HoonSmart.com>> “ราช กรุ๊ป” กดปุ่ม COD “โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี ระยอง” กำลังผลิต 98 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ 30 เม.ย.65 รับรู้รายได้ทันที พร้อมเดินหน้าเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิม ขึ้นเครื่องหมาย XR 6 พ.ค.65 รุกเสริมแกร่งขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ ภายใน 3 ปีข้างหน้า ดันมูลค่ากิจการแตะ 2 แสนล้านบาท
บริษัท ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี ระยอง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 98 เมกะวัตต์ ได้เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2565 ส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้รายได้ทันที
โครงการดังกล่าวถือหุ้นโดย Nexif RATCH EnergyRayong Co., Ltd. (NRER) ผ่าน NEXIF RATCH ENERGY SINGAPORE PTE. LTD. (NRES) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนทางอ้อมที่บริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 49% โครงการ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระยะเวลา 25 ปี
ด้านนางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2565 ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น RATCH มีมติเห็นชอบอนุมัติแผนเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ จาก 14,500,000,000 บาท เป็น 22,192,307,700 บาท ซึ่งออกหุ้นสามัญใหม่จำนวนไม่เกิน 769,230,770 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (ราคาพาร์) หุ้นละ 10 บาทนั้น เพื่อออกและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ (PPO) พร้อมกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (XR date) ในวันที่ 6 พ.ค.2565 และกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับการเสนอขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ (Record date) ในวันที่ 9 พ.ค.2565 โดยกำหนดระยะเวลาจองซื้อและชำระเงินในวันที่ 6-10 มิ.ย.2565 ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)
สำหรับการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ คาดว่าจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างเงินทุนของบริษัทฯ และสามารถรองรับแผนการขยายธุรกิจในอนาคต เพื่อไปสู่เป้าหมายของบริษัทฯ คือ การนำเงินไปลงทุนในโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศภายใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ พร้อมผลักดันมูลค่ากิจการให้ถึง 200,000 ล้านบาท ตอกย้ำแผนการเติบโตที่ชัดเจนโดยมุ่งสู่การพัฒนาพลังงานทดแทนและการขยายกิจการที่ยั่งยืนในระยะยาว ส่งผลทำให้ RATCH เป็นหนึ่งในหุ้นที่มีศักยภาพการเติบโตและมีผลตอบแทนที่ดีในอนาคต ตามนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)