HoonSmart.com>>ก.ล.ต.เปิดรับฟังความคิดเห็นปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน กรณีเงินลงทุนสูงกว่า 1,000 ล้านบาท ต้องยื่นคำขอและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน(ก.ต.ท.) มีเวลาพิจารณาภายใน 60 วัน หากเฮียริ่งผ่าน อาจจะส่งผลต่อดีล บล.ไทยพาณิชย์ที่มีเงินกองทุน 3,187 ล้านบาท ณ สิ้นปี 64 จะซื้อหุ้นบิทคับฯ 51% กว่า 1 หมื่นล้านบาท
วันที่ 20 พ.ค. 2565 เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ได้เปิดเผยเอกสารรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “หลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจอื่นของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” โดยเริ่มเฮียริ่งตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 6 มิ.ย.2565
ที่มาของการปรับปรุงหลักเกณฑ์นี้ เนื่องจากมาตรา 98(8) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กำหนดห้ามบริษัทหลักทรัพย์(บล.)ประกอบธุรกิจอื่น ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักทรัพย์ในประเภทที่ได้รับอนุญาต เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน(ก.ต.ท.) ปัจจุบันมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการอนุญาตเป็นรายประเภทธุรกิจ เช่น การเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ และกรณีอนุญาตเป็นการทั่วไป หากบล.มีการดำเนินการตามเงื่อนไข รวมถึงการลงทุนในกิจการอื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่า 50% ขึ้นไปของทุนทั้งหมดของกิจการ ที่มีลักษณะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ถือว่าได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั้งในด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรของผู้ลงทุน ส่งผลให้เกิดพัฒนาการของผลิตภัณฑ์ทางการเงินและบริการรูปแบบใหม่ๆ บล.จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ตอบโจทย์ความต้องการในสินค้าและบริการใหม่ๆ รวมทั้งขยายฐานรายได้และลดต้นทุน ซึ่งหนึ่งในแนวทางการปรับตัว คือการประกอบธุรกิจอื่น ซึ่งอาจมีมูลค่าสูง หรือมีความเสี่ยงสูง หรืออาจไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาต เสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน ระบบการให้บริการในธุรกิจหลักทรัพย์ ประโยชน์ของผู้ลงทุน และความเชื่อมั่นในตลาดทุนได้
ดังนั้นสำนักงานก.ล.ต.จึงเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจอื่นของบล.ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อตลาดทุน โดยหลักการนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2565
สาระสำคัญของการเสนอปรับปรุงหลักเกณฑ์ การประกอบธุรกิจอื่นของบล.สามารถอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง คือ 1.ประกอบธุรกิจอื่นภายในบริษัทเอง
2.ประกอบธุรกิจอื่น โดยบล.ถือหุ้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมตั้งแต่ 20% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทนั้น (แก้ไขจากเกินกว่า 50% เนื่องจากตามมาตฐานบัญชีจะถือว่าการเข้าถือหุ้นในกิจการโดยมีอำนาจในการออกเสียงโดยทางตรงหรือทางอ้อมอย่างน้อย 20% ถือเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า มีอำนาจในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินและการดำเนินงานของกิจการนั้น ) หรือบล.มีอำนาจในการควบคุมในกิจการอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การมีตัวแทนในกรรมการ หรือคณะผู้บริหารอื่นที่เทียบเท่าคณะกรรมการบริษัท มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจเกี่ยวกับเงินปันผลหรือการแบ่งปันส่วนทุนอื่นๆ ทั้งนี้เป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์การอนุญาตประกอบธุรกิจอื่น กรณีทั่วไปยังคงมีอยู่ต่อไป เช่น กรณีมูลค่าของเงินลงทุนน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1,000 ล้านบาท และไม่เกินกว่า 50% ของเงินกองทุนของบล. ให้บล.แจ้งสำนักงานก.ล.ต.ก่อนเริ่มประกอบธุรกิจอย่างน้อย 5 วันทำการ โดยต้องจัดให้ความพร้อมในการประกอบธุรกิจอื่นตามเกณฑ์
ส่วนกรณีมูลค่าเงินลงทุนมีนัยสำคัญ เกินกว่า 50% ของเงินกองทุนของบล. แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท อนุญาตเป็นการทั่วไป โดยมีเงื่อนไขว่าบล.ต้องนำส่งข้อมูล เอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวกับธุรกิจอื่น และระบบงานต่อสำนักงานก่อนเริ่มประกอบธุรกิจ (ต้องมีหนังสือยินยอมให้สำนักงานก.ล.ต.เข้าตรวจสอบบริษัทที่ประกอบธุรกิจอื่นนั้นด้วย) แต่ต้องไม่ทักท้วงภายใน 15 วันทำการ หากทักท้วง จะเสนอต่อคณะกรรมการกำกับตลาดทุนเพื่อพิจารณาต่อไป
สำหรับกรณีมูลค่าเงินลงทุนสูง มากกว่า 1,000 ล้านบาท บล.ต้องยื่นคำขอและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุนก่อนเริ่มประกอบธุรกิจอื่น โดยบล.ต้องยื่นคำขอ พร้อมทั้งข้อมูล เอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวกับธุรกิจอื่น และระบบงานต่อสำนักงานก.ล.ต.(ต้องมีหนังสือยินยอมให้สำนักงานก.ล.ต.เข้าตรวจสอบบริษัทที่ประกอบธุรกิจอื่นนั้นด้วย) ทั้งนี้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนจะแจ้งผลการพิจารณาภายใน 60 วันนับจากวันที่สำนักงานได้รับคำขอ
นอกจากนั้น บล.จะต้องจัดให้มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจอื่น ในเรื่องเงินทุน ระบบงาน และบุคลากร เช่นกรณีที่มีการลงทุนเกินกว่า 1,000 ล้านบาท หรือเกินกว่า 50% ของเงินกองทุนบล.ต้องมีการประมาณการทางการเงิน เพื่อแสดงได้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้าและความเชื่อมั่นในตลาดทุน รวมถึงการจัดทำระบบงานเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงและการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เช่น กรณีมีการประกอบธุรกิจอื่นประเภท สินทรัพย์ดิจิทัล ห้ามชักชวนผู้ลงทุนซื้อขาย/ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท crypto และห้ามปล่อยกู้ในการซื้อขาย/ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น
หลักเกณฑ์ใหม่ยังกำหนดกลุ่มธุรกิจที่ห้ามทำ เนื่องจากยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลที่ชัดเจน หรืออาจมีลักษณะเป็นการเลี่ยงกฎหมายอื่น ได้แก่ธุรกิจ Decentralized Finance (DeFi) และธุรกิจการให้บริการเป็นตัวกลางให้บุคคลธรรมดาเข้าทำสัญญาเงินกู้กับบุคคลอื่น
ทั้งนี้หลักเกณฑ์ที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ หากไม่มีการแก้ไข และมีการประกาศใช้ตามที่กำหนดใหม่ อาจจะส่งผลกระทบต่อดีลบล.ไทยพาณิชย์ ที่มีทุนเรียกชำระแล้ว 2,100 ล้านบาท และเงินกองทุนจำนวน 3,187 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 กำลังพิจารณาซื้อหุ้นของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ ในสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด กำหนดราคาเบื้องต้น 17,850 ล้านบาท เพราะเข้าหลักเกณฑ์ มูลค่าเงินลงทุนสูง มากกว่า 1,000 ล้านบาท บล.ต้องยื่นคำขอและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุนก่อนเริ่มประกอบธุรกิจ