IRPC-อินโนบิก ผนึก PJW  วิจัยต่อยอดธุรกิจ เพิ่มมูลค่า

HoonSmart.com>>กลุ่มปตท. โดย “ไออาร์พีซี”-“อินโนบิก” เซ็นเอ็มโอยู “ปัญจวัฒนาพลาสติก” ผนึก 3 กำลังแข็งแกร่ง พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากพลาสติกในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง กวาดตลาดในประเทศทดแทนการนำเข้าประมาณ 80-90% พร้อมลุยตลาดอาเซียน คาดเปิดตัวสินค้าตัวแรกปลายปีนี้ วางจำหน่ายภายในปี 2566 แผนลงทุนยังไม่ชัดเจนว่าจะทุ่มทุนสร้างโรงงานหรือจ้างผลิต เดินหน้าควบคู่กับการหาซื้อหุ้นบริษัทที่ยุโรปและสหรัฐที่มีนวัตกรรมเด่น สัดส่วน 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 หวังเติบโตเร็ว ด้าน PJW เผยเป้าหมาย 5 ปี จะมียอดขายรวมกว่า 10,000 ล้านบาท มาจากผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ 3,000-5,000 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิกระโดดจาก 5 % เป็น 9% เท่ากับอดีต

 

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. และ ประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) หรือ INNOBIC เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้ นำจุดแข็งของ 3 บริษัทมาร่วมกันศึกษาและหาโอกาสทางธุรกิจในธุรกิจวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์จากพลาสติก ภายใต้การร่วมศึกษาข้อมูลตลาดเครื่องมือแพทย์ การออกแบบและพัฒนาการผลิตเครื่องมือแพทย์ การศึกษาความเป็นไปได้ของตลาดในด้านต่างๆ และศึกษากฎเกณฑ์ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ทางธุรกิจ โดยตลาดวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์เติบโตปีละ 4-6% ต่อปี ขนาดของตลาดโลกมีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนตลาดในประเทศไทยมีขนาด 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการนำเข้ามาเกือบทั้งหมดประมาณ 80-90% จึงมองเห็นโอกาสทางธุรกิจมากกว่าการผลิตยาที่ต้องใช้เวลาวิจัยนานเป็น 10 ปี

กลุ่มปตท.และอินโนบิก มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมกลุ่ม NEW S Curve และการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ของรัฐบาล ซึ่งอุตสาหกรรมวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ถือเป็น NEW S Curve ที่สำคัญของประเทศไทย เป็นการสร้างฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ของอาเซียนในประเทศไทย สามารถสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมไทย โดยจะศึกษาเพื่อผลิตสินค้าที่มีความต้องการของตลาด แต่ยังไม่มีนวัตกรรมที่เหมาะสมและยังไม่ได้ผลิตในประเทศ สร้างรากฐานและเป็นตัวอย่างที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของไทยต่อไปในอนาคต

ดร.ณัฐ อธิวิทวัส รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการพัฒนาต่อเนื่องหลังจากทางอินโนบิกร่วมทุนกับบริษัทไออาร์พีซี ในการผลิตวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ ในกลุ่มผ้าชนิดไม่ถักไม่ทอ ที่เป็นวัสดุหลักของการผลิตหน้ากากอนามัย รวมถึงการร่วมทุน กับพันธมิตรกลุ่มวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อเป็นฐานผลิตในการอุปกรณ์การแพทย์ที่เป็น Durable Medical Device คาดหวังว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จ สามารถผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศไทยและกลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้ด้วย เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจวัสดุทางการแพทย์ของไทย

นายสมเกียรติ เลิศฤทธิ์ภูวดล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์แผนและพัฒนาธุรกิจองค์กร บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการขยายห่วงโซ่อุปทานธุรกิจปิโตรเคมีของไออาร์พีซีให้เติบโต ด้วยทิศทางตลาดเครื่องมือและวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ประกอบกับช่วงปี 2565 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged society) หรือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และอีก 9 ปี ข้างหน้า ในปี 2574 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจะเป็นโอกาสทางการตลาดที่ดี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ smart material กลุ่ม Specialty Plastic หรือเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ สำหรับผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข Smart Material ที่ได้คิดค้น วิจัย พัฒนาและผลิตเม็ดพลาสติก PP Meltblown วัตถุดิบหลักสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดกาวน์ เป็นรายแรกของประเทศ

“ไออาร์พีซีเป็นผู้นำในธุรกิจปิโตรเคมี เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกระดับโลก ถ้านำมาปรับปรุงใส่นวัตกรรมจะเพิ่มมูลค่ามากกว่า 5-10 เท่า และสามารถตอบโจทย์สังคม มุ่งหวังที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคง และแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในราคาที่ถูกกว่า ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และยังใช้ในการป้องกันดูแลสุขภาพได้ ปัจจุบันพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตและสาธารณสุขของคนไทย พร้อมทั้งสนับสนุนและผลักดันนโยบายของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็น Medical Hub อย่างเต็มรูปแบบ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน”นายสมเกียรติกล่าว

นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก (PJW) เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้ของ PJW เป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญ โดยเป็นหนึ่งใน Strategic Partner ร่วมกับกลุ่มในเครือปตท. เป็นสัญญาณที่ดีให้กับบริษัทฯ เนื่องจากนำจุดแข็งและความเชี่ยวชาญของทุกบริษัทมาต่อยอดธุรกิจ โดย IRPC มีศักยภาพความแข็งแกร่งในฐานะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเม็ดพลาสติกชั้นนำในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ INNOBIC มุ่งเน้นดำเนินการลงทุนในธุรกิจยา ธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ดังนั้นจึงเชื่อว่าความสำเร็จในครั้งนี้จะช่วยต่อยอดและพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์สู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากพลาสติกในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง ที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานสูงสุด

สำหรับ PJW เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับกลุ่มปตท.มามากกว่า 20 ปี โครงการนี้ได้ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2564 ก่อนที่จะถึงวันที่เซ็นเอ็มโอยู เราเก่งด้านการผลิต มีโรงงานรับจ้างผลิตที่จีน แต่เพิ่มมูลค่าไม่ได้มากและไม่เร็วพอ การเดินหน้าด้วยกลุ่มปตท.จะได้รับการยอมรับจากต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น คาดว่าสินค้าตัวแรกจะแล้วเสร็จภายในช่วงปลายปี 2565นี้ คือการให้ความชื้นออกซิเจน ปัจจุบันโรงพยาบาลส่วนใหญ่ใช้ซ้ำผ่านการล้าง ทำให้มีค่าใช้จ่ายโดยรวมสูงกว่าผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง ในระยะแรกอาจะเริ่มจากการสั่งผลิต (OEM) สินค้า เพื่อนำมาจำหน่ายก่อน โดยบริษัทลงทุนเครื่องจักร หลังจากนั้นจะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อก่อสร้างโรงงานและลงทุนเครื่องจักร ในกรอบ MOU นอกจากจะพัฒนาสินค้าด้วยตัวเองแล้ว ยังจะมีการศึกษาและมองหาโอกาสในการเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ของบริษัทในยุโรปหรือสหรัฐที่มีนวัตกรรมดานนี้ เพื่อที่จะนำองค์ความรู้ต่างๆ เข้ามาช่วยในการสนับสนุนและเร่งรัดการเติบโตของบริษัท

ส่วนการดำเนินงานของ PJW นายวิวรรธน์กล่าวว่า บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้จากผลิตภัณฑ์วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์จะอยู่ที่ 3,000-5,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีจากนี้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้รายได้รวมมากกว่า 10,000 ล้านบาท และสนับสนุนให้อัตรากำไรขั้นต้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 18-19% เพิ่มเป็นกว่า 20% เช่นเดียวกับอัตรากำไรสุทธิเพิ่มจากระดับ 5 % เป็นกว่า 9% เหมือนในช่วง 3 ปีแรกของการเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2555 อย่างไรก็ดี บริษัทคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากการจำหน่ายในปี 2566 เป็นต้นไป

นายวิวรรธน์กล่าวว่า ในปี 2565 ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนของชิป ตลอดจนการล็อกดาวน์ของประเทศจีน ทำให้บริษัทได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าในจีนลดลง แต่ด้วยสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้จะเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้น รวมถึงธุรกิจบรรจุภัณฑ์น้ำมันเครื่อง นม นมเปรี้ยว ก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน คาดว่าทุกธุรกิจจะกลับมาเติบโตได้อย่างมีนัยยะสำคัญในปี 2566