KBANK ตั้งเป้าปีนี้ขายหนี้เสีย 5 หมื่นลบ. เจเอ็มทีฯ คาด NPLs รวม ทะลัก Q3/65

HoonSmart.com>>ธนาคารกสิกรไทยผนึก เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์คฯ ตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค เงินทุนเริ่มต้น 1 หมื่นล้านบาท ซื้อหนี้เสียจาก KBANK ล็อตแรก 3 หมื่นล้านบาท รับเงินมิ.ย. รอขายล็อตสองปีนี้อีก 2 หมื่นล้านบาท จ่ายปันผลตามผลสำเร็จแก้หนี้  JK AMC ตั้งเป้าบริหาร 1 แสนล้านบาทขึ้นแท่น AMC เบอร์ 1 ของประเทศในปี 68 คาด NPLs ระบบสถาบันการเงิน เพิ่มมากไตรมาส 3 นักวิเคราะห์เชียร์ JMT เพิ่มมูลค่า กำไรกระโดด 

 

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แถลงเรื่อง การร่วมลงทุนในบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค (JK AMC) ระหว่างธนาคารกสิกรไทย และบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ( JMT) ว่า ในปี 2565 ธนาคารตั้งเป้าจะโอนหนี้เสียให้บริษัทร่วมทุน JK AMC ประมาณ 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นล็อตแรกประมาณ 30,000 ล้านบาทภายในเดือน มิ.ย. นี้ และที่เหลืออีก 20,000 ล้านบาทในรอบถัดไป หลังจากนั้นการโอนหนี้เท่าไรจะขึ้นกับจำนวนหนี้ที่เข้ามาในระบบของ KBANK คาดว่าปี 2565-2566 หนี้เสียจะมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีนักและปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง อาจทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้

สำหรับการขายหนี้เสียออกไปให้ JK AMC ทำให้ธนาคารมี NPLs และการตั้งสำรองในอนาคตลดลง เพิ่มโอกาสสร้างรายได้เพิ่มจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ ส่วนรายได้จากการขายหนี้เสียครั้งนี้ จะรับรู้จากการขายในเดือนมิ.ย. หลังจากนั้นจะรับเงินปันผลจากผลความสำเร็จในการแก้ปัญหาหนี้ ตามสัดส่วนการถือหุ้น 50% ใน JK AMC
ซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกในการบริหารหนี้เสียที่มีประสิทธิภาพและให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด นอกจากการบริหารจัดการเองภายในหรือการเปิดประมูลออกไปเหมือนที่ผ่านมา

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค กล่าวว่า JK AMC มีเงินทุนเริ่มต้นในการจัดตั้งบริษัทจำนวน 10,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถซื้อหนี้เสียมาบริหารได้ 3 เท่าคือ 3 หมื่นล้านบาท ทั้งจากธนาคารกสิกรไทย สถาบันการเงิน หรือบริษัทอื่นๆ โดยตั้งเป้าพอร์ตบริหารหนี้เพิ่มขึ้นแตะระดับ 100,000 ล้านบาท เพื่อก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรม AMC ภายใน 3 ปีนี้(ปี 2568)

“ธนาคารทั้งระบบมี NPLs สัดส่วน 7% คาดว่าหนี้เสียจะออกมามากขึ้นในไตรมาส 3/2565 ส่วนการซื้อหนี้เสียจากธนาคารกสิกรไทย ภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้  เบื้องต้นธุรกิจ JK AMC จะเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป  คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้-กำไรในช่วงไตรมาส 4/65″นายสุทธิรักษ์กล่าว

บริษัทมีศักยภาพทางธุรกิจที่จะส่งเสริมให้ JK AMCไปถึงเป้าหมายทางธุรกิจได้คือ 1. ความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารหนี้ของ JMT และ JMT ยังมีบริษัทในกลุ่มที่จะช่วยให้ JK AMC มีต้นทุนที่แข่งขันได้ 2. การใช้ช่องทางต่างๆ ของธนาคารช่วยประชาสัมพันธ์ทรัพย์ NPA ไปสู่ลูกค้าที่สนใจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้ซื้อทรัพย์ NPA ทั่วประเทศ และ 3. โอกาสเพิ่มมูลค่าธุรกิจอื่นๆ ให้ครบวงจร เช่น การรับปรับปรุงบ้านให้กับผู้ซื้อทรัพย์ด้อยคุณภาพ และราคาที่สมเหตุสมผล การช่วยเหลือลูกค้าที่มีประวัติเครดิตที่ดี เป็นต้น

ด้านนายปิยะ พงษ์อัชฌา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท และกรรมการ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส กล่าวว่า  กลุ่มบริษัทเจ มีลูกค้ามาจ่ายหนี้เดือนละ 3 แสนราย หากเข้าระบบจ่ายดี ก็จัดชั้นให้ลูกค้าชั้นดี  และการจัดตั้ง JK AMC ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือผ่านข้อเสนอการชำระหนี้ที่เหมาะสม เมื่อปรับตัวดีขึ้นก็จะสามารถกลับมาขอสินเชื่อในระบบต่อไป

บล.เมย์แบงก์ แนะนำซื้อ JMT เพิ่มราคาเหมาะสมขึ้น 30% เป็น 103 บาท/หุ้น ในปี 2566 ประเมินกำไรสุทธิปี 2565-2566 เท่ากับ 2,324/3,465 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66% และ 49% จากการร่วมทุนกับธนาคารกสิกรไทย และยังคงเลือก JMT เป็น Top pick สำหรับกลุ่มบริหารหนี้ ที่มีการเติบโตโดเด่นสุดในกลุ่ม

จากข้อมูล ณ สิ้นปี 2564 ธนาคารกสิกรไทยมีหนี้ NPLs ราว 1 แสนล้านบาท ยังไม่รวมหนี้ที่ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษที่อาจไหลมาเป็น NPLs อีกเกือบเท่าตัว ตามที่ S&P Rating ประเมิน การเร่งโอนหนี้เสียเข้าบริษัทร่วมทุน จะเป็น WIN-WIN ที่กำลังเกิดขึ้นในไตรมาส 2 และรับรู้กำไรในไตรมาส 3 พร้อมทำ All time high ประเมินทุกเงินลงทุนในบริษัทร่วมทุน 1 หมื่นล้านบาท จะสร้าง Upside risk ต่อกำไรตามสัดส่วน 50% ราว 225 ล้านบาท/ปี หรือ +7% จากฐานกำไรปี 2566 (+6.43 บาท/ หุ้นอิง P/E 40 เท่า

ส่วน บล.โนมูระ พัฒนสิน คงประมาณการกำไรปี 2565 ที่ 2,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68% บนสมมุติฐานเงินลงทุน 1.4 หมื่นล้านาท เทียบกับปีก่อนที่ 8,500 ล้านบาท ปริมาณ NPLs ในตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภายหลังหมดมาตรการพักหนี้ ทำให้สถาบันการเงินเร่งระบาย NPLs มากขึ้น