ต่างชาติทิ้งหุ้น-อนุพันธ์ เงินอ่อน 35.08 บาท ลุ้นเฟด-ECB

HoonSmart.com>>หุ้นไทยยืน 1,600 จุด ไม่อยู่ไหลตามภูมิภาค รอผลประชุมเฟดคืนนี้  จับตาประชุมฉุกเฉินของ ECB วันนี้ หลังบอนด์ยีลด์หลายประเทศพุ่งขึ้น หุ้นยุโรปบวกกว่า 1% ได้เงินไหลกลับ ‘กอบศักดิ์’ มองหากเฟดมือหนักหุ้นทั่วโลกถอยกลับไปต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด ส่วนไทยต่างชาติขายหุ้น 2,417 ล้านบาท อนุพันธ์ 15,418 สัญญา กดเงินบาทอ่อนสุดในรอบ 6 ปี แตะ 35.08  บาท ธปท.ประกาศพร้อมเข้าแทรกแซง หากผันผวนผิดปกติ 

ตลาดหุ้นวันที่ 15 มิ.ย.2565 เปิดบวกแต่ต้านแรงขายไม่ไหว ฉุดดัชนีร่วงลงต่ำกว่า 1,600 จุด  ปิดที่ระดับ 1,593.54 จุด ลดลง 9.49 จุด หรือ -0.59% มูลค่าซื้อขาย 68,928.67 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายเจ้าเดียว  2,416.97 ล้านบาท ขายตราสารอนุพันธ์ด้วย  -15,418 สัญญา และตราสารหนี้ -383 ล้านบาท  ด้านเงินบาทอ่อนค่าปิดที่ 35.08 บาท  ด้านราคาบิทคอยน์ร่วงหนักต่อ ซื้อขายที่ 20,540.50 ดอลลาร์ −1,579.70 ดอลลาร์หรือ -7.14% ณ เวลาประมาณ 18.00 น.

ตลาดหุ้นต่างประเทศ ฝั่งยุโรปส่วนใหญ่ดีดตัวขึ้นแรงเกิน 1% ดาวโจนส์ล่วงหน้าเพิ่มขึ้น  200 จุด หรือ +0.68% ส่วนภูมิภาคมีทั้งบวกและลบ  นำโดยฮ่องกงเพิ่มขึ้น 1.14% ส่วนเกาหลีใต้ร่วงลง -1.83%

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นไทยปรับตัวลงเช่นเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่ต่างปรับตัวลงเฉลี่ย 1.5% โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ จะโดนขายออกมา เพื่อรอดูผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คืนนี้ และรอดูการประชุมฉุกเฉินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) วันนี้ หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ของหลายประเทศต่างปรับขึ้นสูง

ด้านตลาดหุ้นในยุโรปช่วงบ่ายนี้บวกได้กว่า 1% คาดว่าจะเป็นผลจากเงินไหลกลับไปที่ยุโรป และสหรัฐฯ หลังจากทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยชัดเจน นอกจากนี้ยังต้องติดตามการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ในวันที่ 16 มิ.ย. และการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้

แนวโน้มตลาดหุ้นในวันที่ 16 มิ.ย.2565 ตลาดฯมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้หลังจากที่มีการถอยเพื่อรอดูผลประชุมเฟดแล้ว แต่การฟื้นตัวอยู่ในกรอบจำกัด โดยมีแนวรับ 1,580-1,585 จุด ส่วนแนวต้าน 1,600-1,610 จุด

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า นักลงทุนขายลดความเสี่ยง จนดัชนีฯหลุดแนว 1,600 จุด  ซึ่งจะต้องรอดูว่าการประชุมเฟดคืนนี้จะมีอะไรออกมานอกเหนือจากที่ประมาณการไว้หรือไม่

ฝ่ายวิจัยได้ประมาณการไว้ 3 กรณี กรณีแรกเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุม 2 ครั้งข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ดัชนีฯปรับตัวลงแต่ไม่หลุด 1,585 จุด กรณีที่สองเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุม 3 ครั้งข้างหน้า ดัชนีฯก็มีโอกาสที่จะรีบาวด์ขึ้นไปทดสอบ 1,666 จุด และกรณีที่ 3 เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมที่เหลือของปีนี้ ซึ่งก็จะทำให้ดัชนีฯมีโอกาสปรับตัวลงไปทดสอบ 1,530 จุด

ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยในประเทศ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประเมินว่า ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนถึงขั้นที่คณะกรรมการ
นโยบายการเงิน (กนง.) ต้องเรียกประชุมนัดพิเศษก่อนการประชุมตามรอบปกติในเดือน ส.ค. นี้ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยไม่ได้มีความน่ากังวลมาก

ด้าน KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นยาวนานกว่าที่คาด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยไทยกำลังเปลี่ยนทิศทางเป็นขาขึ้น คาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 6.6% ในปี 2565 และ 3.1% ในปี 2566

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า หนึ่งในสงครามของเฟด คือ “สงครามกับฟองสบู่” ซึ่งขณะนี้ดัชนีตลาดหุ้นดาวโจนส์เกือบกลับไปที่เดิมในช่วงก่อนโควิดที่เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 29,551.42 จุด โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากดอกเบี้ยที่ต่ำติดดิน และสภาพคล่องที่เฟดอัดฉีดเข้ามาเพิ่มประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้ดาวโจนส์ขึ้นไปสูงสุดที่ 36,799.65 จุด หรือ +24.53% และปัจจุบัน กลับลงมาที่ 30,364.83 จุด หรือ +813.41 จุด หรือ +2.75% เทียบกับก่อนโควิด ส่วนตลาด Nasdaq เคยสูงสุดที่ 9,817.18 จุดในช่วงก่อนโควิด ขึ้นไปสูงสุดที่ 16,057.44 จุด หรือ +63.56% ในช่วง 2 ปีหากนับจากจุดต่ำสุดช่วงโควิด แต่ปัจจุบันกลับมาที่ 10,828.35 จุด เหลือบวกอยู่แค่ +1,011.17 จุด หรือ +10.29% เทียบกับระดับก่อนโควิด

สิ่งที่น่ากังวลใจ ก็คือเฟดเพิ่งเริ่มขึ้นดอกเบี้ยได้แค่ 3 ครั้งเท่านั้น หากนับถึงการตัดสินใจคืนนี้ หากต้องเริ่มเอาจริงมากขึ้นเรื่อยๆ จากเงินเฟ้อที่ดื้อไม่ยอมลงมา นอกจากหุ้นจะกลับไปสู่จุดก่อนโควิด อาจจะเห็นลงไปต่ำกว่า เพราะบางตลาด ได้ไปจุดนั้นแล้ว เช่น DAX ตลาดหลักทรัพย์ของเยอรมนี ก่อนเกิดโควิด 13,789.00 จุด เคยไปสูงสุดที่ 16,271.75 จุด แต่ล่าสุดอยู่ที่ 13,304.39 หรือ -484.61 จุด หรือ -3.51% ส่วน FTSE 100 ของตลาดหลักทรัพย์อังกฤษ ก่อนเกิดโควิด 7,674.56 จุด เคยกลับมาที่ 7,672.42 จุดหรือมาจุดเดิม ล่าสุดอยู่ที่ 7,187.46 หรือ -487.1 จุด หรือ -6.35%

” SET  ก็ไม่ได้ต่างจากคนอื่น ก่อนมีข่าวโควิดช่วงต้นปี 2563 เคยอยู่ที่ 1,600.48 จุด  ปัจจุบันต่ำกว่า 1,600 จุด  ฟองสบู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ได้ถูกธนาคารกลางต่างๆจัดการไปเรียบร้อย สร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้กับคนที่เข้าไปเล่นกับฟองสบู่ในช่วงที่ผ่านมา มองไปข้างหน้า ดัชนี้เหล่านี้ยังอาจปรับตัวได้อีก ถ้าเฟดมือหนักเกิน”นายกอบศักดิ์ ระบุ

น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกรณีค่าเงินบาทอ่อนตัวแตะ 35 บาท/ดอลลาร์ เมื่อเช้าวันที่ 15 มิ.ย. ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวผันผวนและอ่อนค่าแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปี เป็นผลจากการคาดการณ์ของตลาดว่าการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในคืนนี้ จะเร่งดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม และความกังวลต่อโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี ขณะที่สกุลเงินภูมิภาครวมทั้งเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปีเงินบาทอ่อนค่าลง 4.5% ส่วนเงินสกุลอื่นในภูมิภาคอ่อนค่าระหว่าง 3% ถึง 7% สำหรับการลงทุนของต่างชาติยังมีฐานะเป็นซื้อสุทธิในสินทรัพย์ไทยประมาณ 1.5 แสนล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปี โดยแบ่งเป็นหุ้น 1.3 แสนล้านบาท และพันธบัตร 2 หมื่นล้านบาท  ธปท. ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อความผันผวนมากผิดปกติ