“ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่” เตรียมขาย IPO เข้า SET หลังก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง

HoonSmart.com>> “ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่” เตรียมเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 600 ล้านหุ้น หลังก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง พร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ภายในกลางปีนี้ รุกขยายธุรกิจสู่ผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนชั้นนำ ต่อยอดจุดแข็งความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพและความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

นางรัชดา เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ2 บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย)ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (TGE) หนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หลังจาก TGE ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ล่าสุด ก.ล.ต. ได้เริ่มนับหนึ่งไฟลิ่งแล้ว

รัชดา เกลียวปฏินนท์

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 600 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นไม่เกิน 27.3% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นในครั้งนี้โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า ชำระเงินกู้สถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

นายพงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (TGE) เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมต่อยอดความแข็งแกร่งจากการเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และมีความมั่นคงในด้านวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มุ่งขยายการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน สู่การเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนชั้นนำตามแนวทาง Green Energy ซึ่งปัจจุบัน TGE ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวลจากวัตถุดิบหลักประเภททะลายปาล์มเปล่า เส้นใยปาล์ม ไม้ชิพ รากไม้สับ เป็นต้น และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน โดยมีจุดแข็งที่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรม ได้แก่

พงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล

1) ความมีประสิทธิผลในด้านต้นทุน (Effectiveness) เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ตั้งอยู่ในอำเภอท่าฉาง จังหวัด สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกปาล์มที่สำคัญของประเทศ ขณะที่กลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงสกัดน้ำมันปาล์ม ซึ่งมี by product เป็นวัตถุดิบนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวลและสามารถรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรในพื้นที่ จึงได้เปรียบด้านวัตถุดิบ ต้นทุนค่าขนส่งและความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงการผลิต ประกอบกับโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งหมดตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันและใช้เทคโนโลยีการผลิตเดียวกัน จึงมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนการเก็บสำรองชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับโรงไฟฟ้า ทำให้บริษัทฯ มีความสามารถในการแข่งขันและความสามารถทำกำไรที่สูงขึ้น

2) ความมีประสิทธิภาพด้านการผลิตและบริหารจัดการ (Efficiency) สามารถผลิตไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงด้วยต้นทุนที่ต่ำ เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทฯ รองรับเชื้อเพลิงได้หลากหลายชนิดทั้งเชื้อเพลิงที่มีความชื้นสูง 40-60% และเผาวัตถุดิบชีวมวลประเภททะลายปาล์มเปล่าได้ 100% ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าโรงไฟฟ้าประเภทเดียวกัน ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะชุมชนได้นำเทคโนโลยีที่สามารถเผาขยะมูลฝอยที่มีความชื้นสูง และใช้กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากขยะแบบเผาตรงโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการคัดแยก จึงช่วยลดต้นทุนผลิตไฟฟ้าและลดการปล่อยของเสีย เข้าใกล้รูปแบบมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Waste)

3) มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ (Experience) อย่างมีธรรมาภิบาล โดยบริษัทฯ มีบุคลากรที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการสร้างค่านิยมองค์กรที่เรียกว่า “TGE” (เทคโนโลยีที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูง เน้นธรรมภิบาลขององค์กร ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม) สำหรับใช้เป็นเครื่องมือหลักขับเคลื่อนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติงานให้เชื่อมโยงกัน เพื่อพัฒนาสู่การเป็นองค์กรที่มั่นคงครอบคลุมทุกมิติ นำมาซึ่งความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้น ตลอดจนผลประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

ดร.ศักดิ์ดา ศิริภัทรโสภณ

ดร.ศักดิ์ดา ศิริภัทรโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TGE กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TGE, TPG และ TBP ในอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำลังการผลิตติดตั้งรวม 29.7 MW และปริมาณไฟฟ้าเสนอขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตามสัญญาระยะยาวรวม 20.3 MW อีกทั้งมีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอีก 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TES SKW จังหวัดสระแก้ว, โรงไฟฟ้า TES RBR จังหวัดราชบุรี และโรงไฟฟ้า TES CPN จังหวัดชุมพร ซึ่งได้รับเลือกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 22 MW และปริมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะเสนอขายรวม 16 MW คาดว่าจะเริ่ม COD ได้ภายในปี 2567

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนขยายการลงทุนไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภทอื่นที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และก๊าซชีวภาพ เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวที่จะเพิ่มกำลังผลิตติดตั้งเป็นมากกว่า 200 MW ภายในปี 2575

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงปี 2562-2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายจำนวน 336.1 ล้านบาท 650.9 ล้านบาท และ 779.7 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 52.3 ต่อปี จากการจำหน่ายไฟฟ้าในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ปรับเพิ่มขึ้นตามโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ และในปี 2563 เริ่มมีรายได้จากการรับบริหารจัดการกำจัดขยะจากโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จังหวัดสระแก้ว ขณะที่กำไรสุทธิในปี 2562-2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 94.3 ล้านบาท 166.9 ล้านบาท และ 202.1 ล้านบาท ตามลำดับ