คาดเฟดขึ้นดบ.สัปดาห์นี้ กูรูแจกกลยุทธ์สู้โลกระส่ำ

HoonSmart.com>>”กอบศักดิ์”คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยสัปดาห์นี้ สกัดเงินเฟ้อพ.ค.เร่งตัวขึ้น 8.6% สูงเกินคาด ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี  บอนด์ยีลด์ 2 และ 10 ปีพุ่งขึ้นทะลุ 3% กระทืบ 3 ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงแรง ลากหุ้นโลกปั่นป่วน บล.ไทยพาณิชย์คาดปีนี้กนง.ปรับขึ้นดบ.จาก 0.5% เป็น 1% ปี 66 เพิ่มเป็น 2% แบงก์ต้องขยับตาม แบงก์ใหญ่เฮ ลบต่อ TISCO, KKP, BAY  บล.โนมูระแนะลดพอร์ต 5% รอซื้อต่ำกว่า 1,600  ดีบีเอสถือเงินสด 10-20% 

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2565 กระทรวงแรงงานสหรัฐประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค.ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ตั้งแต่ปี 1981 โดยเพิ่มขึ้น 8.6% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่า 8.3% ที่นักวิเคราะห์คาด ส่งผลกระทบต่อดัชนีดาวโจนส์ดิ่ง -2.73%ดัชนี S&P 500 ร่วง -2.91% ดัชนี Nasdaq ทรุด -3.52%

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คส่วนตัว Kobsak Pootrakool ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในสัปดาห์นี้ที่จะมีการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย.2565 เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ หลังตัวเลขเศรษฐกิจได้แก่ ดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ยีลด์)  2 ปี เพิ่มขึ้น 0.25% พุ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี

“ข้อมูลเงินเฟ้อที่ออกมาได้เปลี่ยนมุมมองของหลายๆ คน บอนด์ยีลด์  2 ปี พุ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี ใน 1 วันที่ผ่านมา สะท้อนความคาดการณ์ของนักลงทุนว่า ถ้าเงินเฟ้อไม่ยอมลงมา แถมดูเหมือนจะดื้อยา เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยด้วยซ้ำไป สุดท้าย คุณหมอเฟดคงต้องเพิ่มขนาดยาให้แรงขึ้นไปอีกนิดด้วย” นายกอบศักดิ์ ระบุ

ทั้งนี้ จากเดิมที่เฟดจะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.5% อีก 2 ครั้งในปีนี้ ตอนนี้เริ่มคิดว่าคงต้องเป็นอย่างน้อยอีก 3 ครั้ง ส่วนนักลงทุนในตลาดหุ้นก็เตรียมหลบภัยเช่นกัน หลังดัชนีดาวโจนส์ ลดลง 2 วัน -1,518 จุด หรือ -4.61% ทำให้ดัชนีที่ขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ค.เกือบจะกลับไปที่เดิมแล้ว สอดคล้องกับดัชนี NASDAQ ที่ลดลง -6.17% S&P500 ที่ลดลง -5.22% และเป็นสัปดาห์ลดมากสุดในรอบหลายๆ เดือน

ขณะที่ค่าเงินสหรัฐที่อ่อนลงไปช่วงหนึ่ง เริ่มกลับแข็งค่ามาที่ 104.2 อีกรอบ จากลงไปแตะ 101.3 เมื่อปลายเดือน พ.ค.หลัง ECB ออกมาส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยบ้าง หรือขึ้นเกือบ 3% ในช่วงสั้นๆ เพียงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทบค่าเงินสกุลต่างๆ เช่น เงินเยนอยู่ที่ 134.4 เยน/ดอลลาร์ อ่อนลง -5.5% จาก 127.1 เยน/ดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกัน และราคาทองคำที่ลดลงไปที่ 1,800 ดอลลาร์ ตอนนี้เพิ่มชั่วคราวมาอยู่ที่ 1,875 ดอลลาร์/ออนซ์

“มุมมองของตลาดที่เปลี่ยนไปมาระหว่าง 1 เดือน เกี่ยวกับสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐ จากที่เคยคิดว่าน่าจะเอาอยู่ เปลี่ยนไปเป็นยังเอาไม่อยู่ Inflation is alive and well ! พร้อมจะกลับมา หลังราคาน้ำมันดิบโลกปรับขึ้นไปเป็นประมาณ 120-125 ดอลลาร์/บาร์เรล กดดันให้เงินเฟ้อเพิ่ม และอยู่ยาวนานขึ้น มารอลุ้นกันว่า เฟดจะมีอะไรมา surprise หรือไม่ แต่ที่ลุ้นยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ท่านประธานเฟดจะพูดอะไร เพราะทุกครั้ง ผลประชุมเป็นไปตามคาด แต่ท่านประธานเฟดมักจะพูดเพิ่มเติมประเด็นให้คิดอยู่เสมอๆ จนตลาดเหวี่ยงไปมา” นายกอบศักดิ์ ระบุ

สำหรับประเทศไทยอยากให้มองข้ามปัจจัยระยะสั้นที่จะเกิดขึ้นสัปดาห์ต่อสัปดาห์แล้วมองในภาพรวมว่า สงครามของเฟดกับเงินเฟ้อน่าจะยืดเยื้อ เพราะชัยชนะแท้จริงที่เป็นเป้าหมายสูงสุดก็คือ เงินเฟ้อต้องลงมาที่ 2.0% ยิ่งเงินเฟ้อขึ้นไปสูงและอยู่สูงนานๆ เงินเฟ้อก็จะไม่ลดลงสู่เป้าหมายง่าย ต่อให้ลงก็จะค้างอยู่ที่ประมาณ 3-4% ไปสักระยะ ทำให้เฟดยังแพ้สงครามกับเงินเฟ้ออยู่ ในที่สุดต้องใส่ยาเพิ่ม ขึ้นดอกเบี้ยไป จนเงินเฟ้อสยบ

“ความผันผวนส่วนหนึ่งจึงมาจากความพยายามของตลาดที่จะเดาว่า สงครามครั้งนี้จะจบยัง? ดอกเบี้ยขึ้นแค่นี้น่าจะพอแล้วใช่หรือไม่ จะได้เริ่ม Party รอบใหม่  เพราะที่ลดลงมาก็ดูน่าสนใจมาก ขณะเดียวกันก็ไม่อยากเจ็บตัวเพิ่มหากตลาดจะลงต่ออีก ทำให้ละล้าละลังว่าจะเข้าดีหรือไม่ หรือจะรอก่อน ทุกคนจึงอ่อนไหวต่อข่าวต่างๆ ที่ออกมา นำมาซึ่งความปั่นป่วนของตลาด ที่จะอยู่กับเราไปอีกระยะ” นายกอบศักดิ์ ระบุ

ในช่วงที่สงครามกับเงินเฟ้อยังไม่ชัดเจนว่าจะจบ ปีนี้ลงทุนไม่ง่าย อะไรๆ ก็เกิดได้ เหวี่ยงไปมา  ราคาสินทรัพย์ต่างๆ พร้อมทดสอบ New low หรือ New high สมกับเป็น Economic Turbulence 2022

ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน คาดในช่วงปลายไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3 มีโอกาสผันผวนเพิ่มขึ้นแนะนำลดพอร์ตหุ้นไทยลง 5% เหลือ 50% สภาพคล่องในระบบเสี่ยงลดลง 1-2 เดือนข้างหน้า ตลาดต้องใช้เวลาซึมซับ จุดที่พิจารณาตั้งรับกลับเพิ่มใหม่ มองกรอบอ่อนตัวซื้อ 1,610-1,590จุด ,1,570-1,550 จุด หรือเมื่อมีปัจจัยบวกระลอกใหม่

บล. ดีบีเอส วิเคอร์ส  (ประเทศไทย)แนะกลยุทธ์สั้น ถือเงินสด 10-20% รอรับในช่วงอ่อนตัว ส่วนระยะกลางยาว ทยอยสะสม

บล.ไทยพาณิชย์ปรับสมมุติฐานอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 0.5% เป็น 1% ในปี 2565 ทำให้ธนาคารปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR,MOR,MRR 0.25% และปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.5% ออมทรัพย์ 0.25% ส่วนในปี 2566 คาดกนง.ปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายอีก 1% เป็น 2% ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น 0.5% เงินฝากประจำปรับขึ้น 1% ส่วนออมทรัพย์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง สะท้อนโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงและเร็วกว่าคาดของกนง.ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อธนาคารใหญ่ (BBL,KTB,SCB,KBANK) จะขึ้นดอกเบี้ยในระดับที่จะส่งผลกระทบค่อนข้างเป็นกลางต่อ NIM ทำให้ธนาคารอื่นๆปรับขึ้นตาม

นอกจากนี้ในปี 2566 อัตรานำส่งเงินสมทุบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จะเพิ่มขึ้น 0.23% กลับสู่อัตราดอกเบี้ย 0.46% จึงคาดว่าธนาคารขนาดใหญ่จะขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อให้ครอบคลุมอัตรานำส่งสมทบกองทุนฟื้นฟูฯและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นในปี 2566

อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะเป็นลบสำหรับธนาคารที่มีเงินให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ในสัดส่วนสูง และเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ในสัดส่วนต่ำอย่าง TISCO,KKP,BAY คาดว่า KTB,KBANK จะได้รับประโยชน์มากที่สุด เพราะมีสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์สูงกว่าธนาคารอื่นๆ

ทั้งนี้ผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะมีผลต่อประมาณการเพียงเล็กน้อย -2%ถึง 0% ส่วนปี 2566 ปรับประมาณการกำไรส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น 2-10% แต่ปรับลดประมาณการกำไรของ BAY,KKP และ TISCO ลดลง 2-7% โดยยังคงคำแนะนำและราคาเป้าหมาย เพื่อจะรอดูผลประกอบการไตรมาสที่ 2/2565 หลังจากนั้นจะเปลี่ยนมาใช้ราคาเป้าหมาย ปี 2566 หุ้นเด่นยังคงเป็น BBL มีความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ต่ำที่สุด และเป็นหุ้น laggard play ซื้อขายด้วย P/BV ปีนี้ต่ำที่ 0.5 เท่า เทียบกับ ROE 6.3% และ KBANK ผู้นำด้านดิจิทัลแบงก์และสินเชื่อเติบโตโดเด่น

“การปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565 จะส่งผลกระทบต่อกำไรของ TISCO,KKP,TTB,BAY 1-2% ส่วนปี 2566 ปรับเพิ่มประมาณการกำไรของธนาคารส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น 2-10% แต่ปรับลดกำไรของ BAY,KKPและ TISCO ลง 2-7% ขณะเดียวกันธนาคารขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่มีมูลค่าไม่แพง แนะนำซื้อ “บล.ไทยพาณิชย์ระบุ