ดาวโจนส์ปิดทรุดกว่า 870 จุด กังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ทำศก.ถดถอย

HoonSmart.com>> 3 ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทรุดต่อ “ดาวโจนส์” ปิดดิ่ง 870 จุด กว่า 2.79% ดัชนี S&P 500 ลบ 3.88% ด้าน Nasdaq ร่วงแรง 4.68% นักลงทุนคาดเงินเฟ้อพุ่งสูงรอบทศวรรษ เร่งเฟดดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้น วิตกขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ฉุดเศรษฐกิจถดถอย ราคาน้ำมันดิบขยับขึ้น 26 เซนต์ ด้านตลาดหุ้นยุโรปร่วง 2% อังกฤษรายงาน GDP ติดลบ 0.3% กังวลเศรษฐกิจทั้งภูมิภาคจะอ่อนตัว

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 13 มิถุนายน 2565 ปิดที่ 30,516.74 จุด ร่วงลง 876.05 จุด หรือ 2.79% จากแรงขายมีมากขึ้นนักลงทุนคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในรอบทศวรรษจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องดำเนินนโยบายในเชิงรุกมากขึ้นเพื่อคุมเงินเฟ้อ รวมทั้งวิตกมากขึ้นว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจจะถดถอย

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,749.63 จุด ลดลง 151.23 จุด, -3.88%

ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,809.23 จุด ลดลง 530.80 จุด, -4.68%

ดัชนี S&P 500 ร่วงมาที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีนาคม 2021 และลดลงกว่า 21%จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนมกราคม หมายความว่าดัชนีได้เข้าสู่ตลาดหมีอย่างเป็นทางการ ส่วนดัชนี ปิดตลาดที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2020

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ10 ปีเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.34% เป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2021

ดัชนีดาวโจนส์ลงไปที่ระดับต่ำสุดในช่วง 30 นาทีสุดท้ายหลังจากรายงานของ Wall Street Journal ชี้ให้เห็นว่าเฟดจะพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในวันพุธ ซึ่งมากกว่าการเพิ่มขึ้น 0.50%ที่คาดไว้

Fed Fund Futures บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 25% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิถุนายน

นักลงทุนกังวลใจกับการประชุมนโยบายล่าสุดของเฟดในปลายสัปดาห์นี้ หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคมร้อนแรงเกินคาด และคาดการณ์ว่าที่ประชุมจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 1.25% ถึง 1.50%

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขนาดใหญ่ดังกล่าวจะเพิ่มแรงกดดันให้กับหุ้นที่ผันผวนอยู่แล้ว จากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันนักลงทุนประเมินว่าเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงและจะทำให้เศรษฐกิจถดถอยลึกลงไปอีก

ไมเคิล เพิรซ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จาก Capital Economics ระบุในบทวิเคราะห์เมื่อวันศุกร์ว่า เงินเฟ้อที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์มีรายละเอียดน้อยมาก ที่บ่งชี้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อกำลังผ่อนคลาย การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานในเดือนนี้หมายความว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน จะยังคงอยู่ในระดับ 8.6%

เมื่อวันศุกร์มีการรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)เดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 8.6% เมื่อเทียบรายปี สูงสุดในรอบกว่า 40 ปี

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มอุตสาหกรรมต่างลดลงมาก โดยหุ้นเมตา แพลตฟอร์มส์ลดลง 6.4% หุ้นแอปเปิล ลดลง 3.8% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ลดลง 7.2% หุ้นอัลฟาเบท ลดลง 4.3% หุ้นไมโครซอฟท์ ลดลง 4.2%

หุ้นโบอิ้งลดลง 8.8% หุ้นแคทเธอร์พิลลาร์ ลดลง 3.9%

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงอย่างมาก นำโดยกลุ่มเดินทางและสันทนาการที่ลดลง 2.4% นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารเพื่อคุมเงินเฟ้อที่ร้อนแรง ขณะที่ข้อมูลการเติบโตเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรที่อ่อนแอ ทำให้เกิดความวิตกว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคจะชะลอตัว เช่นเดียวกับ

เศรษฐกิจเดือนเมษายสหราชอาณาจักรหดตัว โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ลดลง 0.3% เนื่องจากภาคการผลิต บริการ และการก่อสร้างทั้งหมดลดลงพร้อม ๆ กันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มกราคม 2021

การรายงานการชะลอตัวของเศรษฐกิจมีขึ้นก่อนการประชุมของธนาคารกลาง( Bank of England)ในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% และจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ห้าตั้งแต่เดือนธันวาคมหลังจากอัตราเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ 9% ใน เมษายน

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 412.52 จุด ร่วงลง 10.19 จุด, -2.41%

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,205.81 จุด ลดลง 111.71 จุด, -1.53

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,022.32 จุด ลดลง 164.91 จุด, -2.67%,

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,427.03 จุด ลดลง 334.80 จุด, -2.43%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น 26 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 120.93 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 26 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 122.27ดอลลาร์ต่อบาร์เรล