัทแม่ทำหน้าที่เป็นเสมือนธนาคารให้กับบริษัทลูกทั้งโลก โดยใช้ระบบ Cash Pooling ของธนาคาร มาช่วยในการบริหารสภาพคล่องและเงินในบัญชีของบริษัทลูกต่างๆ มาที่บัญชีของบริษัทแม่ที่ประเทศไทย เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินของกลุ่ม และลดเงินสดคงเหลือในบัญชีของบริษัทลูกๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยังสามารถนำเงินสดส่วนเกินเหล่านี้ มาใช้บริหารสภาพคล่องภายในกลุ่มบริษัทและ/หรือให้บริษัทอื่นในกลุ่มกู้ยืม รวมถึงนำไปชำระคืนเงินกู้ธนาคาร เพื่อประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้อีกด้วย”
RPA ระบบอัตโนมัติ ประสิทธิภาพสูง
ขณะเดียวกัน การทำงานก็มีการปรับปรุงผ่านกระบวนการอัตโนมัติ นำระบบ Robotic Process Automation (RPA) มาใช้ช่วยในการลงบัญชี นับเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่บริษัทได้เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2564 ทำให้สามารถรวบรวมข้อมูลทางการเงินประเภทต่างๆ เช่น การเก็บเงิน การจ่ายเงิน และสถานะเงินสด ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นปัจจุบันมากขึ้น ไม่ต้องใช้เวลาดำเนินการ 3-7 วันเหมือนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ RPA ยังช่วยให้ขั้นตอนการทำงานต่างๆ ที่ทำเป็นประจำสะดวก รวดเร็วมากขึ้น เช่น การรับข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง การโอนเงิน การบันทึกการโอนเงินเข้าระบบ การจัดทำรายงานทางการเงิน และการส่งรายงานและข้อมูลทางการเงินไปยังฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องได้โดยอัตโนมัติและทันท่วงที ทำให้การบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน ขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ของกระแสเงินสด และการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงิน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
สรุป 3 ประโยชน์ที่ได้รับ
นวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นโดยศูนย์บริหารและบริการร่วมทางการเงินของไทยยูเนี่ยนฯส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในเรื่องต้นทุนทางการเงินและประสิทธิภาพในการทำงาน มีข้อดีหลักๆ 3 ประการได้แก่
• ประสิทธิภาพในการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ทำให้ทีมสามารถบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งขั้นตอนต่างๆ ก็ลดลงและง่ายขึ้น
• หลักธรรมาภิบาลและการกำกับดูแล บริษัทสามารถเห็นภาพของกระแสเงินสดและบริหารจัดการกระแสเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึง การบริหารจัดการแหล่งที่มาของเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
• การบริหารจัดการเงิน ที่คงค้างอยู่ในบัญชี ทั้งในรูปของเงินสด และลดการถือเงินสดในมือ ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการเงินทุนของบริษัทได้ดียิ่งขึ้น
ไทยยูเนี่ยนกับธุรกิจอาหารทะเลระดับโลก
ในอนาคตบริษัทจะนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาพัฒนาการบริหารจัดการทางการเงินให้ดียิ่งขึ้น ถึงแม้ธุรกิจหลักจะเป็นผู้ผลิตอาหารทะเล แต่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก จึงให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่อง และดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบทั่วโลก ในฐานะผู้นำในธุรกิจอาหารทะเลของโลก ที่นอกจากจะมุ่งมั่นผลิตอาหารทะเลคุณภาพยังให้ความสำคัญกับรสชาติ สุขภาพและนวัตกรรมในการพัฒนาสินค้าอาหารให้กับผู้บริโภคทั่วโลก ไทยยูเนี่ยนถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำของโลกและหนึ่งในผู้ผลิตทูน่าบรรจุกระป๋องที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมียอดขายต่อปีมากกว่า 141,000 ล้านบาทหรือ 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีพนักงานมากกว่า 40,000 คน ที่ทุ่มเททำงานเพื่อผลิตสินค้าอาหารทะเลด้วยนวัตกรรมและความยั่งยืน
ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนฯ มีโรงงาน 14 แห่ง กระจายใน 11 ประเทศทั่วโลก และกว่า 90% ของยอดขายบริษัทมาจากต่างประเทศ โดยหลักๆ จากประเทศสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป จากการที่บริษัทให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบทั่วโลก บริษัทยังได้เป็นหนึ่งในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) ในปี 2558 ไทยยูเนี่ยนฯเปิดตัวกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® และดำเนินการเรื่อยมาโดยตลอด จนส่งผลให้ไทยยูเนี่ยนฯได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่ 8 ปีติดต่อกัน โดยได้รับเลือกเป็นบริษัทอันดับ 2 ของกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร