CPF หนุนโครงการ สร้างคุณค่า “เปลือกไข่” เหลือจากกระบวนการผลิต ส่งต่อเกษตรกรใช้ประโยชน์
นางวรรณทนีย์ ชำนาญเศรษฐการณ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ (CPF ) เปิดเผยว่า โรงงานแปรรูปไข่บ้านนาของซีพีเอฟ ทำโครงการ ”เปลือกไข่บด CP เพื่อเกษตรกรสู่สังคมยั่งยืน” โดยนำเปลือกไข่ไก่บดที่เหลือจากกระบวนการผลิต แจกจ่ายให้เกษตรกรรอบพื้นที่โรงงาน และเกษตรกรรอบพื้นที่จังหวัดนครนายก ตั้งแต่ ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกร รับเปลือกไข่บด 6,300 ตัน ช่วยลดปริมาณเปลือกไข่ที่บริษัทต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“โครงการเปลือกไข่บด ฯ เป็นโครงการที่เกิดผลเบวกทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ช่วยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการลดปริมาณปุ๋ยเคมีลง เป็นการลดค่าใช้จ่าย และช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้เหมาะสม เช่น สวนส้มโอ ฝรั่ง มะม่วง และกระท้อน ช่วย ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย ” นางวรรณทนีย์ กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2564 มีการนำเปลือกไข่ไก่บดจากโรงงานแปรรูปไข่ไก่บ้านนา ไปใช้ปรับปรุงดินให้เกษตรกร ซึ่งลดปริมาณขยะที่นำไปกำจัดในบ่อฝังกลบได้มากกว่า 1,000 ตันต่อปี สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 2,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นายจำรัส เพ็ชรตะคุ รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจไก่ปู่-ย่าพันธุ์เนื้อ จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ธุรกิจไก่ปู่-ย่าพันธุ์เนื้อ ทำ ”โครงการปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร” ช่วยลดของเสียที่ต้องนำไปสู่การฝังกลบ เปลี่ยนเป็นปุ๋ยที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ 100 ตันต่อปี สามารถส่งต่อให้ชุมชนและเกษตรกรใช้ประโยชน์ทางการเกษตร
“ ธุรกิจไก่ปู่-ย่าพันธุ์เนื้อ ศึกษา ค้นคว้า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในกระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ เพื่อเร่งการย่อยสลายให้สมบูรณ์เร็วขึ้น ทดแทนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการกำจัดซากสัตว์ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนเป็นการสร้างประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” นายจำรัส กล่าว
ปัจจุบัน ได้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านซับรวงไทร จังหวัดชัยภูมิ และนำปุ๋ยไปใช้เพาะปลูกผักในศูนย์ ฯ ใช้กับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 10 แปลงของชาวไร่ มากกว่า 100 ไร่ บริเวณชุมชนรอบโรงฟักชัยภูมิ จากการสอบถามผู้ที่นำปุ๋ยเปลือกไข่เพื่อชุมชนและเกษตรกรไปใช้ พบว่าผลผลิตดีขึ้น ทำให้เกษตรกรขายผลผลิตมีรายได้มากขึ้น
ซีพีเอฟ ต่อยอดสร้างคุณค่าจากของที่เหลือในกระบวนการผลิต อาทิ เปลือกไข่ ให้สามารถนำกลับมาสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและดูแลสิ่งแวดล้อม ตามกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน ด้านสังคมพึ่งตน และสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs ) ในการขจัดความยากจน รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