HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดิ่งหนัก ดัชนีดาวโจนส์ปิดทรุด 1,164 จุด ร่วงกว่า 3.57% ด้าน S&P 500 -4.04% Nasdaq ดิ่ง 4.73% จากผลประกอบการที่ผิดคาดของบริษัทค้าปลีกหลายราย ต้นทุนสูง เงินเฟ้อพุ่งกระทบธุรกิจ ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 2.81 ดอลลาร์ ตลาดหุ้นยุโรปร่วง แรงขายกลุ่มเทคโนโลยีนำ วิตกเงินเฟ้อหลังอังกฤษรายงาน CPI พุ่งสูงสุดรอบ 40 ปี
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ปิดที่ 31,490.07 จุด ร่วงลง 1,164.52 จุด หรือ 3.57% เป็นการลดลงมากสุดนับตั้งแต่ปี 2020 จากผลประกอบการที่ผิดคาดของบริษัทค้าปลีกหลายราย รวมทั้งคำเตือนเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้นจากบริษัท ยิ่งตอกย้ำความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดแรงเทขายหนัก
ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,923.68 จุด ลดลง 165.17 จุด, -4.04%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,418.15 จุด ลดลง 566.37 จุด, -4.73%
นักลงทุนยังวิตกต่อการให้ความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลาง(เฟด)จำนวนหนึ่งที่ยืนยันเป้าหมายการคุมเงินเฟ้อ
ตลาดเจอแรงเทขายจากผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ ทาร์เก็ต และวอลมาร์ท ที่ทำให้นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งกระทบผลการกำไรและความต้องการของผู้บริโภค ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ลดลงกว่า 800 จุดเป็นครั้งที่ 5 ในปีนี้
บริษัททาร์เก็ตปรับลดคาดการณ์กำไรทั้งปีลงจากต้นทุนสินค้าและค่าขนส่งที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายด้านขนส่งเพิ่มขึ้นราว 1 พันล้านดอลลาร์จากราคานำมันที่สูงขึ้น ขณะที่ในวันก่อนหน้า วอลมาร์ทรายงานผลการดำเนินต่ำกว่าคาด และลดคาดการณกำไรทั้งปีลง จากค่าจ้าง ราคาน้ำมันและราคาอาหารที่สูงขึ้น
หุ้นทาร์เก็ตลดลง 24.9% หุ้นวอลมาร์ทลดลง 6.8%
แจ๊ค แอบลินประธานเจ้าหน้าที่ด้านการลงทุนจาก Cresset Capital กล่าวว่า นักลงทุนเห็นว่าแม้หุ้นที่จัดว่าเป็นหุ้นปลอดภัยหรือ safe haven stocks อย่างทาร์เก็ตหรือวอลมาร์ทก็ยังไม่รอด จากเงินเฟ้อและต้นทุนที่สูงขึ้น
ขณะเดียวกันตลาดได้รับแรงกดดันจากการที่เฟดมุ่งมั่นในการดึงเงินเฟ้อลงด้วยการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เกิดความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย
หุ้นค้าปลีกอื่นต่างปรับตัวลดลง โดยหุ้นแอมะซอนลดลง 7.2% หุ้นเบสต์บายลดลง 10.5% หุ้นดอลลาร์ เจนเนอรัลลดลง 11.1% หุ้นดอลลาร์ทรีลดลง 14.4% หุ้นเมซีลดลง 10.7% หุ้นโคห์ลสลดลง 1%
หุ้นโลว์ส ค้าปลีกรายใหญ่อีกรายลดลง 5.3% จากยอดขายที่ต่ำกว่าคาด
เจเรมี แกรนแธม นักลงทุนที่มีชื่อเสียงในด้านการชี้ชัดถึงภาวะฟองสบู่ให้สัมภาษณ์รายการ “The Exchange” ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า การตกลงของตลาดครั้งนี้รุนแรงกว่าภาวะฟองสบู่กลุ่มเทคโนโลยีในปี 2000 และราคาหุ้นจะตกลงได้ถึงสองเท่า และอาจจะลากยาวได้ถึงสองปี
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลงต่ำกว่า 2.9%
ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง นำโดยกลุ่มเทคโนโลยีที่ลดลง 2.8% นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อหลังอังกฤษรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พุ่งสูงในรอบ 40 ปี ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางดำเนินนโยบายเชิงรุกจนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว
ดัชนี CPI ของอังกฤษเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 9% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากราคาอาหารและนำมันที่เพิ่มขึ้น
สำนักงานสถิติของอียูรายงานเงินเฟ้อของยูโรโซนเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 7.4% สูงเป็นประวัติการณ์
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมนีอายุ 2 ปี ซึ่งอ่อนไหวกับการขึ้นดอกเบี้ย ลดลงมาที่ 0.365% หลังจากแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2011 ที่ 0.444% จากการให้ความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลาง
นายคลาสส์ น็อต จากธนาคารกลางสหภาพยุโรป( European Central Bank) กล่าวเมื่อวันอังคารว่า อาจจะมีความเป็นไปได้ในกรขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนกรกฎาคมหากเงินเฟ้อสุงขึ้นอีก
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 433.95 จุด ลดลง 5.02 จุด, -1.14%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,438.09 จุด ลดลง 80.26 จุด, -1.07%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,352.94 จุด ลดลง 77.25 จุด, -1.20%,
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,007.76 จุด ลดลง 178.18 จุด, -1.26%
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนมิถุนายนลดลง 2.81 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 109.59 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนกรกฎาคมลดลง 2.82 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 109.11 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล