กองทุน High Yield Bond เสริมพอร์ตสู้เงินเฟ้อ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ออกกองทุนรวมตราสารหนี้ประเภท High Yield Bond ได้ โดยจะต้องมีสัดส่วนการลงทุนใน High Yield ไม่น้อยกว่า 60% ของพอร์ตการลงทุน

แม้ว่ายังคงจำกัดการเสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ก็ตาม คาดว่าจะได้ผลตอบรับที่ดีมาก เนื่องจากการลงทุนโดยตรงใน High Yield Bond ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่า 5% ต่อปี ดีกว่าการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป และการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน ดังนั้นนักลงทุนจะต้องลงทุนอย่างมีความรู้

อริยา ติรณะประกิจ

“อริยา ติรณะประกิจ” รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ให้สัมภาษณ์ www.HoonSmart.com ว่า สำนักงานก.ล.ต.ออกหลักเกณฑ์ให้บลจ.สามารถออกและเสนอขายกองทุนรวมตราสารหนี้ประเภท High Yield Bond ได้แล้ว ถือว่าเป็นจังหวะที่ดี ทั่วโลกเผชิญแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาก เชื่อว่าผลตอบแทนจากกองทุนประเภทนี้จะสามารถเอาชนะอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงผิดปกติในขณะนี้ได้ ในส่วนไทยอัตราเงินเฟ้อในเดือนมี.ค. 2565 เร่งตัวสูงขึ้นมากถึง 5.73% สูงสุดในรอบ 13 ปี ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อของปี 2565 เป็น 4.9% นับว่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไป และเงินฝากประจำ 1 ปี ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งอยู่ในช่วง 0.40-0.60% ต่อปี

ปัจจุบัน High Yield Bond ให้อัตราผลตอบแทนอยู่ในระหว่าง 5-9% ต่อปี ซึ่งกองทุนรวมตราสารหนี้ High Yield Bond มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) คือ ต่ำกว่า BBB- รวมถึงตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Bonds) จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงได้ ก.ล.ต.กำหนดให้เสนอขายให้เฉพาะนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้น ซึ่งนักลงทุนไม่ควรให้ความสำคัญเรื่องผลตอบแทนสูงเพียงอย่างเดียว จะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในกรณีผิดนัดชำระหนี้และความเสี่ยงด้านความผันผวนของดอกเบี้ยด้วย

“อริยา” ให้คำแนะนำว่า ก่อนจะตัดสินใจเข้าลงทุนใน High Yield Bond ควรพิจารณาความเสี่ยงต่างๆ นักลงทุนจะต้องลงทุนอย่างมีความรู้ ต้องทำการบ้านมาก ในฐานะผู้ให้กู้ จะต้องศึกษา Fact Sheet หรือหนังสือชี้ชวนส่วนสรุป พิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ โดยทำความรู้จักบริษัทว่าทำธุรกิจอะไร ผลประกอบการ และสถานะทางการเงินเป็นอย่างไร การวิเคราะห์อุตสาหกรรมก็มีส่วนสำคัญ หากแนวโน้มอยู่ในช่วงขาลง อาจจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานและฐานะการเงินได้ในอนาคต โดยใช้ข้อมูลอันดับความน่าเชื่อถือเป็นปัจจัยร่วมพิจารณา เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว จะต้องมีความเชื่อมั่นว่าบริษัทมีศักยภาพในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นคืนครบถ้วนตามเงื่อนไขระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา

นอกจากนี้ ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้จะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อราคาหุ้นกู้ลดลง รวมถึงเศรษฐกิจมีความเสี่ยงชะลอตัวลง ทำให้ความผันผวนด้านราคาของ High Yield Bond อยู่ในระดับสูงมาก

อย่างไรก็ตาม High Yield Bond ที่เสนอขาย ไม่ใช่ด้อยคุณภาพทุกบริษัท ยังมีศักยภาพในการสร้างรายได้และกำไรที่ดี เช่น บริษัทกำลังเติบโตในปัจจุบัน จำเป็นต้องลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ก่อหนี้สูงมาก จนทำให้อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ ทั้งนี้จะต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้บริหารในเรื่องธรรมาภิบาลประกอบด้วย

นอกจากนี้ยังพบว่า High Yield Bond ออกโดยบริษัทที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิต รวมถึงบริษัทที่เพิ่งจะเริ่มออกหุ้นกู้ หรือเพิ่งนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ชื่อเสียงยังไม่คุ้นเคยดี รวมถึงบริษัทที่ออกหุ้นกู้มูลค่าไม่มาก เม็ดเงินที่ได้รับอาจจะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดอันดับเครดิต

ส่วนบริษัทที่ออกแต่กลัวขายไม่หมด ก็จะมีหลักประกันเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยในไตรมาส 1/2565 หุ้นกู้กลุ่ม High yield ออกเป็นหุ้นกู้มีประกันในสัดส่วนที่สูงถึง 82.61% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีสัดส่วน 67.89% หลักประกันส่วนใหญ่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถึง 50.34% ตามด้วยการมีบุคคลที่สามที่มีความน่าเชื่อถือมาค้ำประกันสัดส่วน 45.46%

แต่หากนักลงทุนไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุน High Yield Bond เองทั้งหมด หรือไม่มีเวลาทำการบ้าน ก็สามารถมอบหมายให้มืออาชีพมาช่วยบริหารเงินให้ผ่านกองทุนรวม ประเภท High Yield Bond คาดว่าจะเสนอขายในอนาคต ซึ่งมีระบบและผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการลงทุน ทำการคัดเลือกหุ้นกู้ที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสมกับอันดับความน่าเชื่อถือและระดับความเสี่ยง อีกทั้งยังมีการติดตามผลการดำเนินงาน สถานะทางการเงินของบริษัทผู้ออกอย่างใกล้ชิดให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน สามารถลงทุนได้หลายบริษัท มีการกระจายความเสี่ยงทั้งรายตัวและรายอุตสาหกรรม ขณะที่นักลงทุนรายใหญ่ซื้อ High Yield Bond เพียงไม่กี่บริษัท แต่ก็มีจุดอ่อนตรงที่ผู้ถือหน่วยจะต้องถือครองจนครบกำหนดของกองทุนเท่านั้น

และที่สำคัญหากบริษัทที่ออกหุ้นกู้ มีปัญหาผิดนัดชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้น บลจ.จะดำเนินการแทนผู้ถือหน่วยลงทุนในการติดตามแก้ไขปัญหาแทนผู้ถือหน่วยลงทุน เริ่มจากติดตามข้อมูล ส่งตัวแทนเข้าประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ออกสิทธิโหวตแนวทางการแก้ไข ตามกระบวนการติดตามและทวงถามหนี้ตามขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งมีกระบวนการและระยะเวลาดำเนินการที่ยาวนาน หรืออาจจะจำเป็นต้องแต่งตั้งทนาย เพื่อดำเนินคดี ติดตามเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยกลับคืนมาให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนให้มากที่สุด การดำเนินงานของกองทุนรวมจะคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหน่วยลงทุน

การลงทุนท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงผิดปกติ เศรษฐกิจชะลอตัว นักลงทุนต้องพิจารณาความเสี่ยงให้รอบด้านก่อนตัดสินใจลงทุน จะได้ไม่พลาด สูญเสียเงินต้นแถมไม่ได้ดอกเบี้ยสูงอย่างที่คาดหวัง