โดย…สุนันท์ ศรีจันทรา
นานทีจึงจะมีบริษัทจดทะเบียน ประกาศเพิ่มมูลค่าหุ้นที่ตราไว้หรือเพิ่มพาร์สักที ล่าสุดบริษัท เอสจีเอฟ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือSGF เพิ่งปรับเปลี่ยนพาร์ใหม่ จากเดิมพาร์ 50 สตางค์ เพิ่มเป็นพาร์ 5 บาท และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการซื้อขายหุ้นแต่อย่างใด
การเปลี่ยนแปลงราคาพาร์ของ SGF มีวัตถุประสงค์เพื่อลดทุน โดยหลังเพิ่มพาร์จะลดทุนจดทะเบียน เพื่อล้างขาดทุนสะสมและเมื่อบริษัทมีผลกำไร จะสามารถจ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้นได้
การเพิ่มพาร์จาก 50 สตางค์เป็น 5 บาทนั้น ไม่มีผลกระทบใดต่อผู้ถือหุ้น เพราะสัดส่วนการถือหุ้นยังเท่าเดิม หุ้นที่ถืออยู่จาก 10 หุ้น แม้จะเหลือเพียง 1 หุ้น แต่มูลค่าหุ้นเพิ่มสิบเท่าตัว
ส่วนสภาพคล่องการซื้อขายไม่ได้ลดน้อยถอยลง เพราะตั้งแต่หุ้น SGF ซื้อขายด้วยราคาพาร์ใหม่เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา การซื้อขายยังปกติ ไม่ได้ซบเซาแม้จะต้องซื้อขายในราคาหุ้นละ 1 บาทเศษ จากที่เคยซื้อขายกันหุ้นละสิบกว่าสตางค์ก็ตาม
บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ มักจะแตกพาร์หรือสปลิทหุ้น เพื่อทำให้มูลค่าหุ้นลดลง โดยอ้างว่าเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขาย แต่เป้าหมายจริงๆ มักหวังกระตุ้นราคาหุ้นมากกว่า
หุ้นที่ซื้อขายกันระดับ 1 บาท ถือว่าเป็นมูลค่าที่ต่ำ นักลงทุนรายย่อยสามารถซื้อขายกันได้อยู่แล้ว แต่ฝ่ายบริหารบริษัทจดทะเบียนก็ยังสปลิทหุ้นกันอีก ลดพาร์จาก1 บาท เหลือ 10 สตางค์ หรือลดพาร์จาก 10 สตางค์เหลือเพียงสตางค์เดียว จนหุ้นซื้อขายกันในราคาไม่กี่สตางค์
หุ้นที่แตกพาร์ และทำให้ราคาหุ้นที่ซื้อขายบนกระดานเหลือเพียงไม่กี่สตางค์นั้น มักเป็นที่มีพฤติกรรมการสร้างราคา มีเจ้ามือคอยดูแลหุ้น ซึ่งส่วนใหญ่จบไม่สวย
เพราะฝ่ายบริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ มุ่งแต่การหากินกับส่วนต่างราคาหุ้น โดยละเลยในการสร้างผลประกอบการที่ดีของบริษัท เมื่อกอบโกยความร่ำรวยจากส่วนต่างราคาหุ้น สูบทรัพย์สินของบริษัทจดทะเบียนจนเหลือแต่ซาก และหมดลูกเล่นที่ปั่นราคาหุ้นแล้ว จะปล่อยให้บริษัทตกอยู่ในสภาพตายซาก ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง ราคาหุ้นทรุดตัวลง จนซื้อขายกันที่ราคาไม่กี่สตางค์ 1 สตางค์บ้าง 2 สตางค์บ้าง
