จับตาหุ้นกู้ ZIGA-JTS 935 ลบ. ลงทุนเหมืองขุดบิทคอยน์ จ่าย ดบ. 6.25%/ปี

HoonSmart.com>>สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเผย 2 บริษัทขายหุ้นกู้ นำไปลงทุนเหมืองขุดบิทคอยน์ “จัสมิน เทคโนโลยีฯ”ต้องการเงิน 4,000 ล้านบาท ขายได้  740 ล้านบาท อายุ 3 ปี  “ซิก้า อินโนเวชั่น”ตั้งเป้า 400 ล้านบาท ได้ 195 ล้านบาท อายุ 2 ปี ไม่มีเรทติ้ง ให้ดอกเบี้ยเท่ากัน 6.25% ต่อปี  สรุป 6 เดือนปีนี้ เอกชนแห่ระดมทุน 6 แสนล้านบาท กระจุกกลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯ 1ใน 4 ยักษ์ใหญ่ตุนเงินพร้อมล็อกดอกเบี้ย บอนด์ยีลด์ไทยเพิ่ม 1%   

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า สำนักงานก.ล.ต.ได้กำหนดให้บริษัทที่ออกเสนอขายหุ้นกู้ เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ของการใช้เงิน นับเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลประกอบการพิจารณาในการลงทุน จากข้อมูลที่มีพบว่ามีบริษัท 2 แห่ง คือ บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น ( JTS) บริษัทซิก้า อินโนเวชั่น (ZIGA) นำเงินไปลงทุนธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เหมืองขุดบิทคอยน์ แต่มีบริษัทหลายแห่งเปิดเผยเพียงนำเงินไปขยายธุรกิจเท่านั้น ไม่มีรายละเอียด จึงไม่ทราบว่าสุดท้ายแล้วนำไปลงทุนอะไรบ้าง

” การนำเงินไปลงทุนอะไร เป็นเรื่องสำคัญ ในอดีต IFEC ( บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น ) ทำธุรกิจพลังงาน แต่กลับนำเงินไปซื้อโรงแรม การรู้วัตถุประสงค์ของการใช้เงิน อย่างน้อยก็นำไปพิจารณาก่อนการลงทุนได้ หากนักลงทุนเชื่อว่ามีศักยภาพ ก็ซื้อ แต่ถ้าไม่ ก็ไม่ลงทุน ปัจจุบันมีหุ้นกู้ให้เลือกซื้อจำนวนมาก”นางสาวอริยากล่าว

รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า บริษัทจัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น ตั้งใจขายหุ้นกู้ทั้งหมด 4,000 ล้านบาท แต่ขายได้จำนวน 740 ล้านบาท อายุ 3 ปี กำหนดจ่ายอัตราดอกเบี้ย 6.25% ต่อปี  บริษัทซิก้า อินโนเวชั่น ตั้งใจระดมทุนจำนวน 400 ล้านบาท ขายได้ประมาณ 194.9 ล้านบาท อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 6.25% ต่อปี ในเดือนเม.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยเสนอขายหุ้นกู้ ในวงแคบต่อผู้ลงทุนสถาบันและ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ เจาะตลาดกลุ่มลูกค้าพิเศษ ซึ่งการระดมเงินได้น้อยกว่าเป้าหมาย ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักลงทุน พิจารณาถึงอนาคตของธุรกิจ และโอกาสความเป็นไปได้ของกำไรในการนำเงินมาชำระเงินต้นและดอกเบี้ย

ทั้งนี้ JTS เปิดจองซื้อหุ้นกู้วันที่ 4-5 และ 7 เม.ย. 2565 ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 8 เม.ย.2568 โดยผู้ออกอาจใช้สิทธิไถ่ถอนก่อนครบกําหนด และมีหลักประกันคือหุ้นในบริษัทที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทแม่คือ จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ในไฟลิ่งมีการเตือนถึง 8 ความเสี่ยงต่อการลงทุนในหุ้นกู้ชุดนี้  เช่น ราคาบิทคอยน์มีความผันผวนสูง ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา บางวันเปลี่ยนแปลงถึง 60.09% รวมถึงธุรกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง อาจจะทำให้กระแสเงินสดรวมถึงกำไรที่ได้รับไม่พอในการชำระคืนหุ้นกู้ ด้านราคาเหรียญบิทคอยน์ ณ วันที่ออกหุ้นกู้ 8 เม.ย.2565 อยู่ที่ 42,260 ดอลลาร์ ทรุดลงประมาณ 50% เมื่อเทียบกับล่าสุดวันที่ 24 มิ.ย. ราคาซื้อขายที่ 21,181.30 ดอลลาร์ ณ เวลา 21.30 น.

