GSTEEL จ่อลดพาร์ ลดขาดทุนเก่า ลดต้นทุนเงิน เร่งปั๊มกำไร

HoonSmart.com>>ผู้ถือหุ้น”จี สตีล”-“จี เจ สตีล”ไฟเขียวทุกวาระ หวังทุกอย่างดีขึ้นในอุ้งมือ “นิปปอน สตีลฯ” ข้องใจวิธีป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการทำธุรกิจ-GSTEEL มีค่าใช้จ่ายบริหารสูงขึ้นมากปี’64 บริษัทแจงจ่ายโบนัส 190 ล้านบาท เผยแนวทางโต คิดจะลดพาร์แก้ขาดทุนสะสม 2.1 หมื่นล้านบาท แต่ล้างไม่หมด ต้องสร้างกำไร คุยแบงก์ญี่ปุ่นรีไฟแนนซ์หนี้ดอกเบี้ย 15% ฟื้นฟูเครื่องจักรด่วน เพิ่มมาร์จิ้น รออนุมัติหุ้นกลับมาเทรด 

บริษัท จี สตีล (GSTTEL) และบริษัท จี เจ สตีล (GJS) จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-AGM) เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2565 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกนับตั้งแต่ NIPPON STEEL CORPORATION ยักษ์เหล็กญี่ปุ่น เข้ามาถือหุ้นใหญ่กว่า 40% หลังจากซื้อหุ้นต่อจากกองทุน ASIA CREDIT OPPORTUNITIES I (MAURITIUS) หรือ ACO I มีผู้ถือหุ้นให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมและซักถามจำนวนมาก โดยมีมติอนุมัติทุกวาระ

ในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจี สตีล วาระที่ 1 พิจารณาอนุมัติงบการเงินสำหรับปี 2564  มีกำไรสุทธิ 1,325 ล้านบาท พลิกจากผลขาดทุนสุทธิ -600 ล้านบาทในปี 2563  ผู้ถือหุ้นมีการซักถามหลายประเด็น เช่น ทางนิปปอนฯ มีบริษัทในเครือจำนวนมาก มีวิธีป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างไรบ้าง สำหรับการทำธุรกิจกับ GSTEEL ซึ่งผู้บริหารได้ชี้แจงว่านิปปอนฯทำธุรกิจเหล็กคนละประเภทกับจีสตีล ที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน จึงไม่ทับซ้อนกัน และนิปปอนฯทำธุรกิจไปทั่วโลก ให้ความสำคัญกับเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์มาก

ผู้ถือหุ้นยังมีการตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการบริหารสูงขึ้นถึง 403 ล้านบาท จากปีก่อนมีจำนวน 235 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากการจ่ายโบนัสหลายร้อยล้านบาท และจ่ายให้แก่ใครบ้าง ซึ่งได้รับการชี้แจงว่าบริษัทคิดสูตรการจ่ายโบนัสใหม่ สำหรับปี 2564 พิจารณาจากกำไรสุทธิ ส่วนปี 2565 กำลังคิดสูตรใหม่ คำนึงถึงความสมดุลมากขึ้น และมีผู้ถือหุ้นอีกหนึ่งรายถามลงในรายละเอียดว่า บริษัทใช้เงินจ่ายโบนัส และจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เท่าไร ได้รับการชี้แจงว่า จ่ายโบนัสจำนวน 190 ล้านบาท ดอกเบี้ยเงินกู้จำนวน 478 ล้านบาท แต่ไม่ได้จ่ายเป็นเงินสด เป็นเงินสะสม

การประชุมดำเนินการพิจารณาตามวาระอย่างต่อเนื่อง มีคำถาม เรื่อง นิปปอนฯมีแผนจะควบรวมบริษัทจี สตีลและบริษัท จี เจ สตีล หรือไม่ ได้รับการชี้แจงว่า ปัจจุบันยังไม่มีแผนควบรวมกิจการทั้งสองเข้าด้วยกัน แต่จะพยายามลดค่าใช้จ่ายเท่าที่จะลดได้ในส่วนที่แชร์กันได้

ส่วนเรื่องหุ้น GSTEEL จะกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อไร บริษัทฯได้ทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ และตอบคำถามทุกข้อแล้ว  ตลาดหลักทรัพย์ส่งให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 ซึ่งก.ล.ต. ก็มีคำถามมา บริษัทฯได้ส่งข้อมูลให้แล้ว พยายามทำทุกอย่างเต็มที่ คุยกับผู้ควบคุมกฎ เพื่อให้หุ้นกลับเข้ามาซื้อขายโดยเร็วที่สุด

สำหรับแนวทางการล้างขาดทุนสะสมจากวิกฤต เพราะปิดโรงงานไป 2 ปี ได้รับการชี้แจงว่า บริษัทมีขาดทุนสะสม 2.17 หมื่นล้านบาท จะใช้วิธีการลดพาร์ (มูลค่าหุ้นที่ตราไว้) ปัจจุบันอยู่ที่ 5 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการและผู้ถือหุ้น แต่การลดพาร์อาจจะยังมีขาดทุนเหลืออยู่ จึงยังจ่ายเงินปันผลไม่ได้ ดังนั้นจะต้องใช้เวลาในการสร้างกำไร เพื่อแก้ขาดทุนก่อน

วิธีการหนึ่งที่ทำให้ผลงานดีขึ้น คือ การลดต้นทุนทางการเงิน บริษัทมีดอกเบี้ยจ่ายในอัตรา 15% ต่อปีจากเงื่อนไขการผิดนัดชำระหนี้  ตอนนี้กำลังร่วมมือกับธนาคารญี่ปุ่น ที่ทางนิปปอนฯ แนะนำมา เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้ จ่ายดอกเบี้ยให้ต่ำลง

แนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2565 จะเป็นอย่างไร ก็คาดการณ์ยาก เพราะความผันผวนของตลาดและราคาเหล็ก จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ  และการล็อกดาวน์ในจีน และเงินเฟ้อสูง โดยบริษัทมีแผนระยะสั้น-กลาง พยายามรักษามาร์จิ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนจะเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อขยายการส่งออก บริษัทยังต้องการเวลา เครื่องจักรจำเป็นต้องการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน   เพิ่มอัตราการใช้เครื่องจักรและประสิทธิภาพในการผลิต พยายามรักษาตลาด ควบคุมต้นทุน  ปรับราคาเพื่อชดเชยกับต้นทุนที่สูงขึ้น

นิปปอนฯมีจุดประสงค์ในการเข้ามาลงทุนใน GSTEEL บริษัทที่มีประวัติที่ยาวนาน และมีดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ผู้ก่อตั้ง กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสอง และประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มบริษัท จี สตีล  ที่มีคอนเนคชั่นมาก พร้อมให้เกียรติ และทำงานร่วมกัน  ทางนิปปอนฯนำเทคโนโลยีและประสบการณ์เข้ามาเสริม เพิ่มความเข้มแข็ง และความปลอดภัยในการปฎิบัติงาน เพื่อการผลิตและการจำหน่าย ตอบสนองความต้องการเหล็กรีดร้อนในประเทศไทย และคาดหวังว่าจะเจริญเติบโตต่อไป  พร้อมปรับปรุงสมรรถนะ ในการผลิตและส่งมอบ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า  มีส่วนในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย