กองทุนรวมครึ่งปี 65 วูบ 4.84 แสนลบ. AUM ลด 9% หุ้นร่วง ตราสารหนี้ฉุด

HoonSmart.com>> “สมาคมบริษัทจัดการลงทุน” เผยครึ่งปี 65 กองทุนรวมทั้งระบบมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) ลดเหลือ 4.88 ล้านล้านบาท ลดลงกว่า 4.84 แสนล้านบาท หรือ 9.02% จากสิ้นปีก่อน หลังเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์และอาหารพุ่ง สงครามยืดเยื้อ ฉุดหุ้นทั่วโลกร่วง ตราสารหนี้มูลค่าลดลง ด้านกองทุน FIF ลงทุนนอกมูลค่าหด 2.4 แสนล้านบาท กว่า 19.60% ผลตอบแทนจากการลงทุนติดลบ มีเพียง “สินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมัน ทอง” กำไร

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยมูลค่าทรัพย์สินของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย เดือนมิ.ย.2565 มีมูลค่า 4,884,663 ล้านบาท ลดลง 484,260 ล้านบาท หรือ -9.02% จากสิ้นปี 2564 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 5,368,924 ล้านบาท และลดลงจากสิ้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมามูลค่า 140,985 ล้านบาท หรือ -2.81% โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เกือบทั้งหมดมีมูลค่าทรัพย์สิน ณ สิ้นมิ.ย.2565 ลดลง ยกเว้นบลจ.เอไอเอ เพียงรายเดียวทีเพิ่มขึ้น 2,689 ล้านบาท หรือ 6.93% จากสิ้นปีก่อน

ตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินของกองทุนที่ลงทุนในหุ้นในครึ่งปีแรกลดลง 213,621 ล้านบาท หรือ -11.80% จากสิ้นปี 2564 ลงมาอยู่ที่ 1,597,131 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินของกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ลดลง 208,603 ล้านบาท หรือ -9.17% จากสิ้นปีก่อนลงมาอยู่ที่ 2,067,311 ล้านบาท รวมทั้งมูลค่าทรัพย์สันของกองทุนรวมผสมลดลงเช่นกัน 50,622 ล้านบาท หรือ -12.62% จากสิ้นปีก่อนมาอยู่ที่ 350,368 ล้านบาท

ด้านกองทุนรวมที่ไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) ซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนสูง มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงถึง 241,973 ล้านบาท หรือ -19.60% จากสิ้นปีก่อนที่ 1,234,518 ล้านบาท ลงมาเหลือ 992,545 ล้านบาท ขณะที่กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market) มูลค่าเพิ่มขึ้น 60,645 ล้านบาท หรือ 22.40% จากสิ้นปีก่อนมาอยู่ที่ 331,335 ล้านบาท

ส่วนกองทุนรวมที่ลดหย่อนภาษี อย่างกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มูลค่าลดลงเช่นกัน 36,487 ล้านบาท หรือ -9.98% กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มูลค่าลดลง 19,158 ล้านบาท หรือ -4.91% และกองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว (SSF) ลดลง 489 ล้านบาท หรือ -1.35%

ด้านบลจ.ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจกองทุนรวมเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็นบลจ.กสิกรไทย มีมูลค่า 1,058,228 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 21.66% และเป็นบลจ.รายเดียวที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารทะลุ 1 ล้านล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกมูลค่าทรัพย์สินของบลจ.กสิกรไทยลดลง 113,730 ล้านบาท หรือ -9.70% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 1,171,958 ล้านบาท

ขณะที่อันดับสอง บลจ.ไทยพาณิชย์ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 896,329 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 18.35% มูลค่าทรัพย์สินลดลง 47,254 ล้านบาท หรือ -5.01% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 943,584 ล้านบาท อันดับสาม บลจ.บัวหลวง มูลค่า 734,156 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 15.03% มูลค่าทรัพย์สินลดลง 32,774 ล้านบาท หรือ -4.27% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 766,932 ล้านบาท อันดับสี่ บลจ.กรุงไทย มูลค่า 589,597 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 12.07% ลดลงจากสิ้นปีก่อน 96,762 ล้านบาท หรือ -14.10% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 686,359 ล้านบาทและอันดับห้า บลจ.กรุงศรีมีมูลค่า 396,207 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 8.11% ลดลงจากสิ้นปีก่อน 34,797 ล้านบาท หรือ -8.07%

ด้านบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง เปิดเผยว่า ครึ่งแรกของปี 2565 ป็นครึ่งแรกที่ท้าทายสำหรับนักลงทุน ตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวนจากความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและยังไม่มีท่าทีว่าจะลดลง หลังราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์และอาหารปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผลของสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ประกอบกับปัญหาอุปทานตึงตัว (Supply Shortage) ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายประเทศจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นจนนักลงทุนเกรงว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)

ด้านจีนหลังจากที่ปรับตัวลงในช่วงก่อนหน้าจากการควบคุมและการออกกฎระเบียบของทางการจีน (Regulatory Risk) และนโยบาย zero-COVID ที่ทำให้เศรษฐกิจชะงักไปก็เริ่มฟื้นกลับมะหนุนจาก 1) การที่รัฐบาลเร่งออกพันธบัตร (1,060 พันล้านหยวนในเดือน พ.ค. เทียบกับ 391 พันล้านหยวนในเดือน เม.ย.) และ 2) การเติบโตที่แข็งแกร่ง ของสินเชื่อด้านการเรียกเก็บเงินและสินเชื่อธุรกิจระยะสั้น ท่ามกลางคำแนะนำของ PBOC เพื่อสนับสนุนธุรกิจ SMEs

บล.บัวหลวงคาดว่าปัจจัยหนุนจากสินเชื่อจีนกลับมาเป็นบวกในไตรมาส 3/65 หนุนจากการใช้จ่ายในโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯและนโยบายของธนาคารกลางที่ผ่อนคลาย แม้ว่าอัพไซด์จะจำกัดจากนโยบาย zero-COVID ก็ตาม