ALT ลั่นผลงานปี’65 สดใส ทุกธุรกิจฟื้น สภาพคล่องสูง

HoonSmart.com>>”เอแอลที เทเลคอม”คาดผลงานปี 65 สดใส ไตรมาส 2 โตกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ทยอยรับรู้ Backlog ราว 3,000  ล้านบาท ทุกธุรกิจเริ่มฟื้น รุกขยายเคเบิ้ลใยแก้ว-ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป  สภาพคล่องทางการเงินดี ภาระหนี้ค่อนข้างต่ำ อัตราดอกเบี้ยเพียง 3.6%  ต่อปี 

นางปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอแอลที เทเลคอม (ALT) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาด ในไตรมาส 2/2565 จะเติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 5 แสนบาท จากการทยอยรับรู้งานในมือ (Backlog) มีอยู่ราว 3,000 ล้านบาท และทุกธุรกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง โดยเฉพาะการให้บริการแบนด์วิดธ์ระหว่างประเทศ เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในประเทศกัมพูชา รวมถึงประเทศลาว ที่มีรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมจีนจากลาวมาไทย โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง คาดทั้งปีนี้มีรายได้เกือบ 400 ล้านบาท จากปีก่อนทำได้ราว 300 ล้านบาท

ส่วนการให้บริการสถานีชายฝั่งเพื่อเชื่อมต่อเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศ (CLS) บริษัทก่อสร้างสถานีที่จ.สตูล แล้ว คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในสิ้นไตรมาส 2 ซึ่งจะเชื่อมต่อโครงข่ายสื่อสารระหว่างซีกโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน รวมถึงบริษัทยังอยู่ระหว่างการดำเนินงานโครงการ Hat Yai POP หรือจุดเชื่อมต่อสายเคเบิลใต้น้ำ และสายส่งสำหรับจุดเปลี่ยนการเชื่อมต่อ และโครงการ Rayong CLS ในพื้นที่พัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเช่นกัน, การให้บริการโครงข่ายเพื่อเชื่อมต่อดาต้าเซ็นเตอร์ ในปีนี้จะมีการเชื่อมต่อฯ อีก 7 แห่ง จากที่ผ่านมามีการเชื่อมต่อราว 10 แห่ง

นางปรีญาภรณ์ กล่าวถึงธุรกิจ Smart Energy ว่า มีการส่งมอบงานสมาร์ทกริด ปัจจุบันอยู่ในช่วงของการหารือในการขยายโครงการสมาร์ทกริดประเทศไทยต่อไป และบริษัทยังได้ซื้อกิจการผู้ผลิตสมาร์ทมิเตอร์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการนำมาใช้ในโครงการนี้ ทำให้ปีนี้จะมีการคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ยังให้บริการบริหารจัดการเพื่อลดค่าไฟฟ้า โดย ALT จะเป็นผู้ลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และขายไฟฟ้าในอัตราส่วนลดจากอัตราค่าไฟฟ้าปกติให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม (Private PPA) เป็นธุรกิจที่สามารถรับรู้รายได้เร็ว  ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าโซลาร์รูฟท็อปในมือแล้ว 11 เมกะวัตต์ อายุสัญญาระหว่าง 10-20 ปี คาดว่าจะสร้างรายได้รวมตลอดอายุสัญญาประมาณ 650 ล้านบาท หรือมีรายได้เฉลี่ยต่อปี 40 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุนเฉลี่ย 8 ปี และมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนหรือ IRR 9%

ขณะที่ Smart city มีแผนขยายโครงสร้างพื้นฐานไปยังจังหวัดสำคัญๆ เพื่อช่วยในการพัฒนาเมือง มีความเป็นอยู่ที่ดี และ Smart Platform จะนำเทคโนโลยีไปช่วยในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมประกัน เพื่อลดต้นทุนลง คาดจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้

นางปรีญาภรณ์ เปิดเผยว่า งบลงทุนในปี 2565 วางไว้ที่ 500-600 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการโครงข่ายใยแก้วนำแสง ซึ่งมีลูกค้ารองรับแล้ว 100% คาดจะสามารถทยอยรับรู้รายได้ในไตรมาส 2/2566 ส่วนเรื่องสภาพคล่อง บริษัทมีเงินสดในมือและมีวงเงินในการขยายสินเชื่อสูง ปัจจุบันมีภาระหนี้ต่ำ สำหรับสินเชื่อโครงการเท่านั้น และมีต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.6%ต่อปี

ส่วนปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์ของลูกค้าในเมียนมา  ส่งผลกระทบทำให้บริษัทมีหนี้คงค้าง และต้องตั้งสำรองลูกหนี้การค้าในช่วงที่ผ่านมานั้น ขณะนี้บริษัทได้ทำข้อตกลงกับทางลูกค้าให้นำเงินจ๊าดมาจ่ายและบวกค่าธรรมเนียมเพื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาท ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีรายได้กลับคืนเข้ามา