ส่วน ZIGA เสนอขายหุ้นกู้ วันที่ 21-22 และ 25 เม.ย.2565 ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้และตราสาร ทั้งนี้ราคาบิทคอยน์วันที่ 25 เม.ย. ซื้อขายที่ 40,439.20 ดอลลาร์ ร่วงลงประมาณ 48% เทียบกับราคาล่าสุดที่ 21,181.30 ดอลลาร์ ส่วนธุรกิจเหมืองขุด ในไตรมาส 1/2565 บริษัทรับรู้รายได้จากจำนวนเครื่องทั้งหมด 400 เครื่อง

สำหรับคำแนะนำนักลงทุนที่จะซื้อหุ้นกู้ จะต้องพิจารณาฐานะการเงิน ความเสี่ยงของธุรกิจหากไม่มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจ เช่นสินทรัพย์ดิจิทัล ก็ประเมินศักยภาพไม่ได้ และที่สำคัญควรกระจายความเสี่ยง ปัจจุบันเห็นนักลงทุนรายใหญ่ที่ซื้อไฮยีลด์บอนด์ มีการกระจายซื้อ 10 รุ่น ๆละ 1 แสนบาท หากเกิดปัญหาจริง ก็ไม่ได้รับผลกระทบมาก แทนที่จะทุ่มลงทุนในหุ้นกู้ชุดเดียวกันทั้งหมด

ส่วนอัตราดอกเบี้ยโลกกลับทิศทางเป็นขาขึ้น รองกรรมการผู้จัดการกล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ถึงปัจจุบัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล(บอนด์ยีลด์) สหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.5% ส่วนบอนด์ยีลด์ของไทย เพิ่มขึ้น 1% ธุรกิจเร่งออกและเสนอขายหุ้นกู้ เพื่อล็อกต้นทุน ทำให้ในช่วงเกือบ 6 เดือนแรกของปี มีหุ้นกู้ออกมาขายมากถึง 6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมาย และยังไม่ปรับเป้าหมายของทั้งปีนี้ที่ 1 ล้านล้านบาท

ธุรกิจที่ออกและเสนอขายหุ้นมากที่สุด อยู่ในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี คิดเป็นประมาณ 1ใน 4 ของหุ้นกู้ที่ออกมาขายแล้ว เช่น บริษัทปตท.(PTT) ออกมา 3-4 รุ่น มูลค่ารวม 4 หมื่นล้านบาท เช่นเดือนพ.ค.  เสนอขายมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท อายุ 7 ปี ให้อัตราดอกเบี้ย 3.25% ต่อปี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ปีนี้ไม่มีหุ้นกู้ครบอายุ แต่เสนอขายแล้วจำนวน 3.8 หมื่นล้านบาท  เตรียมเสนอขายผู้สูงอายุ-ประชาชนทั่วไปอีก 1.7 หมื่นล้านบาท

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) มีหุ้นกู้ครบอายุ 2,000 ล้านบาท แต่ออกขาย 2.4 หมื่นล้านบาท บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ครบอายุ 6,500 ล้านบาท ออกแล้ว 1.2 หมื่นล้านบาท และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ออกหุ้นกู้ครั้งแรก ขายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา มูลค่า  3 หมื่นล้านบาท อายุ 4 ปี ให้ดอกเบี้ย 2.75%/ปี

นางสาวอริยา กล่าวว่า ปัจจุบันการออกและเสนอขายหุ้นกู้มีการแบ่งเป็น 2 ระดับ ส่วนแรกเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง  ขายหมดเกลี้ยง บางแห่งยังมียอดจองล้น ส่วนระดับที่ 2 ขายไม่หมด หากนักลงทุนไม่รู้จัก หรือเครดิตไม่ได้สูง เพราะสภาพแวดล้อมไม่ดี เกรงว่าจะผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีบางบริษัท ขอมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อยืดการชำระหนี้ ต่ออายุเงินต้น โดยเสนออัตราดอกเบี้ยเพิ่ม เช่น เคยจ่าย 7% ก็เพิ่มเป็น 7.5% สุดทายก็จ่ายได้ บริษัทบางแห่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด เช่นธุรกิจการบิน ก็ขอยืดหนี้ เมื่อธุรกิจกลับมาบินได้ ก็ชำระเงินคืนทั้งหมด แต่หลายบริษัท ไม่รู้ว่าธุรกิจจะกลับมาได้ไหม