“บล.ทรีนีตี้” มองหุ้นเดือนพ.ค.โอกาสลงต่อ ชี้เป้า 11 หุ้นเด่น

HoonSmart.com>> “บล.ทรีนีตี้” มองแนวโน้มหุ้นเดือนพ.ค. โอกาสลงต่อ “ฟันด์โฟลว์” ไหลออกจากส่งเงินปันผลกลับ คาดธุรกรรม Short sales มากขึ้น ด้านราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นกระทบต้นทุนภาคธุรกิจขนส่งและภาคการผลิต แนะกลยุทธ์ตั้งรับ ชะลอลงทุนรอราคาหุ้นย่อตัว มองแนวรับแรก 1,630 จุด แนะหุ้นกลุ่ม Defensive ราคายัง Laggard ชี้เป้า CPALL, MAKRO, BJC ส่วนหุ้นกลางและเล็ก แนะ SA, SIMAT,IT ธีมหุ้นกลุ่มส่งออกน่าสนใจ แนะ ASIAN, GFPT, KSL, SUN, XO

บริษัทหลักทรัพย์ทรีนีตี้ ประเมินแนวโน้มตลาดหุ้นเดือนพ.ค. คาดว่าในช่วงแรกของเดือนตลาดหุ้นโลกน่าจะมีการรีบาวด์ขึ้นมาบ้าง หลังผลการประชุม FOMC ที่จะออกมาในช่วงคืนวันที่ 4 พ.ค. ตามเวลาของไทยไม่น่าจะมี Surprise ในทางลบแต่อย่างใด ล่าสุดนักลงทุนคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50% ไปแล้วและหาก Fed จะมีการประกาศมาตรการ QT ออกมา ไม่คิดว่าจะเป็นตัวเลขที่สูงเกินกว่าระดับ 9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน ตามที่ FOMC Minutes ได้ส่งสัญญาณออกมาก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตามหลังการรีบาวด์รอบนี้ คาดว่า SET Index มีโอกาสปรับตัวลงต่อได้จากทั้งปัจจัย Seasonal เช่น การไหลออกของ Fund flow จากการส่งเงินปันผลกลับและธุรกรรม Short sales ที่จะเริ่มกลับมากขึ้น รวมถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจ เช่น การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทหลังตัวช่วยภาคการส่งออกอย่างทองคำน่าจะเริ่มอ่อนแรงลง ส่งผลให้ดุลการค้าและดุลบัญชีสะพัดอ่อนแรงลงตามได้

ในเชิงกลยุทธ์ยังคงแนะนำให้ใช้กลยุทธ์ตั้งรับและชะลอการลงทุนจนกว่าดัชนี SET จะย่อลงมาจนมีความน่าสนใจทางด้าน Valuation มากขึ้น ทั้งนี้ มีสัญญาณน่ากังวลล่าสุด ได้แก่ การปรับลดประมาณการ EPS ของนักวิเคราะห์ในตลาดที่ล่าสุดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนนำมาสู่ Valuation ของ SET ที่แพงมากขึ้น มองระดับดัชนีแนวรับแรกประจำเดือนพ.ค.ที่ระดับ 1,630 จุด ส่วนแนวรับสำคัญให้ไว้อยู่ที่บริเวณ 1,580-1,600 จุด

“การทยอยปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลในเดือนพ.ค.นี้จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจขนส่งและภาคการผลิตค่อนข้างแน่ ดังนั้นนักลงทุนอาจต้องระวังหุ้นในกลุ่ม Logistic และ Manufacturing ที่มีสัดส่วนต้นทุนการขนส่งในระดับสูง นอกจากนั้น หากมีการส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวมายังผู้บริโภค คาดว่าจะส่งผลกดดันต่อภาคการบริโภคภายในประเทศด้วยไม่มากก็น้อย ซึ่งจะกระทบกับหุ้นกลุ่ม Consumer discretionary ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ คาดว่าในเดือนนี้จะเริ่มมีการพูดถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากขึ้น ซึ่งอาจเป็น Sentiment เชิงลบโดยรวมต่อดัชนี SET ผ่านคาดการณ์การปรับลดระดับ EPS ของตลาดในช่วงถัดไป โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการใช้แรงงานค่าจ้างขั้นต่ำในระดับสูง เช่น ภาคก่อสร้าง ภาคการผลิต ภาคค้าปลีก เป็นต้น”บล.ทรีนีตี้ ระบุ

สำหรับหุ้นขนาดกลางและเล็ก ในสภาวะที่ Yield curve ของไทยยังคงแบนราบอย่างต่อเนื่อง มองว่าจะทำให้กลุ่มหุ้น Domestic cyclical และ Domestic value โดยรวมถูกกดดันต่อไปได้ ซึ่งจะทำให้หุ้นเติบโตขนาดกลางและเล็กยังคงปรับตัวได้แข็งแกร่งโดยเปรียบเทียบและจะทำให้ดัชนี sSET50/SET100 และ mai/SET50 ปรับตัวขึ้นต่อในเดือนนี้ก็ได้ ทั้งนี้ หากเลือกหุ้นในกลุ่มนี้ที่บล.ทรีนีตี้แนะนำ 10 ตัวในเดือนที่ผ่านมาที่ยังคง Laggard ได้แก่ SA, SIMAT, IT เป็นต้น

ในส่วนของหุ้นขนาดใหญ่ ยังคงชื่นชอบหุ้น Defensive growth 3 กลุ่มเดิมต่อไปในสภาวะแบบนี้ คือ กลุ่ม Healthcare, Consumer staple, AMC อย่างไรก็ดีจากการที่ราคาหุ้นกลุ่ม Healthcare และ AMC ปรับตัวขึ้นมามากในช่วงเดือนที่ผ่านมา เรามองว่านักลงทุนสามารถเลือกที่จะ Switch เข้าสู่กลุ่มที่ยัง Laggard เช่น Consumer staple ได้ เช่น CPALL, MAKRO, BJC ที่ล่าสุด Valuation ยังอยู่ในระดับต่ำและมี Story เฉพาะตัวรออยู่บางตัว เช่น การเปิดประเทศ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อ CPALL และความเป็นไปได้ในการถูกคัดเลือกเข้าสู่ดัชนี SET50/SET100 ของ BJC

สำหรับหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะเป็นธีมที่น่าสนใจเดือนพ.ค. คือ หุ้นกลุ่มส่งออกที่ยังคงได้ Sentiment เชิงบวกจากการปรับตัวอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ ซึ่งคาดว่ามีโอกาสอ่อนค่าต่อเนื่องไปทดสอบระดับ 34.5-35.0 บาท/ดอลลาร์ได้ในเดือนพ.ค. โดยยังมองเช่นเดิมว่า หากเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มส่งออกตอนนี้ มองไปยังกลุ่ม FOOD & AGRI น่าจะมีความปลอดภัยมากกว่า

บล.ทรีนีตี้ คัดกรองหุ้นที่มี Upside จาก Consensus target price และยังมีระดับ Forward PE ที่ไม่แพงนักเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย ได้แก่ ASIAN, GFPT, KSL, SUN, XO เป็นต้น