“SAMART” ติดตั้ง Direct Coding เสร็จแล้ว พร้อมบริการ 1 พ.ค นี้

HoonSmart.com>>”สามารถคอร์ปอเรชั่น” พร้อมจะเริ่มพิมพ์รหัสควบคุมบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีสรรพสามิต ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้ เป็นต้นไป  ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษี สินค้าประเภทสุราแช่ ชนิดเบียร์ ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศ มูลค่าโครงการรวมกว่า 8,000 ล้านบาท บริษัทฯจะทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 7 ปี

นายธีระชัย พงศ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART)  เปิดเผยว่า บริษัทได้รับสัญญาจ้างให้เป็นผู้นำเทคโนโลยี Direct Coding System หรือ ระบบพิมพ์รหัสควบคุมบนบรรจุภัณฑ์ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การเก็บภาษีสินค้าประเภทสุราชนิดเบียร์ ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศ มูลค่าโครงการรวมกว่า 8,000 ล้านบาท โดยจะทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 7 ปีนั้น ขณะนี้ บริษัทได้ทำการติดตั้งและทดสอบระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมจะให้บริการระบบดังกล่าว ณ โรงงานอุตสาหกรรมผลิตเบียร์ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้เป็นต้นไป

สำหรับจุดเด่นของ Direct Coding System เป็นเทคโนโลยีการพิมพ์รหัสสองมิติแบบไม่ซ้ำกัน ลงบนบรรจุภัณฑ์ (บนฝาขวดและใต้กระป๋องเบียร์) ด้วยหมึกพิเศษป้องกันการปลอมแปลง เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี ประชาชนสามารถใช้ตรวจสอบความเป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมายได้โดยใช้ไฟฉายยูวีส่องไปที่รหัสดังกล่าว ในขณะที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ สามารถใช้อุปกรณ์เฉพาะ (Handheld Tool) ในการอ่านและถอดรหัสข้อมูล เพื่อตรวจสอบข้อมูลสินค้า ข้อมูลการผลิต ข้อมูลภาษี ได้จากระบบฐานข้อมูลส่วนกลางที่กรมสรรพสามิต (Data Management System : DMS) ซึ่งนอกจากจะยืนยันความเป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ยังใช้ข้อมูลในระบบไปวางแผนการบริหารจัดการจัดเก็บภาษีได้อีกด้วย

ทั้งนี้ คุณภาพของระบบ Direct Coding ที่ได้มาตรฐานสากล และความมุ่งมั่นในการให้บริการอย่างมืออาชีพ บริษัทจึงเชื่อมั่นว่าโครงการนี้ จะตอบสนองต่อเป้าหมายของกรมสรรพสามิตได้เป็นอย่างดี ทั้งทางด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี การสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ ตลอดจนการปกป้องผู้บริโภคให้ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ และสามารถป้องกันการปลอมแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในอนาคตบริษัทคาดหวังว่าจะมีโอกาสในการนำเสนอระบบพิมพ์รหัสควบคุม Direct Coding นี้ แก่อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีเป้าประสงค์เดียวกันต่อไป