IRPC ชี้แจง ‘ค่าการกลั่น’ ไม่ใช่ ‘กำไร’ ที่แท้จริงโรงกลั่น

HoonSmart.com>>’ไออาร์พีซี’มีประสบการณ์ในธุรกิจโรงกลั่นมานานกว่า 40  ปี ยืนยันกำไรไม่ได้สูงตามค่าการกลั่น ธุรกิจมีค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ  วอนรัฐจะตัดสินใจขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอย่างไร ต้องพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง  มองแนวโน้มระยะยาว มากกว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่ไม่ปกติ  ด้านราคาน้ำมันปรับฐานต่อ ดีต่อหุ้นโรงไฟฟ้า ปูน วัสดุก่อสร้าง ขนส่ง  BGRIM, GULF, GPSC, SCC, SCGP, TOA, PRM

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้มีการกล่าวถึงกำไรของธุรกิจโรงกลั่นสูงตามค่าการกลั่นกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในการเปิดโอกาสให้มีการระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อนำปสู่ข้อเท็จจริง และร่วมกันหาแนวทางแก้ไข แต่กว่าจะรู้ว่าธุรกิจโรงกลั่นมีกำไรสูงจริงหรือไม่ ต้องรอให้ปิดงบการเงินไตรมาส 2/2565  ซึ่งหน่วยงานรัฐคงรอไม่ได้ ดังนั้นการตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการจะใช้ค่าการกลั่นเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณารอบครอบ และจะต้องรับผิดชอบด้วย หากเกิดผลกระทบรุนแรง

IRPC ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงกลั่นมานานกว่า 40 ขอชี้แจงข้อเท็จจริงของความแตกต่างระหว่าง “ค่าการกลั่น” กับ “กำไร” ของโรงกลั่น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน ในการดำเนินธุรกิจโรงกลั่น บริษัทต้องซื้อน้ำมันดิบในราคาสูงกว่าราคาอ้างอิงดูไบ  นอกจากนี้ น้ำมันดิบ 1 บาร์เรล นำมากลั่นได้ผลิตภัณฑ์ไม่ถึง1 บาร์เรล  และ บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายผันแปร ดังนั้นการจะดูเพียงค่าการกลั่น หรือ Gross Refining Margin (GRM) เพียงอย่างเดียวไม่ได้

ทั้งนี้ค่าการกลั่น หรือ GRM ใช้มานานมาก เป็น “ดัชนีเบื้องต้น” เพื่อใช้ดูทิศทางหรือแนวโน้มผลประกอบการของโรงกลั่น ไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริง โดยอาศัยหลักการคำนวณค่าการกลั่นจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดที่โรงกลั่นผลิตได้ หักลบกับต้นทุนการผลิตเบื้องต้นที่โรงกลั่นใช้ในการผลิต เช่น ต้นทุนน้ำมันดิบ ค่าขนส่ง ส่วนโรงกลั่นในประเทศใด จะหักลบ ค่าประกันภัย ค่าเชื้อเพลิง ค่าน้ำ/ไฟ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนิยามและแนวปฏิบัติของโรงกลั่นในแต่ละประเทศ ค่าการกลั่น จึงเป็นเพียงดัชนีเบื้องต้นและไม่ใช่กำไรที่แท้จริงของโรงกลั่น เนื่องจากไม่ได้หักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่ใช้ในการผลิตและการดำเนินการทั้งหมด ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละโรงกลั่น เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าบำรุงรักษา เป็นต้น ตามมาตรฐานทางบัญชีและการค้าทั่วไป ซึ่งค่าใช้จ่ายและค่าดำเนินการเหล่านี้ จะแปรผันไปตามกลไกตลาดเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันมีการปรับตัวสูงขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ค่าการกลั่นจึงไม่ใช่กำไร ที่แท้จริงของโรงกลั่น

ปัจจุบัน สถานการณ์พลังงานไม่ปกติ ไม่รู้ว่าอีก 6 เดือนจะเป็นอย่างไร ธุรกิจโรงกลั่นยังมีปัจจัยความเสี่ยงอื่นๆ ที่ควบคุมได้ยาก แต่มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาน้ำมัน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น รวมถึงต้นทุนแฝงอื่นๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศ รวมทั้งมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น การสำรองน้ำมัน ตามกฎหมาย การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 เป็นต้น

“ถ้ากลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ก็ผิด เพราะความเชื่อ ความจริงและอยากให้เป็น ต่างกัน อยากให้ความเชื่อและความจริงใกล้เคียงมากที่สุด ตอนนี้ไม่แน่ใจว่า ความช่วยเหลือจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวหรือไม่ ต้องรอดูการพิจารณาของภาครัฐ และผู้ประกอบการจะได้รับอะไรกลับคืนมาบ้าง เช่น การเครดิตคืนภาษี”นายชวลิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของโรงกลั่น IRPC ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ต้องเผชิญกับความท้าทายจากความผันผวนของสถานการณ์น้ำมันมาโดยตลอด ส่งผลกระทบให้ประสบปัญหาขาดทุนดังเช่น ในปี 2562 – 2563 ที่ผ่านมา แต่บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปรับกลยุทธ์และลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และสร้างศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อให้สามารถยืนหยัดเป็นโรงกลั่นหลักร่วมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศได้ต่อไป โดยผลประกอบการก็ได้เริ่มพลิกฟื้นขึ้นมามีกำไรในปี 2564 ที่ผ่านมา

บริษัทฯ ได้มีการเปิดเผยงบการเงิน งบกำไรขาดทุนทั้งรายปีและรายไตรมาสอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการตอบแทนสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลตามหลักธรรมาภิบาล

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นและมีความผันผวน IRPC พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ตามหลักปฏิบัติที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และภายใต้กรอบของกฎหมายและการค้าเสรี

ทั้งนี้ ราคาหุ้นโรงกลั่นส่วนใหญ่ยังคงปรับตัวลงต่อ วันที่ 23 มิ.ย.2565  ทำให้มีส่วนต่างจากราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ด้านนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติการระงับการจัดเก็บภาษีน้ำมันเบนซิน 18.4 เซนต์ต่อแกลลอนชั่วคราว เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำมันแพง หลังราคาขายปลีกน้ำมันเฉลี่ย เพิ่มสูงขึ้นแตะ 5 ดอลลาร์ต่อแกลลอน เพิ่มสูงขึ้นกว่า 50% นับตั้งแต่ต้นปี 2565

บริษัทไทยออยล์ ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบปรับลดหลังนักลงทุนหวั่นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ ฉุดอุปสงค์ชะลอตัว และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนผู้ถือครองเงินสกุลอื่นสนใจในการลงทุนน้ำมันดิบลดลง  โดยบล.ทิสโก้ระบุว่าราคาน้ำมันดิบโลกปรับฐาน 2 สัปดาห์ติด แตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์มองดีต่อบรรยากาศหุ้นโรงไฟฟ้า ปูน วัสดุก่อสร้าง ขนส่ง ได้แก่หุ้น  BGRIM, GULF, GPSC, SCC, SCGP, TOA, PRM

บล.กสิกรไทยออกบทวิเคราะห์ว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภทปรับลงแรง และแนวโน้มเป็นขาลง ทั้งราคาน้ำมันเบรนท์, ก๊าซธรรมชาติ, อลูมิเนียม น้ำตาล จากความกังวลฝั่งความต้องการจะชะลอจากเศรษฐกิจถดถอย ประเมินเป็น Sentiment บวกต่อหุ้นในกลุ่ม Anti Commodity อาทิ กลุ่มโรงไฟฟ้า GPSC, BGRIM, PTG, SCGP,EPG แต่เป็นลบต่อหุ้น PTT, PTTEP, KSL