บล.ไทยพาณิชย์คาดหุ้นไทยต่ำสุด Q3/65 ‘กลุ่มเวลท์’ หลบภัย เข้าหุ้นกู้อนุพันธ์

HoonSmart.com>>SCB WEALTH ลั่นกลองรบ รูปแบบ SCB WEALTH HOLISTIC EXPERTS  แผน 3 ปี เพิ่ม AUM แตะ 2 ล้านล้านบาท จาก 1.6 ล้านล้านบาท ลูกค้าพุ่งขึ้นเท่าตัวเป็น 1.3 ล้านราย ด้าน CIO เน้น 5 กลยุทธ์จัดพอร์ต ชนะเงินเฟ้อสูง-ดอกเบี้ยขาขึ้น-ตลาดผันผวน หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงฮอตมาก ได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ การันตีเงินต้น ส่วนบล.ไทยพาณิชย์ชี้เป้าดัชนีปีนี้ 1,650 จุด ไตรมาส 3 ต่ำสุด เชียร์กลุ่มธนาคาร,อาหาร,เครื่องดื่ม

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในภาวะที่ตลาดหุ้นและการเงินผันผวน ธนาคารฯให้ความสำคัญในการดูแลลูกค้าและให้คำปรึกษาแบบครบวงจร เน้นการสรรหาผลิตภัณฑ์และการจัดพอร์ต Asset Allocation ที่ตอบโจทย์ทุกช่วงภาวะของการลงทุน ปรับพอร์ตเหมาะสมกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที มีศูนย์ที่ปรึกษาด้านการจัดการทรัพย์สินและมรดกของครอบครัวเพื่อกลุ่มลูกค้า High Net Worth Individuals เช่น การนำหุ้นหรือทรัพย์สินที่ไม่เคลื่อนไหวมาแปลงเป็นสินเชื่อ ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อต่อยอดการลงทุน โดยอาศัยความร่วมมือของบริษัทในกลุ่มไทยพาณิชย์ เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับลูกค้าได้อย่างยั่งยืน

” เราวางแผน 3 ปี เพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) แตะ 2 ล้านล้านบาท จากต้นปี 2565 อยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท และเพิ่มจำนวนลูกค้าเท่าตัวจาก 6 แสนราย เป็น 1.3 ล้านราย โจทย์หลักคือพยายามมีผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด”ดร.ยรรยงกล่าว

นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment office and product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย CIO Office ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาวะเงินเฟ้อสูงที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ จะส่งผลให้วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นเกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงปี 2565 – 2566 อาจทำให้หลายประเทศมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 -2567 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดการเงินโลก ผ่านการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) การลดลงของผลตอบแทนจากตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเน้นการเติบโตของรายได้สูงแต่ยังไม่มีกระแสเงินสดรองรับในระยะสั้น นอกจากนั้นความไม่แน่นอนด้านความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ยังจะทำให้ความผันผวนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงมีสูงขึ้นอีกด้วย

นายศรชัยแนะนำ 5 กลยุทธ์ในการจัดพอร์ตเพื่อชนะเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้นแบบเร็วและแรง รวมถึงตลาดการเงินโลกที่ยังผันผวน  ดังนี้

1.สร้างกระแสเงินด้วยการทยอยสะสมตราสารหนี้คุณภาพสูง (Investment Grade) เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อมีผลกระทบต่อราคาพลังงานและอาหาร จะยังทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงและบอนด์ยีลด์มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น แต่เมื่อเงินเฟ้อเริ่มชะลอลง การทยอยสะสมหุ้นกู้คุณภาพสูง จะสร้างกระแสรายได้ให้กับพอร์ตได้ ซึ่งตราสารหนี้ในต่างประเทศ ที่มีเรทติ้งระดับ A- ให้ผลตอบแทน 4.5-5.5% ต่อปี

2.กระจายความเสี่ยงสู่ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องจับจังหวะการลงทุน ก็กำไรได้  เช่น สินทรัพย์ประเภท Private assets  เช่น หุ้นนอกตลาด,Private credit, และ Private real estate เป็นต้น จะช่วยสร้างกำไรสม่ำเสมอและลดความผันผวนของพอร์ตได้  ซึ่งหุ้นกู้นอกตลาดให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6-10% ต่อปี

3.ป้องกันความเสี่ยงด้านต่ำ (Limit downside risk) ด้วยหุ้นกู้อนุพันธ์แฝง (Structure notes) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยตอบโจทย์ได้  โดยทาง SCB CIO มีทางเลือกหลากหลายในด้านผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น KIKO และ Equity-Linked Note  ซึ่งได้รับความนิยมมาก เพราะสามารถออกแบบได้ตามต้องการว่าจะอ้างอิงกับราคาสินทรัพย์ประเภทใด ได้ผลตอบแทนสูงสม่ำเสมอ และยังคุ้มครองเงินต้น จำกัดความเสี่ยงข้างล่างด้วย  หากอ้างอิงกับตตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทน 8% ต่อปี ส่วนหุ้นต่างประเทศสูงถึง 20%ต่อปี

