กนง.เสียงแตก ดบ.ส่อขึ้นเร็ว เงินเฟ้ออาจสูงนาน กดดันหุ้น

HoonSmart.com>>บอร์ดนโยบายการเงิน มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% กรรมการเสียงข้างน้อย 3 เสียงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ไทยพาณิชย์คาดปรับขึ้นไตรมาส 3 กนง.เพิ่มเป้าเศรษฐกิจปีนี้โต 3.3% เงินเฟ้อเร่งตัวถึง 6.2% เสี่ยงอาจสูงนาน ราคาน้ำมันดิบ 105 ดอลลาร์ กรุงศรีเผยไทยจะก้าวเข้าสู่วัฏจักรปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในครึ่งปีหลัง หุ้นบวก 4 จุด ต่างชาติขายต่อ 1,351 ล้านบาท

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน( กนง.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ในปี 2565 คาดว่าจะเติบโตที่ 3.3% ดีกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 3.2% ส่วนปี 2566 จะขยายตัว 4.2% มีโอกาสฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ เพราะไตรมาส 1/65  ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับการท่องเที่ยวที่กลับมาเร็วขึ้น คาดปีนี้นักท่องเที่ยวเข้ามา  6 ล้านคน จากเดิมคาดไว้ 5.6 ล้านคน ส่วนปี 2566 คงไว้จำนวน 19 ล้านคน ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 1 ม.ค-20 พ.ค.2565 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วประมาณ 1 ล้านคน โดยมองว่าการบริโภคภาคเอกชน จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.2% เพิ่มขึ้น 1.3% จากเดิมคาดไว้ที่ 4.9% และปี 2566 อยู่ที่ 2.5% จากปี 2564 อยู่ที่ 1.2% มีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี 2565 ตามราคาพลังงานโลกและการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่มากและนานกว่าคาด  กระจายตัวในหมวดสินค้าหลากหลายขึ้น แต่ยังเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลง

“คาดว่าในไตรมาส 3 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขึ้นไปแตะระดับสูงสุด หลังจากนั้นจะเริ่มทยอยปรับลดลง ทำให้ทั้งปีเฉลี่ยอยู่ในกรอบเป้าหมาย รวมถึงปี 2566 แต่ยังมีความเสี่ยงด้านสูง จาก 2 ปัจจัยสำคัญที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ 1.ราคาน้ำมันในตลาดโลก และ 2.การส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศ  ทั้งนี้กนง.คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้ อยู่ที่ 105 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 5 ดอลลาร์ ปี 2566 อยู่ที่ 105 ดอลลาร์ จากเดิมคาดไว้ที่  90 ดอลลาร์ ส่วนศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตเท่ากับในช่วงก่อนวิกฤติโควิดได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 แต่ยังไม่สามารถเติบโตไปถึงจุดที่มีศักยภาพได้ ซึ่งอาจจะต้องรอให้ผ่านไปอีกสัก 1 ปีหลังจากนั้น”นายปิติกล่าว

ขณะนี้หมดยุคการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำมากติดต่อกันเป็นระยะเวลานานแล้ว เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้ กนง.ต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยจะพิจารณาจาก 3 ปัจจัย คือ 1.ต้องสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มขึ้นสูง ซึ่งเมื่อภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ก็ต้องถึงเวลาถอนคันเร่งการใช้นโยบายการเงิน เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงจนเกินไป ไม่เป็นการเติมฟืน และซ้ำเติมให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น

2.ต้องพิจารณาระยะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง กนง.จะต้องดูความชัดเจนต่อเนื่อง และต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ถ้าดอกเบี้ยขึ้นช้าเกินไป ก็ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น กนง.ก็กังวลว่าอาจจะต้องใช้ยาแรงเพื่อมาควบคุมในปีหน้า

3.ผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยจะเพิ่มภาระให้กับคนบางกลุ่ม เช่น ครัวเรือนรายได้น้อย แต่หากปล่อยให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นก็จะเป็นภาระมากกว่าการขึ้นดอกเบี้ย โดยเงินเฟ้อตั้งแต่ต้นปีทำให้ครัวเรือนมีภาระ 850 บาท หรือคิดเป็น 3.6% ของรายได้ครัวเรือน แต่ในกรณีถ้าขึ้นดอกเบี้ย 1% จะคิดเป็นภาระต่อครัวเรือน 120 บาทซึ่งน้อยกว่า 7-8 เท่า

นายปิติ กล่าวว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ถ้าเป็นผลจากปัจจัยราคาน้ำมัน ก็จะมีนโยบายการเงินหรือเครื่องมือมาแก้ไขได้ ซึ่งไทยได้ใช้กลไกจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือในการเข้ามาดูแลเสถียรภาพราคา

เลขานุการ กนง.กล่าวว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบสูง แต่การกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างกันบ้างในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่มยังเปราะบาง คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการปรับโครงสร้างหนี้ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดสำหรับกลุ่มเปราะบาง

ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย แต่มีความผันผวนมากขึ้น โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ ปรับอ่อนค่าลงสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้น ตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก และการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการและความผันผวนในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ของ กนง. ทำให้เงินบาทแข็งค่าเล็กน้อยในช่วงแรกก่อนที่จะพลิกอ่อนค่ามาที่ 34.51 บาท/ดอลลาร์ ช่วงท้ายตลาด  รวมในปีนี้อ่อนค่ากว่า 3.3%  ท่ามกลางราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นและความคาดหวังของตลาดต่อการลดสภาพคล่องจากระบบของเฟด ทั้งนี้กนง. มีกำหนดการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 10 ส.ค. 2565 ถ้อยแถลงของ กนง. ครั้งนี้ บ่งชี้ถึงการปูทางไปสู่การปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติ การผ่อนคลายจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า ซึ่งผิดความคาดหมาย

กรุงศรีมีความเห็นว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคล่าสุด ความกดดันจากประเทศต่างๆ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการไหลของเงินทุนนั้นล้วนมีส่วนต่อการสื่อสารของ กนง.  ด้านนโยบายที่เปลี่ยนไป กำลังจะก้าวเข้าสู่วัฏจักรการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกภายในครึ่งหลังของปี 2565 นี้

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดดอกเบี้ยมีโอกสปรับขึ้นในไตรมาสที่ 4 ขณะที่ กนง. มีกำหนดการประชุมอีก 3 ครั้งในปีนี้ คือ วันที่ 10 ส.ค. 28 ก.ย.และ 30 พ.ย.2565

ธนาคารไทยพาณิชย์ โดย EIC คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 0.75% ในไตรมาสที่ 3/2565 เพื่อลดระดับนโยบายการเงินที่อยู่ในระดับผ่อนคลายมาก  เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อ มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องและมากกว่าที่คาด  การปรับขึ้นดอกเบี้ยจึงอาจช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ (demand-pull inflation) ในระยะต่อไปได้ ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อต่อไป

ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ลดลง และเงินบาทที่อ่อนค่าลงเร็วในช่วงที่ผ่านมา เงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยหลังหักเงินเฟ้อ) ของไทยปรับลดลง ซึ่งในปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลออกจาก ตามการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง  ทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสปรับอ่อนค่าลงได้อีก ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยชะลอเงินไหลออกได้ ทั้งนี้ดัชนีค่าเงินบาท (Nominal effective exchange rate: NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (Real effective exchange rate: REER) ยังไม่ปรับอ่อนค่าลงมากนัก โดยนับตั้งแต่สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ดัชนี NEER และ REER อ่อนค่าลงเพียง 1% และ 1.6% ตามลำดับ ขณะที่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 4.8%

ต้นทุนการกู้ยืมในตลาดพันธบัตรของไทยปรับสูงขึ้นตามคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายไทยและทิศทางตลาดเงินโลก นับตั้งแต่ต้นปี 2565  อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี เพิ่มขึ้น 109 bps สู่ 1.7%ส่วนอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้น 94 bps สู่ 2.8% สะท้อนถึงภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น กระทบต้นทุนของภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจที่รายได้ยังคงเปราะบางจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก โดย EIC คาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย สู่ระดับ 3.0-3.1% ณ สิ้นปี 2565 เนื่องจาก การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการลดขนาดงบดุลของเฟดส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นได้อีกโดย EIC คาดอายุ 10 ปี จะปรับเพิ่มไปอยู่ที่ 3.0-3.1% ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ถึง 80%

อัตราผลตอบแทนในตลาดเงินที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจไทยเร่งระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นเพื่อล็อกต้นทุนทางการเงินไว้ มูลค่าคงค้าง นับตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ค.2565 เพิ่มขึ้นถึง 14% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ซึ่ง EIC มองว่าเป็นเพราะภาคธุรกิจต้องการเร่งระดมทุนเพื่อล็อกต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอีกในช่วงครึ่งปีหลัง ตามทิศทางอัตราผลตอบแทนในตลาดเงินโลก รวมถึงโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า ลดลง 12.1% จากเดือนก่อน อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ท่ามกลางความกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ย นักลงทุนคาดหวังท่องเที่ยวและเศรษฐกิจฟื้นตัวช่วยหนุนความเชื่อมั่น  โดยมองหุ้น “กลุ่มท่องเที่ยวละสันทนาการ” น่าสนใจมากที่สุด

ด้านตลาดหุ้นวันที่ 8 มิ.ย.2565  ดัชนีปิดที่ 1,636.89 จุด เพิ่มขึ้น 4.97 จุด หรือ +0.30% มูลค่าซื้อขาย 57,187.70 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 1,351.29 ล้านบาท  สวนทางนักลงทุนไทยซื้อ 1,227 ล้านบาท และ สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 205.81 ล้านบาท  ปรับตัวขึ้นตามตลาดต่างประเทศ จากบอนด์ยีลด์ ชะลอตัวลง

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นวันนี้แกว่งไซด์เวย์หลังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามา แม้ผลการประชุม กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาด แต่ก็ยังเฝ้าจับตาดูทิศทางเงินเฟ้อ ซึ่งตลาดก็กังวลกำลังซื้อที่แผ่วลงหลังเงินเฟ้อสูง อย่างไรก็ดี ต้องรอลุ้นกำลังซื้อภายในประเทศฟื้นตัวขึ้น และหากสถานการณ์ท่องเที่ยวดี จากจำนวนนักท่องเที่ยวเร่งตัวขึ้น ตลาดก็จะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย และตลาดในยุโรป ต่างเคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบ โดยรอดูการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB)ในวันที่ 9 มิ.ย. และรอดูตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่จะออกมาในวันศุกร์นี้ (10 มิ.ย.) ซึ่งตลาดคาดไว้ 8.2%

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา  ธนาคารกลางออสเตรเลีย มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 0.85% มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยราว 0.25% ส่วนธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (repo rate) 0.50% สู่ระดับ 4.90% ตามตลาดคาด และเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม 2 เดือนติดต่อกัน

ด้านธนาคารโลกปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้สู่ระดับ 2.9% จากเดิมที่ระดับ 4.1%

บริษัทเจพีมอร์แกน คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มพุ่งขึ้นสูงถึงระดับ 150 ดอลลาร์/บาร์เรล  เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งมากพอที่จะรับมือกับราคาน้ำมันที่สูงขนาดนั้นได้