MFC ชูหุ้นเฮลธ์แคร์สู้เงินเฟ้อสูง ราคาย่อตัวหนุนอัพไซด์ 15-20%

HoonSmart.com>> “บลจ.เอ็มเอฟซี” มองหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ ราคาย่อตัวน่าสนใจ แนวโน้มกำไรเติบโต ธุรกิจเมกะเทรนด์ ฝ่าเงินเฟ้อและขึ้นดอกเบี้ย ชูกองทุน MHEALTH กระจายพอร์ตลงทุนหุ้น Defensive-Growth ผ่านกองทุนหลัก BlackRock ชูจุดเด่นผลตอบแทนสูง ความผันผวนต่ำ ประเมินอัพไซด์หุ้นในพอร์ต 15-20% ด้าน “หมอวิน” คาดรายได้กลุ่มโรงพยาบาลในไทยยังสูง คนกลับไปใช้บริการเพิ่มขึ้นหลังโควิดแผ่ว ส่วนลงทุนต่างประเทศยังผันผวน แนะพึ่งผู้เชี่ยวชาญลงทุน

ดร.ชาญวุฒิ รุ่งแสงมนูญ, FRM ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กองทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี (MFC) กล่าวในงานสัมมนา “โอกาสลงทุนในธุรกิจ Healthcare กับกองทุน MHEALTH” ว่า หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์น่าสนใจจากปัจจัยบวกสนับสนุนจากจำนวนประชากรสูงอายุที่มากขึ้นทั่วโลก ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็สูงขึ้นตามอายุ รวมทั้งการเติบโตของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า การใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดและอื่นๆ ส่งผลให้กลุ่มเฮลธ์แคร์เติบโต

ด้านผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ในช่วงที่่ผ่านมาถือว่าน่าสนใจ สูงกว่าธุรกิจอื่นๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 10% และมีระดับความผันผวนที่ต่ำกว่า แม้ในช่วงตลาดผันผวนทำให้หุ้นทุกตัวลดลง แต่ราคาหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์เมื่อเทียบหุ้นโลกยังเติบโต

“ปัจจุบันราคาหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ซื้อขายถูกกว่าค่าเฉลี่ยเดิม 19% พี/อี เทรดต่ำกว่า 1 Standard Valuation ถือว่าน่าสนใจ ในช่วงที่ตลาดแบบนี้ เงินเฟ้อสูง หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์สามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อไปได้ ซึ่งเฮลธ์แคร์เป็น 1 ใน 3 กลุ่มที่ผลตอบแทนเป็นบวกในช่วงที่เงินเฟ้อสูง นอกเหนือจากกลุ่มพลังงานและเทเลคอม”ดร.ชาญวุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ตามหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์มีหลายกลุ่มทั้ง Defensive และ Growth Stock ซึ่งในส่วนของ Growth Stock ราคาหุ้นจะปรับขึ้นเร็วและมีระยะเวลาต้องดูใครจะเป็นผู้ชนะที่แท้จริง หากมีในพอร์ตก็จะสร้างการเติบโต แต่ถ้ามีมากไปจะไม่สมดุล ทำให้พอร์ตเหวี่ยงได้ การลงทุนจึงต้องผสมผสาน กระจายไปในหลายกลุ่มเฮลธ์แคร์

บลจ.เอ็มเอฟซี นำเสนอกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี เฮลธ์ อินโนเวชั่น (MHEALTH) เปิดขายครั้งแรก (IPO) วันที่ 6-15 มิ.ย.2565 โดยลงทุนใน BGF World Healthscience Fund (กองทุนหลัก) กระจายการลงทุนผสมผสานระหว่าง 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์และ 2.กลุ่มบริการทางการแพทย์ ซึ่งจัดเป็นหุ้นคุณภาพ ธุรกิจที่มีเสถียรภาพ เป็นกลุ่ม Defensive ทนทานต่อความผันผวน พี/อี ไม่สูง มีการเติบโตค่อนข้างดี 10-15% ส่วนกลุ่ม 3.ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพและ 4.ธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็น Growth Stock การเติบโตสูง เป็นกลุ่มที่เพิ่มอัตราผลตอบแทน แต่ถ้ามีมากในพอร์ตก็ทำให้ผันผวน การลงทุนจึงต้องบริหารให้มีความเหมาะสม

นอกจากนี้กองทุนหลัก ได้รับ Morningstar 5 ดาว บริหารโดย BlackRock ที่มีการลงทุนที่ยืดหยุ่นมีการควบคุมและกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม กองทุนหลักลงทุนในบริษัทระดับชั้นนำด้าน Healthcare เช่น UNITEDHEALTH GROUP INC, Johnson&Johnson, Astrazeneca PLC, PFIZER INC, SANOFI SA และ ELI LILLY ที่มีกิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ เภสัชกรรม เทคโนโลยีทางการแพทย์ และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพ

“MFC เลือกกองทุนหลักกองนี้ เพราะสามารถรับได้กับทุกสภาวะตลาด โดยผู้จัดการกองทุนหลักจะบริหารความเสี่ยง มอนิเตอร์ความเสี่่ยงอย่างเข้มข้น กลุ่มไหนมีราคาแพงก็จะรีบาลานซ์พอร์ต อีกทั้งกองทุนมีความผันผวนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรมและผลตอบแทนค่อนข้างดี ได้รับมอร์นิ่งสตาร์ 5 ดาว เน้นหุ้นกลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์และกลุ่มบริการทางการแพทย์สัดส่วน 60% ส่วนกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สัดส่วน 30% ที่เหลือลงทุนอื่นๆ โดยกองทุนหลักมีมูลค่าสินทรัพย์ขนาดใหญ่ถึง 4.8 แสนล้านบาท ในพอร์ตลงทุนในหุ้น 99 ตัว”ดร.ชาญวุฒิ กล่าว

นอกจากนี้ความน่าสนใจลงทุน เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการเติบโตของกำไรในพอร์ต 1 ปีข้างหน้า อยู่ที่ 23.7% และ 2 ปีข้างหน้า 17.9% ข้อมูล ณ สิ้นเดือนพ.ค.2565 ขณะที่พี/อีโรโช 1 ปีข้างหน้า 13.8% และ 2 ปีอยู่ที่ 15.5% ซึ่งการเติบโตน่าสนใจและพี/อีไม่แพงมาก PEG ต่ำกว่า 1

“แนวโน้มผลประกอบการของหุ้นจากพอร์ตกองทุนหลัก ณ สิ้นเดือนพ.ค.2565 จะมีอัพไซด์ประมาณ 15-20% ค่อนข้างสูงระดับหนึ่ง แม้ถือหุ้น Defensive 60%เนื่องจากราคาปรับตัวลงมาและบริษัทที่ลงทุนมีรายได้สม่ำเสมออยู่แล้ว อีกส่วนมาจากหุ้น Growth ที่จะเพิ่มผลตอบแทนส่วนที่เหลือ ซึ่งในช่วงเวลานี้จึงมองการลงทุนน่าสนใจจากตลาดปรับตัวลงมา”ดร.ชาญวุฒิ กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์แนะนำจัดสรรพอร์ตลงทุน 15-20% จากน้ำหนักในหุ้นทั้งหมดสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง ส่วนผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง น้ำหนักการลงทุนเฮลธ์แคร์ในพอร์ตก็เท่าเดิม เพียงแต่นักลงทุนต้องลดน้ำหนักจากพอร์ตหุ้นรวมลงจาก 100% อาจเหลือหุ้นเพียง 50% และน้ำหนักหุ้นเฮลธ์แคร์ 10% หรือ 7.5%

ดร.ชาญวุฒิ กล่าวว่า การลงทุนต้องมองความเสี่ยง ปัจจุบันตลาดผันผวนสูง แต่มองระยะยาวการลงทุนในหุ้นยังจำเป็น เพราะต้องสู้กับเงินเฟ้อ หากลงทุนตราสารหนี้ช่วงนี้ผลตอบแทนติดลบหรือบวกเล็กน้อย กลุ่มที่เป็นประโยชน์คือกลุ่มปัจจัย 4 ซึ่งเฮลธ์แคร์ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ด้านนายณพกิตติ์ จันทานานนท์ SEA Client Business Representative, BlackRock Inc. กล่าวว่า หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์เป็นกลุ่มที่น่าจับตามองและน่าสนใจของนักลงทุน แต่หุ้นในกลุ่มเฮลธ์แคร์มีหุ้นหลายกลุ่ม ซึ่งมีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนได้ไม่เท่ากัน หากย้อนหลังดูผลตอบแทนใน 10 ปีที่ผ่านมา หรือในปี 2555 หุ้นที่เป็นผู้ชนะเป็นกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ ส่วนหุ้นกลุ่มบริการทางแพทย์ผลตอบแทนน้อยสุดอยู่แค่ 8% แต่กลับกันปี 2564 กลุ่มบริการทางการแพทย์สร้างผลตอบแทนเกือบ 30% ในขณะที่กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ ตกลงมาอยู่อันดับสามผลตอบแทนเพียง 10% ดังนั้นการลงทุนในกลุ่มเฮลธ์แคร์ไม่ควรกระจุกตัวในกลุ่มใดกลุ่มเดียว การลงทุนที่ดีต้องกระจายการลงทุน ช่วยลดความเสี่ยง ซึ่งกองทุน MHEALTH จึงเป็นทางเลือกที่ดีในการลงทุน

นพ.รัชต์ชยุตม์ จีระพรประภา หรือหมอวิน นักลงทุนรายใหญ่ กล่าวว่า หลังเกิดโควิด-19 พบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหุ้นที่มีกำไรผ่านพ้นช่วงวิกฤตโควิดและตุนเงินสด เก็บกำไรได้มีเพียงกลุ่มเดียวคือกลุ่มเฮลธ์แคร์ ซึ่งในไทยไม่เหมือนต่างประเทศที่จะมีธุรกิจไบโอเทคโนโลยีและอื่นๆ อีกมาก แต่กลุ่มเฮลธ์แคร์ในไทยจะเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเป็นหลัก ถือเป็นกลุ่มใหญ่ของดัชนีในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งแนวโน้มของกลุ่มโรงพยาบาลในไทยก็ยังมีความน่าสนใจ

“จากข้อมูล Top 8 โรงพยาบาลในไทย กำไรก่อนโควิดในปี 2562 อยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท พอเกิดโควิด-19 ในปี 2564 กำไรเพิ่มขึ้น 50% อยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท และในปี 2565 นี้คาดการณ์กำไร 2.2 หมื่นล้านบาทและปีถัดไป 2.4 หมื่นล้านบาท แม้โควิด-19 จะค่อยๆ น้อยลง แต่เชื่อว่าไม่หายไปจากโลกนี้”หมอวิน กล่าว

ปัจจุบันหุ้นกลุ่มรพ. ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีหนี้น้อย เงินสดเยอะและอนาคตเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งจะเห็นได้ว่าช่วงเกิดโควิด-19 ที่ผ่านมารายได้โควิดปี 2564 เพิ่มขึ้นจากสายพันธ์ุเดลต้า พอโอไมครอนเข้ามา คนฉีดวัคซีนเยอะ ความรุนแรงไม่เท่าเดลต้า ทำให้รายได้จากโควิด-19 น้อยลง แต่ไม่ได้ทำให้กำไรโรงพยาบาลต่ำลงมากนักและมองว่าต่อจากนี้ไปกลุ่มโรงพยาบาลจะมีรายได้จากส่วนที่ไม่ใช่โควิด-19 มากขึ้น

หมอวิน กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีแรกที่เกิดโรคระบาดหรือปี 2563 ที่มีโควิด-19 คนไม่กล้าไปโรงพยาบาล เพราะกลัวติดเชื้อ แต่ปี 2564 คนติดโควิด-19 ก็ไปโรงพยาบาล เพื่อดูแลรักษาร่างกาย แต่คนที่รอดจากโควิด-19 พอปี 2565 คนก็กลับเข้าไปโรงพยาบาลมากขึ้นรักษาโรคเรื้อรัง มีการผ่าตัดมากขึ้น และบางกลุ่มก็กลับเข้าไปดูแลสุขภาพ เทรนด์สุขภาพก็มากขึ้น จึงเห็นหุ้นโรงพยาบาลกำไรดีและอีกกลุ่มที่แจ้งกำไรออกมาดี คือ กลุ่มที่เกี่ยวกับสุขภาพ ยา วิตามิน กำไรแทบจะออลไทม์ไฮ เทรนด์สุขภาพเริ่มมาทางนี้มากขึ้นเป็นเมกะเทรนด์อันหนึ่ง ขณะเดียวกันจะเห็นภาพโรงพยาบาลขนาดใหญ่มีการลงทุนค่อนข้างสูงสะท้อนแนวโน้มธุรกิจเข้าสู่สูงวัย

“เรามองแนวโน้มรายได้ของกลุ่มโรงพยาบาลในปีนี้ยังนิวไฮ จากคนที่ต้องเข้าไปดูแลรักษาโรคประจำตัวของแต่ละคน เทรนด์สุขภาพ ทำให้รายได้อาจไม่ได้ลดลง ขณะที่โรงพยาบาลอินเตอร์เนชั่นแนล ที่ผ่านมาอาจได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง แต่ตอนนี้เริ่มเปิดเมือง แม้จีนจะเข้ามาไม่เยอะเพราะยังดำเนินนโยบาย COVID-ZERO แต่กลุ่มอินเดียก็เข้ามาแทนจีน คนเข้ามารักษาดูแลสุขภาพมากขึ้นหลังเกิดโควิด-19″หมอวิน กล่าว

ส่วนการลงทุนหุ้นเฮลธ์แคร์ในต่างประเทศ มีหุ้นนวัตกรรมจำนวนมาก แต่ต้องยอมรับว่าปี 2565 เป็นอีกปีที่การลงทุนไม่ง่าย หุ้นเทคต่างประเทศก็ปรับตัวลงแรงสู่ภาวะตลาดหมี ซึ่งการลงทุนเทรนด์อนาคต เทคโนโลยีชีวภาพ แนะนำการลงทุนเหล่านี้ต้องหาผู้เชี่ยวชาญ อย่าเฉลี่ยและอย่าลงทุนมาก เพราะหุ้นบางตัวอาจเห็นผลในอนาคต 10 ปี เทคโนโลยีจะไปถึง แต่ตอนนี้ยังไม่เห็น จึงมองการลงทุนที่ต้องตามไปเรื่อยๆ น่าจะดีกว่า

หมอวิน กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปี 2565 อาจบวกลบประมาณ 2% ขณะที่กลุ่มเฮลธ์แคร์ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 15% ซึ่งเวลามีสงครามจะมีทั้งกลุ่มได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ต้องหากลุ่มที่ได้ประโยน์ในภาวะปกติ ซึ่งเฮลธ์แครก็ก็เป็นหนึ่งในคำตอบ แต่จะหาหุ้นที่ชนะได้หรือไม่ ในตลาดหุ้นไทยก็มีหุ้นโรงพยาบาล ส่วนต่างประเทศ มีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ ความเสี่ยงแต่ละตัวมีต่างกัน ดังนั้นต้องเลือกสรรและหาหุ้นให้ถูกตัว

“การลงทุนในปีนี้เป็นปีที่ค่อนข้างยาก เจอภาวะไม่ปกติจากโรคระบาด การลด QT เพิ่มดอกเบี้ย เงินเฟ้อ แต่ก็มีโอกาสที่ตามมา”หมอวิน กล่าว