หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงยกแผง หวั่นวัฎจักรขาขึ้นดบ.จบเร็วใน H2/65

HoonSmart.com>>หุ้นในกลุ่มธนาคารร่วงยกแผง นำดิ่งโดย SCB-KBANK-KTB แบงก์ชาติอาจปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเร็วกว่าที่คาดต้นปี แต่มีความกังวลวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยอาจจบลงในครึ่งหลังปี 65 หรือต้นปีหน้า จากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งธนาคารอาจไม่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น โดยคงมุมมองเป็นกลางต่อกลุ่มธนาคารโดยมีแนวโน้มเชิงลบ

เมื่อเวลา 10.54 น.หุ้นในกลุ่มธนาคารร่วงยกแผง นำโดยหุ้น SCB ลบ 2.83% มาอยู่ที่ 103.00 บาท ลดลง 3.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,089.55 ล้านบาท
หุ้น KBANK ลบ 2.00% มาอยู่ที่ 147.00 บาท ลดลง 3.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 988.76 ล้านบาท
หุ้น KTB ลบ 1.92% มาอยู่ที่ 15.30 บาท ลดลง 0.30 บาท มูลค่าซื้อขาย 192.73 ล้านบาท
หุ้น TTB ลบ 1.59% มาอยู่ที่ 1.24 บาท ลดลง 0.02 บาท มูลค่าซื้อขาย 301.58 ล้านบาท
หุ้น KKP ลบ 1.57% มาอยู่ที่ 62.75 บาท ลดลง 1.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 96.74 ล้านบาท

บล.กรุงศรี ประเมินว่า ธปท. อาจปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเร็วกว่าที่คาดต้นปี แต่วัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้อาจสั้นและจบลงด้วยเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งปีหลังหรือต้นปีหน้า ทำให้ธนาคารอาจไม่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นในกรณีนี้ การขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงไล่ตามเงินเฟ้อในปัจจุบัน ทำให้นึกถึงสงครามเงินเฟ้อยุค Volcker ซึ่งจบด้วยเศรษฐกิจถดถอย โดยคงมุมมอง เป็นกลาง ต่อกลุ่มธนาคารโดยมีแนวโน้มเชิงลบ

การจัดการเงินเงินเฟ้อ อาจต้องกด GDP โมเดลของ Taylor สะท้อนว่า ธปท. ควรขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี เนื่องจากเงินเฟ้อทะลุกรอบเป้าหมายนโยบาย ความบิดเบือนจากผลของฐานที่ต่ำทำให้หลายคนเชื่อว่าแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว และทำให้ธนาคารกลางส่วนใหญ่คงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด เรามองว่า ธปท. อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญเนื่องจากหากลงมือช้าและน้อยไปจะคุมเงินเฟ้อไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้เวลา 6 ไตรมาสกว่านโยบายการเงินจะเห็นผลในการดึงเงินเฟ้อลง แต่หากขึ้นดอกเบี้ยอย่างดุดันเพื่อไล่คุมเงินเฟ้ออาจทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย มองต่างตลาดเรื่องอานิสงค์ดอกเบี้ยขาขึ้น แม้ตลาดอาจจะพร้อมใจกันเชียร์กลุ่มธนาคารจากประโยชน์ที่ได้จากการปรับดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอันใกล้ แต่มีมุมมองการลงทุนที่ต่างออกไป

การวิเคราะห์ยืนยันว่ากลุ่มธนาคารจะได้ผลกระทบเชิงบวกจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะธนาคารใหญ่ที่มีสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจสูงและมี CASA สูงกว่าซึ่งจะได้มีผลกระทบสุทธิเป็นบวกจากวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเช่น KTB, KBANK และ SCB จะเป็นธนาคารหลักที่ได้ผลประโยชน์ อย่างไรก็ตาม มองว่าไม่ใช่วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยทุกครั้งจะทำให้ NIM ของธนาคารสูงขึ้น ในกรณีที่วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยเป็นระยะสั้นในช่วงเศรษฐกิจอ่อนแอจะไม่เป็นประโยชน์ วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปอาจสั้น

จึงเชื่อว่าธปท. จะเข้าร่วมการใช้นโยบายเข้มงวด ในการประชุมครั้งหน้า 10 ส.ค. 2565 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า เนื่องจากธปท. อาจกังวลว่าจะอยู่ในภาวะ behind the curve มากเกินไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเป็นความท้าทายของธนาคารในการปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อตามธปท. ในช่วงเศรษฐกิจอ่อนแอ ในกรณีนี้กังวลว่าวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยอาจจบลงในครึ่งหลังปี 65 จากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้คงมุมมอง เป็นกลาง ต่อกลุ่มธนาคารโดยมีแนวโน้มเชิงลบ