“ผลิตไฟฟ้า นวนคร” ออกหุ้นกู้ 6.4 พันล.คืนหนี้-ขยายกำลังผลิต

“ผลิตไฟฟ้า นวนคร” ออกหุ้นกู้ มูลค่า 6.4 พันล้านบาท อายุสั้น 3 ปี ดอกเบี้ย 2.68% ต่อปี ยาวสุด 16 ปี จ่าย 4.22% ต่อปี นำเงินชำระหนี้และขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเฟส 2 ประมาณ 60 เมกะวัตต์ และไอน้ำ10 ตันต่อชั่วโมง รองรับความต้องการลูกค้าในนิคมนวนคร

บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด (NNEG) ประสบความสำเร็จในการออกและเสนอขายหุ้นกู้ชนิดทยอยชำระคืนเงินต้นไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ มูลค่ารวม 6,400 ล้านบาท จำนวน 4 รุ่น แบ่งเป็น หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.68 หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.00 หุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.85 และหุ้นกู้อายุ 16 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.22 เสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบันและ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2561 โดยแต่งตั้งให้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทหารไทย เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ “A-” แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ โดยบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

การเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนหลากหลายกลุ่มเป็นอย่างดี ทั้งจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทประกันชีวิต และสหกรณ์ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นจากนักลงทุนในสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและมั่นคง ตลอดจนแผนการขยายกำลังการผลิตที่ชัดเจนของบริษัทฯ โดยเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้จะนำไปชำระเงินกู้เดิม และเพื่อสนับสนุนแผนการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯ ในเฟส 2 อีกประมาณ 60 เมกะวัตต์ และไอน้ำอีกประมาณ 10 ตันต่อชั่วโมง เพื่อรองรับลูกค้าภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสุทธิรวม (ทั้งเฟส 1 และ เฟส 2) ประมาณ 185 เมกะวัตต์ และขนาดกำลังการผลิตไอน้ำรวมประมาณ40 ตัน ต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ NNEG เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง 3 บริษัทประกอบด้วย บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ถือหุ้น ร้อยละ 40 บริษัท นวนคร (NNCL) ถือหุ้นร้อยละ 30 และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ถือหุ้นร้อยละ 30 บริษัทฯ มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ที่มีประสิทธิภาพสูง และอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นวนคร (NNCL) และกรรมการบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร กล่าวว่า การออกและเสนอขายหุ้นกู้ชนิดทยอยชำระคืนเงินต้นของบริษัท ผลิตไฟฟ้านวนคร จำกัด ในครั้งนี้นั้น ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนในหลายกลุ่ม ด้วยชื่อเสียงและประสบการณ์ของผู้ถือหุ้นทั้ง 3 ราย ตลอดจนผลประกอบการที่โดดเด่น ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและมั่นคงของบริษัทฯ เหล่านี้ล้วนเป็นผลให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อบริษัทฯ โดยการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินของบริษัทฯ รวมทั้ง 2 โครงการได้อย่างน้อย 1% หรือประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพทางการเงินของบริษัทฯในระยะยาว

นายประกอบ เพียรเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดีสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อบริษัททั้งในด้านฐานะทางการเงินและความแข็งแกร่งของผู้ถือหุ้น การเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้ทำให้บริษัทสามารถตรึงต้นทุนทางการเงินในอัตราที่เหมาะสมท่ามกลางสภาวะตลาดดอกเบี้ยขาขึ้น

นายรณฤทธิ์ วิระชะนัง ผู้บริหารงานตลาดทุนธนกิจ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การออกหุ้นกู้ของ NNEG ครั้งนี้ สนับสนุนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยเป็นอย่างมาก ปัจจุบัน หุ้นกู้ชนิดทยอยชำระคืนเงินต้นยังมีจำนวนไม่มากตลาดไทย ทำให้นักลงทุนยังไม่คุ้นเคย และยังติดประเด็นเรื่องสภาพคล่องในการลงทุน ทั้งนี้ การที่บริษัทออกหุ้นกู้หลากหลายอายุ ทำให้นักลงทุนหลายกลุ่มสามารถเข้าร่วมได้ และน่าจะทำให้หุ้นกู้ชนิดนี้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น

นอกจากนี้ หุ้นกู้ชนิดทยอยชำระคืนเงินยังตอบโจทย์ของบริษัทในเรื่องการบริหารเงิน ตามลักษณะการทยอยคืนเงินต้นที่เหมาะกับ Cashflows ของบริษัท ถือเป็นความสำเร็จแบบ win-win

นายวิกรานต์ ปวโรจน์กิจ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารความสัมพันธ์ ลูกค้าบรรษัทธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารทหารไทย ถึงแม้ว่าจะเผชิญสภาวะตลาดที่มีความผันผวนสูง แต่ก็ได้รับการตอบรับและความเชื่อมั่นในผลการดำเนินงานของบริษัทจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ด้วยการจองหุ้นกู้เกินกว่าจำนวนที่กำหนด ทั้งนี้การระดมทุนจะช่วยสนับสนุนแผนการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำใน เฟส 2 ของทาง NNEG ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต

NNEG เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ประเภทสัญญา Firm ระบบ Cogeneration มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 125 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2559 ภายใต้โครงการจัดซื้อไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กของไทย โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 25 ปี กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 90 เมกะวัตต์ ในขณะที่บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำที่เหลือให้แก่ผู้ผลิตหลายรายในนิคมอุตสาหกรรมนวนครภายใต้สัญญาซื้อขายระยะยาวโดยมีระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 20 ปี ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับอนุมัติให้ขยายกำลังการผลิต คาดว่าจะแล้วเสร็จและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ส่งผลให้ภายหลังดำเนินการแล้วเสร็จ บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสุทธิรวม (ทั้งเฟส 1 และเฟส 2) ประมาณ 185 เมกะวัตต์ และขนาดกำลังการผลิตไอน้ำรวมประมาณ 40 ตันต่อชั่วโมง