ต่างชาติซื้อหุ้นไทยติดต่อกันเป็นวันที่ 4 แต่กลับขายในตลาด TFEX ถึง 10,646 สัญญา สะท้อนถึงความไม่มั่นใจ หลังดัชนีพุ่งแรง 26 จุด ทะลุแนวต้านสำคัญ 1,730 จุด ฝีมือสถาบันไทยไล่เก็บ 4,853 ล้านบาท กองทุนมีเงินสดในมือมาก กลัวตกรถต้องรีบซื้อ วันเลือกตั้งชัดเจน ไม่สนใจสงครามการค้าสหรัฐ-จีนเดือดรอบใหม่
ตลาดหุ้นไทยฉีกตัวออกห่างตลาดเกิดใหม่ วันที่ 18 ก.ย.2561 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์พุ่งแรงกว่า 30 จุด ก่อนปิดที่ระดับ 1,744.42 จุด บวก 26.03 จุด หรือ 1.51% ด้วยมูลค่าการซื้อขายมากถึง 79,655 ล้านบาท ตามแรงซื้อของสถาบันในประเทศ 4,853 ล้านบาท ต่างชาติซื้อต่อเนื่องเป็นวันที่สี่ จำนวน 1,497 ล้านบาท ส่วนรายย่อยขายทำกำไรร่วม 7,033 ล้านบาท
ทางด้านตลาดอนุพันธ์ S50U18 ปิด 1,155 จุด เพิ่มขึ้น 25.60 จุด หรือ 2.27% ทำจุดสูงสุดได้ในรอบ 2-3 เดือน โดยนักลงทุนต่างชาติขาย 10,646 สัญญา กองทุนขาย 3,690 สัญญา และนักลงทุนในประเทศซื้อ 14,336 สัญญา
มาร์เก็ตติงกล่าวว่า ตลาดหุ้นมีพื้นฐานแข็งแรง หลังจากมีแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่เข้ามาในช่วงบ่าย ทำให้ดัชนีสามารถทะลุแนวต้านสำคัญที่ 1,730 จุดไปได้อย่างรวดเร็ว แม้ตลาดยังมีแรงกดดันจากสงครามการค้า กรณีสหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนรอบที่สอง มากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีนประกาศจะตอบโต้ก็ตาม รวมถึงความกังวลเรื่องวิกฤตการณ์ทางเงินของประเทศเกิดใหม่
แหล่งข่าวจากกองทุน กล่าวว่า แรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในช่วงนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากกองทุนมีเงินสดในมือ จึงรีบกระโดดเข้าซื้อหุ้น หลังการเลือกตั้งชัดเจน ถึงแม้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังสร้างความกกดันต่อตลาดก็ตาม
“ที่ผ่านมาเงินไหลเข้ากองทุนหุ้นเยอะ นักลงทุนเข้ามาซื้อตอนหุ้นลง แต่ผู้จัดการกองทุนก็ไม่ได้รีบซื้อหุ้นในทันที ขณะเดียวกันก็ปรับพอร์ตขายหุ้นบางตัว แต่พอการเมืองเริ่มชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น เพราะในแง่ปัจจัยพื้นเศรษฐกิจไทยและกำไรบจ.ยังเติบโตเมื่อเทียบกับหลายประเทศในแถบนี้”ผู้จัดการกองทุน กล่าว
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บลจ.ไทยพาณิชย์ ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อดัชนีหุ้น จากปัจจัยบวกภายในประเทศทั้งเศรษฐกิจที่ยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง การเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนก.พ.-พ.ค. ประกอบกับค่าเงินบาทไทยที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ประเด็นเรื่องสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่อาจจะส่งผลกระทบในช่วงสั้น การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางยุโรป รวมถึงการลดวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดัน ทำให้หุ้นไทยไม่สามารถปรับขึ้นไปอยู่ในระดับ 1,750-1,800 จุดได้ จนกว่าปัจจัยกดดันต่าง ๆ จะมีความชัดเจนมากขึ้น