‘ดอนเมืองโทลล์เวย์’ รักษาเครดิต BBB+

ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บริษัททางยกระดับดอนเมือง” ที่ “BBB+” แนวโน้ม “คงที่” สะท้อนถึงการเติบโตของรายได้ และภาระหนี้ลดลง เร่งคืนหนี้ทั้งหมดในปี 2563 มีความเสี่ยงเรื่องอายุสัมปทาน รอคำพิพากษาว่าจะสิ้นสุดในปี 2564 หรือ 2577

บริษัททริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง(ดอนเมืองโทลล์เวย์ หรือ DMT) ที่ระดับ “BBB+” สะท้อนถึงความได้เปรียบทางกลยุทธ์ที่มีทางยกระดับอยู่ในทำเลที่ดี ความเสี่ยงในการดำเนินงานอยู่ในระดับต่ำ และการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่คาดการณ์ได้

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งถูกลดทอนบางส่วนจากกระแสเงินสดที่พึ่งพิงทางยกระดับเพียงเส้นทางเดียวและความไม่แน่นอนในความถูกต้องของการแก้ไขสัญญาสัมปทานของบริษัทครั้งหลังสุด ซึ่งต้องรอคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด

ทางยกระดับของบริษัทอยู่ในทำเลที่ดีซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมจากใจกลางกรุงเทพมหานครกับสนามบินนานาชาติดอนเมืองและเป็นเส้นทางหลักไปสู่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณการจราจรบนทางยกระดับของบริษัทมีการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7.5% ในช่วงปี 2556-2560 และในครึ่งแรกของปี 2561 ปริมาณจราจรยังคงเติบโต 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณจราจรจะยังคงเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3% ในช่วงปี 2561-2562 โดยในปี 2563 ปริมาณจราจรจะลดลง 1% เนื่องอัตราค่าผ่านทางจะเพิ่มขึ้นถึง 14.3% แต่ทริสคาดว่าอัตราค่าผ่านทางที่เพิ่มขึ้นมากจะช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของปริมาณจราจร คาดว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 3% ในปี 2561 และ 2562 และเพิ่มขึ้น 13% ในปี 2563

อย่างไรก็ตาม ความถูกต้องของการแก้ไขสัญญาสัมปทานของบริษัทครั้งหลังสุดยังคงเป็นประเด็นหลักที่กดดันอันดับเครดิตของบริษัท โดยคำพิพากษาที่เป็นประโยชน์กับผู้ฟ้องอาจส่งผลให้อายุสัญญาสัมปทานสิ้นสุดในปี 2564 แทนที่จะสิ้นสุดในปี 2577

ทั้งนี้ การแก้ไขสัญญาสัมปทานของบริษัทครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2550 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2549 และวันที่ 10 เม.ย. 2550 โดยชดเชยความเสียหายของบริษัทที่เกิดจากการกระทำของภาครัฐที่ต่างไปจากที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาสัมปทาน กล่าวคือ ได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขในประเด็นสำคัญในสัญญาสัมปทาน ได้แก่ การขยายอายุสัญญาสัมปทานเพิ่มจากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2564 ไปเป็นปี 2577 และการกำหนดอัตราการเพิ่มค่าผ่านทางไว้ล่วงหน้าตามการแก้ไขสัญญาในครั้งก่อน

บริษัทมีกรณีถูกฟ้องร้องต่อศาลปกครองจำนวน 3 คดีซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความถูกต้องของการแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งหลังสุด ที่ผ่านมาศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายกฟ้อง 2 คดีจากทั้งสิ้น 3 คดี ส่วนอีกคดี ผู้ฟ้องอ้างว่ามติคณะรัฐมนตรีซึ่งอนุมัติการแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งหลังสุดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยในปี 2558 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งหลังสุด ปัจจุบันคดีดังกล่าวยังคงอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ทั้งนี้ ผู้บริหารของบริษัทยังคงมั่นใจว่าผลของคำพิพากษาจะออกมาในทางบวก

การพึ่งพิงแหล่งรายได้เพียงแหล่งเดียว ทริสฯคาดว่าไม่น่าจะมีเหตุการณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจที่สำคัญ ที่จะส่งผลให้ปริมาณจราจรของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะปานกลาง

ส่วนภาระหนี้ของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อเงินทุนลดลงเป็น 22.8% ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2561 จาก 51.5% ในปี 2556 นอกจากนี้บริษัทไม่มีแผนการลงทุนที่สำคัญในอนาคต ในช่วง 3 ปีข้างหน้า จากงบลงทุนตามปกติ 420 ล้านบาทโดยจะใช้กระแสเงินสดภายในในการลงทุน บริษัทยังมีความสนใจจะเข้าร่วมประมูลโครงการทางด่วนในเมืองและทางด่วนระหว่างเมือง แต่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของภาครัฐ

“เนื่องจากความไม่แน่นอนจากคำพิพากษาของศาล บริษัทมีแผนจะชำระคืนหนี้ทางการเงินทั้งหมดภายในปี 2563 จากเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี และจะสามารถชำระหนี้คงค้างจำนวน 3,537 ล้านบาทได้ภายในปี 2563 ภายใต้สมมุติฐานพื้นฐาน ทริสฯคาดว่ารายได้ของบริษัทจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3,600 ล้านบาทในปี 2563 โดยในปี 2561 บริษัทจะต้องไถ่ถอนหุ้นกู้จำนวน 800 ล้านบาท และงบลงทุนจำนวน 173 ล้านบาท ผู้บริหารของบริษัทคาดว่าจะยังคงจ่ายเงินปันผลปีละประมาณ 1,000-1,200 ล้านบาท”ทริสระบุ