4. มองข้ามความผันผวนระยะสั้น ลงทุนในสินทรัพย์ที่ถือยาว เนื่องจากแนวโน้มระยะปานกลางและระยะยาว ยังมีหลายภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตของรายได้และกำไรอย่างยั่งยืนได้ เช่น ในกลุ่ม ESG (Environmental, Social, and Governance) โดยเฉพาะธีม Renewable Energy & Decarbonization

5.การนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม เช่นหุ้น หน่วยลงทุน อาคารสำนักงานหรือที่ดิน มาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ หรือทำ Lombard loan เพื่อนำไปลงทุนต่อยอดเสริมผลตอบแทนในระยะข้างหน้า   อัตราดอกเบี้ย 2.5-4%ต่อปี  ต่างกันตามคุณภาพของหลักประกัน

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนรายสินทรัพย์ในช่วงไตรมาสที่ 3/2565  SCB CIO มีมุมมอง”เป็นกลาง”สำหรับการลงทุนในหุ้นสหรัฐ ผลประกอบการยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ได้รับผลกระทบหลักจากเรื่องเงินเฟ้อสูงและการเร่งตัวของบอนด์ยีลด์  คงมุมมองหุ้นยูโรปเป็น Slightly negative จากผลกระทบยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป สำหรับกลุ่ม Emerging markets คงมุมมอง Slightly positive ต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีนหลังมีการทยอยเปิดเมืองและออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีความเสี่ยงในด้านเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยต่ำกว่ากลุ่มประเทศอื่นๆ

ส่วน หุ้นไทย และ เวียดนาม มีมุมมอง Slightly positive เนื่องจากแม้จะได้อานิสงส์จากการเปิดเมืองเปิดประเทศ แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี ผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น และปรับ Asian REITs เป็น Neutral เนื่องจากผลกระทบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น นอกจากนี้ การจัดการด้านความเสี่ยงของเงินเฟ้อ  ปรับสินค้าโภคภัณฑ์เป็น Positive โดยเฉพาะในกลุ่มอาหาร ซึ่งอุปทานมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง ขณะที่ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงแต่การปรับตัวขึ้นต่อน่าจะถูกกระทบจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย

“วัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นจะยังคงดำเนินต่อไปในช่วง 1 ปีครึ่ง แต่ตลาดจะเน้นในประเด็นว่าจะขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์หรือไม่  และจะทำให้เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจยังไม่ถดถอย  แต่จะเกิดขึ้นในปี 2566 “นายศรชัยกล่าว

ด้านนายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ คาดเศรษฐกิจปีนี้โตประมาณ 3.4% แย่สุดไม่ต่ำกว่า 2.9% เป้าหมายดัชนีอยู่ที่ 1,650 จุด เคลื่อนไหวในกรอบ 1,550-1,750 จุด มองว่า ปัจจัยพื้นฐานยังดี คาดกำไรต่อหุ้นเติบโต 10% ในปี 2565-2566  ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสจะผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 3  เนื่องจาก ผ่านช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง จีนเริ่มคุมสถานการณ์โควิดในประเทศได้ แนวโน้มผลประกอบการบจ. ชัดเจนกลยุทธ์การลงทุนแนะนำหุ้นที่กำไรแกร่ง ราคาไม่แพง หุ้นกลุ่มพื้นฐานเด่นได้แก่ ธนาคาร อาหาร และเครื่องดื่ม

ทั้งนี้กลุ่มที่กำไรต่อหุ้นฟื้นตัวไปที่ระดับก่อนเกิดโควิด ได้แก่ กลุ่มธนาคาร กลุ่มพลังงาน กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มพาณิชย์ และกลุ่มท่องเที่ยว เป็นต้น

“ดัชนีหุ้นจะไม่ลดลงแรงเหมือนช่วงเกิดโควิด เนื่องจากผลกระทบต่อกำไรไม่แรงเท่าช่วงที่ผ่านมา  จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน  กลุ่มที่มองว่ามี Upside เมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ กลุ่มธนาคาร กลุ่มสื่อสาร กลุ่มอาหาร ส่วนกลุ่มที่มี Downside ได้แก่ กลุ่มขนส่ง การแพทย์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อสังหาริมทรัพย์ และท่องเที่ยว  จุดเข้าซื้อที่สำคัญ ต่ำกว่า 1,600 จุด ” นายสุกิจ กล่าว

ปัจจัยเสี่ยงต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียน ในครึ่งหลังของปี 2565 ได้แก่ 1.ต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบโดยจะกระทบกลุ่มขนส่ง และวัสดุก่อสร้าง 2.การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะกระทบ กลุ่มท่องเที่ยว อาหาร พาณิชย์ และโรงไฟฟ้า