ปัจจุบันมีหุ้นที่ซื้อขายกันในราคาต่ำกว่า 10 สตางค์นับสิบตัว และแม้จะเหลือไม่กี่สตางค์ แต่ไม่มีสภาพคล่องในการซื้อขาย เพราะนักลงทุนทั่วไปไม่เข้าไปแตะหุ้นประเภทนี้ ส่วนผู้ถือหุ้นที่ถือไว้อยู่ในสภาพซังกะตาย จะขายหุ้นทิ้งก็ไม่มีคนซื้อ โดยเฉพาะหุ้นที่เหลือเพียง 1-3 สตางค์ ซึ่งล้วนเป็นหุ้นที่มีประวัติโชกโชน สร้างความเสียหายให้นักลงทุนในวงกว้าง
หุ้นขนาดจิ๋วที่ราคาไม่กี่สตางค์เหล่านี้ ขยับขึ้นแต่ละสตางค์หรือแต่ละช่วง คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วสูงมาก เช่นหุ้นที่เหลือ 1 สตางค์ ถ้าขยับขึ้นเพียง 1 สตางค์ เท่ากับปรับตัวเพิ่มขึ้น 100% หรือเมื่อขึ้นไปยืนที่ 2 สตางค์ ถ้าลงมาเพียง 1 สตางค์ เท่ากับลง 50%
หุ้นราคาไม่กี่สตางค์ ไม่ควรมีการซื้อขายด้วยซ้ำ เพราะใครจะเข้าไปเสี่ยงเคาะซื้อเคาะขายในราคาที่แกว่งตัวระดับ 50% หรือ 100% แต่ปรากฏว่า หุ้นจิ๋วเหล่านี้กลับมีการซื้อขายทุกวัน เคาะกันวันละหลายล้านหรือนับสิบล้านหุ้น แต่เมื่อคำนวณเป็นตัวเงินแล้ว ซื้อขายวันละไม่กี่หมื่นบ้านหรือระดับแสนบาทเท่านั้น
และมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้น ไม่น่าจะเป็นไปตามกลไกตลาด แต่มีคนคอยดูแล โดยทำหน้าที่เคาะซื้อขาย เพื่อไม่ให้หุ้นอยู่ในสภาพตายสนิท และตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ได้ใส่ใจไปตรวจสอบการซื้อขายหุ้นเน่าๆเหล่านี้
เจ้ามือหุ้นตัวไหนจะทำอะไรปล่อยตามใจชอบ
ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์เคยพูดถึงนโยบายแก้ปัญหาหุ้นที่อยู่ในสภาพตายซาก ราคาซื้อขายเหลือไม่กี่สตางค์ โดยจะออกมาตรการให้รวบหุ้นหรือเพิ่มพาร์ จากพาร์ 1 สตางค์อาจเพิ่มเป็นพาร์ 10 สตางค์ หรือพาร์ 10 สตางค์ เพิ่มเป็นพาร์ 1 บาท เพื่อให้มูลค่าหุ้นที่ซื้อขายสูงขึ้น การขยับขึ้นลงแต่ละช่วงไม่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงเกินไป
แต่นโยบายแก้ปัญหาสภาพคล่องหุ้นขนาดจิ๋วที่ซื้อขายกันไม่กี่สตางค์เงียบหายไป และปล่อยให้เจ้ามือหุ้นจิ๋วนับสิบตัว ทำหน้าที่ดูแลการซื้อขาย ส่งคำสั่งซื้อขายเพื่อกระตุ้นให้หุ้นดูมีชีวิตชีวาไปวันๆ เท่านั้น จนกว่าจะมีการเปลี่ยนเจ้ามือหรือเจ้ามือเก่าคิดหาลูกเล่นมาปั่นหุ้นรอบใหม่
ใครที่ติดตามดูการซื้อขายหุ้นจิ๋วราคาไม่กี่สตางค์แต่ละวันแล้ว อาจสังเวชตา เพราะลากขึ้นทุบลงช่วงละ 33% หรือ50% เป็นว่าเล่น เหมือนเด็กเล่นขายของ
ไม่รู้ตลาดหลักทรัพย์ทนดูอยู่ได้อย่างไร ทำไมไม่แก้ปัญหาหุ้นที่ตายซากคากระดานหุ้น ทำไมไม่จับรวมพาร์หุ้นจิ๋วที่ราคาเหลือไม่กี่สตางค์ เพื่อให้กลับมาซื้อขายอย่างเป็นผู้เป็นคนบ้าง