EXIM BANK หนุนเอกชนเต็มที่ บุกธุรกิจพลังงานสะอาดใน CLMV

HoonSmart.com>>รมว.คลังนำทีมบอร์ด-คณะผู้บริหาร EXIM BANK เยี่ยมชมกิจการลูกค้าในเวียดนาม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บริษัทลูก “เสริมสร้าง พาวเวอร์ฯ” ขนาด 49 MW ธนาคารสนับสนุนธุรกิจสีเขียวในต่างประเทศรวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท มากกว่า 250 โครงการ รวม 6,455 MW ลดปล่อยคาร์บอน 100 ล้านตัน ตอบรับนโยบายรัฐบาล ด้านบิ๊ก SSP เผยนอกจากได้ดอกเบี้ยต่ำแล้ว ยังได้เพื่อนคู่คิดที่ดีในการขยายลงทุนต่างประเทศด้วย  

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง พร้อมด้วยคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และคณะผู้บริหารเยี่ยมชมกิจการลูกค้า ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท Truong Thanh Quang Ngai Power and High Technology Joint-Stock Company (TTQN) บริษัทย่อยของ บริษัทเสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) ขนาดกำลังการผลิต 49 เมกะวัตต์ (MW) จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าเวียดนามภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี  EXIM BANK สนับสนุนเงินกู้ระยะยาวจำนวน 32.5 ล้านดอลลาร์ โดยมีนายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTQN ให้การต้อนรับ ณ เมืองบินเหงียน จังหวัดกว๋างหงาย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา

นายอาคมกล่าวภายหลังจากเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าดังกล่าวว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายการลงทุนไปต่างประเทศ เนื่องจากไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ทำให้การได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าลดลงเป็นลำดับ ขณะเดียวกันการขยายการลงทุนโครงการพลังงานสะอาด ยังสร้างความมั่นคงพลังงานเกิดขึ้นทั้งภูมิภาคด้วย

ปัจจุบันเวียดนามเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงทั้งด้านการค้าและการลงทุน มีประชากรวัยแรงงานจำนวนมาก จำนวน 55 ล้านคน พูดได้หลายภาษา ค่าแรงงานขั้นต่ำ เพียง  170-200 บาทต่อวัน ทำให้นักลงทุนทยอยย้ายฐานการผลิต เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ รองเท้า สินค้าเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ ไปยังเวียดนาม นอกจากนี้รัฐบาลเวียดนามยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของเวียดนามมีอัตราการเติบโตสูงตามการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและการเติบโตของสังคมเมือง จึงเป็นโอกาสดีที่นักธุรกิจไทยจะเข้าไปลงทุนด้านพลังงานทดแทน จึงเป็นโอกาสดีที่นักธุรกิจไทยจะเข้าไปลงทุนด้านพลังงานทดแทน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) ในภูมิภาคอาเซียนและประชาคมโลก

“คลังได้มอบนโยบาย EXIM BANK นอกจากบทบาทธนาคารเพื่อการส่งออก ให้ขับเคลื่อนไปสู่ธนาคารแห่งการพัฒนา เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจ ขับเคลื่อนไปสู่ BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ”นายอาคมกล่าว

ด้านดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มุ่งทำหน้าที่มากกว่าธนาคาร พัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ในการสนับสนุนภาคธุรกิจอย่างครบวงจร เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้ธุรกิจเติบโตไปด้วยกันกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งสนับสนุนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากความท้าทายในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี และธุรกิจที่มุ่งให้เกิดผลตอบแทนทางการเงิน ควบคู่กับผลตอบแทนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ

EXIM BANK ให้การสนับสนุนทางการเงินให้แก่ธุรกิจบีซีจี มากกว่า 250 โครงการ กำลังการผลิต 6,455 เมกะวัตต์ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 100 ล้านตัน ให้การสนับสนุนทางการเงินกว่า 60,000 ล้านบาท สร้างมูลค่าการลงทุนเกือบ 380,000 ล้านบาท นับตั้งแต่เปิดดำเนินงานตั้งแต่ปี 2537 โดยมีเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของนักธุรกิจไทย ธนาคารให้การสนับสนุนในหลายธุรกิจ รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจและการดำรงชีวิตของประชาชนชาวเวียดนาม ตลอดจนการขยับเข้าใกล้เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชาคมโลก

” โครงการนี้สะท้อนถึงนักลงทุนไทยกล้าหาญมากในการเข้ามาลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าแรกๆในเวียดนาม โดย EXIM BANKให้การสนับสนุนเงินกู้ระยะยาวจำนวน 32.5 ล้านดอลลาร์ อัตราดอกเบี้ย LIBOR + 4% ขณะที่ทั่วไปคิดในอัตรา LIBOR + 8%  และยังให้การสนับสนุนTTQN ในช่วงแรกๆของในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมทางภาคใต้ของเวียดนามก่อนที่ธนาคารกรุงทพจะให้การสนับสนุนสินเชื่อต่อไป”ดร.รักษ์กล่าว

นายวรุตม์ กล่าวว่า TTQN มี SSP ถือหุ้นใหญ่ 80% ได้รับการสนับสนุนจาก EXIM BANK เป็นอย่างดี นอกจากจะได้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และเงื่อนไขที่ดีแล้ว ธนาคารยังเป็นเพื่อนคู่คิดที่ดีในการขยายการลงทุนในต่างประเทศให้กับบริษัทอีกด้วย

” เรายังมองหาโอกาสทางธุรกิจ และยังต้องการขอรับการสนับสนุนจาก EXIM BANK อีกหลายโครงการ โดยวางเป้าหมายใน 3 ปี จะมีกำลังการผลิต 500 MW หรือเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัวจากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 240 MW ส่วนใหญ่ลงทุนในต่างประเทศที่เวียดนาม จำนวน 98 MW ญี่ปุ่น 85-90 MW อินโดนีเซีย โครงการโซลาร์รูฟท็อป 30 MW และที่มองโกเลีย ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และธนาคารญี่ปุ่น นโยบายการลงทุนกระจายในพลังงานหลายประเภท สร้างการเติบโตอย่างรวดเร็ว”

การลงทุนในเวียดนาม มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ COD แล้ว 3 ปี จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว  20 ปี  ในราคา 9.35 เซนต์ หรือประมาณ 3.10 บาท จ่ายไฟเข้านิคมอุตสาหกรรม ส่วนทางภาคใต้ มีการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงามลม ขนาด 48 MW

สำหรับการขายโครงการในญี่ปุ่น ในราคา 720 ล้านบาท เมื่อทียบกับมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 340 ล้านบาท บริษัทจะได้รับกำไรพิเศษประมาณ 380 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2/2565 คาดปีนี้มีรายได้เติบโต 20-30%

นอกจากนี้ รมว.คลัง ได้เดินทางไปเยี่ยมชมกิจการห้างค้าส่งและค้าปลีก MM Mega Market ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เอ็มเอ็ม เมก้ามาร์เก็ต เวียดนาม ในกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น โดยมี TCC Land International Pte. Ltd. ในเครือบริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ถือหุ้น โดย MM Mega Market เป็นห้างค้าส่งรายเดียวในเวียดนาม มีสินค้าหลากหลาย และนำนโยบายสีเขียวเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ด้วยความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม