กลุ่มเหมืองขุดบิทคอยน์ไม่กลัววิกฤต ฉวยโอกาสซื้อเครื่องถูก

HoonSmart.com>>หุ้นในกลุ่มเหมืองขุดบิทคอยน์ดิ่งลงแรง 30-65% หลังเกิดวิกฤตคริปโต บริษัทประกาศเดินหน้าลงทุนต่อไป “ชัยวัฒนาฯ”มองเห็นโอกาสซื้อเครื่องขุดราคาถูก  จุดเด่นต้นทุนไฟฟ้าถูก ไม่มีปัญหา  ราคาเหรียญยังอยู่ในกรอบที่รับได้  ยันไม่มีเหรียญ LUNA “อีสต์โคสท์ฯ”ไม่กลัว ส่วนใหญ่ขุดหาเหรียญอีเธอเรียม  ราคายังสูง ธุรกิจมีอนาคต คนพร้อมที่จะเรียนรู้ “สีเดลต้า”กระโดดเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

10 บริษัทที่ประกาศทำธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ ราคาหุ้นทรุดลงแรงระหว่าง 30-65% นับตั้งแต่เกิดวิกฤตคริปโต หากนำราคาปิดวันที่ 13 พ.ค.2565 เปรียบเทียบกับราคาสูงสุดในรอบ 1 ปี  พบว่า ZICA ดิ่งหนักที่สุดถึง 65% จากที่เคยขึ้นไปสูงสุดแตะ 24.60 บาท ลงมาเหลือเพียง 8.50 บาท แต่ก็ยังคงสูงกว่ามากจากระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีที่ 3.72 บาท ส่วน JTS เพิ่งปรับตัวลงแรงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมลดลง 32% หากเทียบกับราคาปิดล่าสุดที่ 402 บาทกับจุดสูงสุดที่ 594 บาท ซึ่งยังห่างไกลมากจากระดับต่ำสุดเพียง 11.90 บาท

สำหรับบริษัทที่ลงทุนในเหรียญบิทคอยน์โดยตรง นำโดยบริษัท BROOK ราคาหุ้นก็ไหลลงแรงถึง -42% ปิดที่ 0.71 บาท เทียบกับราคาสูงที่สุด 1.22 บาท  หลังจากราคาบิทคอยน์ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว  ณ วันที่ 14 พ.ค.2565 ซื้อขายที่ราคา 28,769.70 ดอลลาร์ เพียง1วัน ติดลบ 462.40 ดอลลาร์ หรือ -1.58%  5 วัน ลดลง -4.35%
1เดือน -27.99% และ6 เดือนดิ่งลง -55.95%

นายวีระพล ไชยธีรัตต์ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) ซึ่งลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์เปิดเผยว่า วิกฤตคริปโตที่เกิดขึ้นทำให้ต้องระมัดระวังมากขึ้น แต่สำหรับบริษัทถือเป็นโอกาสที่จะซื้อเครื่องขุดบิทคอยน์ได้ในราคาถูก เพราะราคาบิทคอยน์ตก คนก็ไม่ซื้อเครื่องขุดจากการมองไม่คุ้มการลงทุน อีกทั้งบริษัทได้ใช้ของเหลือใช้ไม่ต้องลงทุนคือไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่ถูกมาก

ทั้งนี้ บริษัทเพิ่งจะเตรียมการ ยังไม่ได้ลงทุน โดยเตรียมวงเงินสำหรับลงทุนขุดเหมืองบิทคอยน์ 150 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องขุดบิทคอยน์จำนวน 300 เครื่อง โดยจะเริ่มขุดเหรียญบิทคอยน์ในไตรมาสที่ 2/2565 และตามด้วยเหรียญอีเธอเรียม (ETH)

“แม้ราคาบิทคอยน์จะลงมาเหลือ 20,000 กว่าดอลลาร์สหรัฐ  เราก็ถือว่ายังคุ้มที่จะลงทุนอยู่ เพราะเรามีต้นทุนไฟฟ้าที่ถูกกว่าคนอื่นถึง 50% เรียกได้ว่าเปลี่ยนไฟฟ้าส่วนเกินเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล การเกิดวิกฤตคริปโตถือเป็นโอกาสที่จะซื้อเครื่องขุดในราคาถูก เพราะคนอื่นคงจะไม่ซื้อ เมื่อเห็นเหรียญตกแรงขนาดนี้ โดยบริษัทฯจะทำการซื้อเครื่องขุดภายในไตรมาส 2/65 แล้วจะเริ่มขุดหาเหรียญเลย”

ประธานกรรมการบริหาร CWT กล่าวว่า ปี 2565 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 20% โดยอีก 6 เดือนบริษัทจะได้ใบอนุญาต PPA ในการทำโรงไฟฟ้าใหม่ 2 โรง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลในไทย ใช้งบลงทุน 1,600 ล้านบาท กำลังผลิต 16 เมกะวัตต์

สำหรับผลดำเนินงานไตรมาส 2/65 คงจะรับแรงกดดันจากราคาน้ำมันแพง เหมือนกับบริษัทอื่น ๆ เช่นกัน ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น ส่วนผลงานไตรมาส 1/2565 ก็ออกมาดีพอ ๆ กับไตรมาส 4/2564

นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) เปิดเผยว่า ยังคงดำเนินธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ต่อไป แม้ว่าจะมีวิกฤติคริปโต ราคาเหรียญดิจิทัลปรับตัวลงไปมากกว่า 50% โดยบริษัทเน้นขุดหาเหรียญอีเธอเรียมถึง 90%  ราคาเหรียญก็ปรับตัวลงเหมือนเหรียญดิจิทัลอื่น ๆ แต่ราคาเหรียญอีเธอเรียมยังไม่อยู่ในกรอบต่ำที่วางไว้ 55,000-60,000 บาท  ตอนนี้เคลื่อนไหวอยู่บริเวณ  80,000-90,000 บาทถือว่าเรทดีสุด และก็มีสัดส่วนเหรียญบิทคอยน์ 10% เท่านั้น

“เราไม่มีทางเปลี่ยนคนรุ่นใหม่ได้ ยังไงคนกลุ่มนี้ก็อยู่กับเหรียญดิจิทัลพวกนี้กันหมด ซึ่งคนพร้อมที่จะเรียนรู้กับมัน ผมไปดูงานคริปโตฯคนเยอะมาก ตกใจเลย คนให้ความสนใจเป็นเรื่องเป็นราว มีทั้งคนรุ่นใหม่ รุ่นเก่า และชาวต่างชาติ ยังไงก็ต้องเรียนรู้ ไปเบรกเขาไม่ได้หรอก”

ตอนนี้บริษัทฯมีเครื่องขุดหาเหรียญ 100 เครื่อง เน้นหาเหรียญอีเธอเรียม ได้ 10 กว่าเหรียญต่อเดือน ถือว่ายังใช้ได้อยู่ ส่วนเครื่องที่ขุดหาเหรียญบิทคอยน์มีไม่มาก เพราะมองไม่ค่อยคุ้มเท่าไร แม้ราคาบิทคอยน์อยู่กว่า 1 ล้านบาทต่อเหรียญฯ แม้ไม่ขาดทุน แต่กำไรช้าไปบ้าง ซึ่งบริษัทฯเพิ่งจะลงทุนเครื่องขุดในเดือนธ.ค.และขุดจริงจังในไตรมาส 1/2565 คาดว่าจะคุ้มทุนได้อีก 2 ปีหรือประมาณปี 2567 ส่วนเครื่องขุดหากไม่ใช้แล้วก็ยังสามารถขายต่อไปได้

ดังนั้นบริษัทฯจึงยังไม่ปรับกลยุทธ์แม้จะมีวิกฤตคริปโตในช่วงนี้ อีกทั้งบริษัทฯยังมองที่จะขุดหาเหรียญอัลฟ่า หรือโทรน เพิ่มอีกสกุลเหรียญดิจิทัล ซึ่งข้อดีของเหรียญอัลฟ่า (ALPHA) สามารถเทรดในบิทคับได้ แต่เหรียญทรอน (TRON) ไม่ได้ ขุดแล้วต้องแลกเหรียญผ่านกระดานต่างประเทศ

ด้านบริษัท สีเดลต้า (DPAINT)  กระโดดเข้าสู่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินทรัพย์ดิจิทัล รายล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2565 มีมติอนุมัติการจัดตั้งบริษัทย่อยภายใต้ชื่อบริษัท ดีเวนเจอร์ อินโนเวชั่น เพื่อประกอบธุรกิจการค้าผลิตและจำหน่ายสินทรัพย์ดิจิทัล คริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล (NFT) ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปอย่างแพร่หลาย บริษัทจึงเห็นโอกาสในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบ NFTหรือ Nonfungible token ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถรับรู้รายได้ธุรกิจใหม่นี้อย่างต่อเนื่องและมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นต่อไปในอนาคต โดยแหล่งเงินทุนเป็นเงินทุนหมุนเวียน ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องหรือการดำเนินงานของบริษัท

ลักษณะการประกอบธุรกิจเป็นการลงทุนและศึกษาการผลิตใน NFT หรือ Non-fungible token โดยขายภาพวาดในรูปแบบของ NFT บนแพลตฟอร์มทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานในประเทศดังกล่าว ซึ่งเป็น token ประเภทหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษที่แสดงสิทธิความเป็นเจ้าของสินค้าดิจิทัลที่อยู่ในแพลตฟอร์ม อีกทั้งยังเป็นสินทรัพย์ที่มีลักษณะโครงสร้างภายในเฉพาะตัว ซึ่งแต่ละ token จึงไม่สามารถทดแทนกันและไม่สามารถแลกเปลี่ยนซื้อสินค้าได้ โดยแพลตฟอร์มที่ทำการซื้อขาย NFT นั้นจะอยู่บนเทคโนโลยี Blockchain