HoonSmart.com>>บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง (CIVIL) มั่นใจรายได้ในปี 2565 จะเติบโต 20% จาก Backlog ที่มีอยู่จำนวน 16,000 ล้านบาท ทยอยรับรู้ภายใน 3 ปี ซึ่งไม่รวมงานใหม่ๆที่จะเข้ามาเติมต่อเนื่อง แต่เมื่อมองไป 10 ปีข้างหน้า จะเห็นความเสี่ยงจากวงจรงานโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไม่ได้มากเหมือนในขณะนี้ บริษัทจะต้องขยับตัวไปพร้อมๆกับสิ่งที่อยากทำ นับเป็นโจทย์ใหญ่ในการออกแบบโครงสร้างองค์กรและธุรกิจ สร้าง S-curve ใหม่
“ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง ( CIVIL) หนึ่งในผู้นำด้านวิศวกรรมโยธาใช้เทคโนโลยีก่อสร้างครบวงจร ให้สัมภาษณ์ว่า นับตั้งแต่บริษัทฯเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2565 นักลงทุนหลายคนชอบหุ้น CIVIL ที่มีผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง โตพร้อมกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และยังมีโอกาสที่จะโตได้อีกมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทซีวิลเอนจีเนียริง ” Small but beautiful” เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดกลาง มีศักยภาพ สามารถทำอะไรคล่องตัว พร้อมร่วมมือและสนับสนุนบริษัทรับเหมาฯขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็พร้อมมองหาน่านน้ำใหม่ ๆ หากมีโอกาส งานไหนเข้าตรงได้ ก็จะรับงานเอง
“บริษัทจะไม่โฟกัสแค่สิ่งที่ทำตรงหน้า แล้วไม่ได้มองไปถึงอนาคต”
เมื่อ 5 ปีที่แล้ว จากไม่เคยรับงานรถไฟ แต่”มองขาด”ว่าเป็นสิ่งที่กำลังจะมา จึงขยับตัวมาทำรถไฟ เรามีงานถนน มีงานโครงสร้าง นำสิ่งที่มีอยู่ ความถนัดที่มีอยู่ เพื่อก้าวไปถึงสิ่งใหม่ ๆ ทำให้มีความพร้อมมากขึ้น เมื่อมีงานเข้ามา ซึ่งงานรถไฟทางคู่ ได้รับเหมาช่วงจากบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) ทางด่วนที่พระราม 3 ร่วมทุนกับบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ)
จากจุดนี้ไป วิถีการมองธุรกิจ คือ ทำยังไงให้ 1+1 ได้มากกว่า 1 คุณค่าที่จะเติมให้กับลูกค้า คุณค่าที่จะเติมให้กับสังคม และสิ่งแวดล้อม จะพัฒนาตัวเองให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันยังไง เพื่อที่จะตอบรับโอกาสใหม่ ๆ ยกตัวอย่าง ถ้ามองข้างหน้า มีโรงงานรถไฟฟ้ามั๊ย หรือ ดาต้า เซ็นเตอร์ หรือจะมีการเจรจาควบรวมกิจการ เพราะการอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เปิดโอกาสให้บริษัทฯมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการในประเทศเท่านั้น มองไปถึงผูู้ประกอบการในภูมิภาคนี้ หรือต่างประเทศที่มีเรื่องเทคโนโลยีหรือมีอะไรที่สามารถ Synergy ร่วมมือแบบ Win-Win ได้
ขณะเดียวกันบริษัทจะต้องออกแบบองค์กรให้มีความชัดเจน ให้มีคนรุ่นใหม่ การบริหารจัดการให้มีคุณภาพมากขึ้น คงต้องเตรียมตัวให้ดีให้ชัด
CIVIL ทำงานรับเหมาก่อสร้าง แต่ธุรกิจหลักจริงๆ คือการบริหารโครงการ ( Project Management ) จะทำยังไงให้งานที่ทำเป็นงานที่ดี โดยการบริหารจัดการคน เครื่องจักร วิธีการทำงาน ภายใต้ 4 หลักการ คือ1. เวลา ทำยังไงให้เสร็จทันเวลา ตามที่ตั้งเป้าไว้ 2. ภายในงบประมาณที่ต้องการ 3.คุณภาพงานที่ดี 4.เรื่องความปลอดภัย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการสร้างทางรถไฟ โครงสร้าง ถนน สถานี หรือ ดาต้า เซ็นเตอร์ หรือโรงงาน ก็ใช้หลักการเดียวกัน องค์ความรู้ ความถนัดที่บริษัทมี จะสามารถเอาไป Plug-in กับองค์กรอื่นอย่างไร เพื่อให้ 1+1 ได้มากกว่า 1
แนวทางหนึ่งในการก้าวเข้าสู่เป้าหมาย คือ เราต้องหูตากว้างไกล พร้อมเปิดโลกทัศน์หาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการก่อสร้างใหม่ๆ เพื่อนำมาบริหารจัดการงาน พัฒนาประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น สร้างกำไรที่ดีขึ้นในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่ม “สตาร์ทอัพ”
ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ จะไปประเทศสหรัฐอเมริกา คุยกับสตาร์ทอัพหลายราย เชื่อว่าคนที่มีไอเดียดี ๆ ยังต้องการการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินทุน รวมถึงเรื่องของโอกาส หรือโจทย์ที่ชัดเจนจากคนที่ทำงานจริง ๆ
แต่ก็ไม่ง่ายที่จะจบดีล โดยมี 3 เรื่องที่ถือเป็นความท้าทาย คือ 1.จะทำยังไงให้สิ่งที่สตาร์ทอัพมีอยู่แล้ว ตอบโจทย์ของบริษัท 2. บริษัทคิดใหม่ ทำใหม่ จะต้องมองให้เห็นว่า อยากจะให้เป็นยังไง ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีภาพนั้น แต่คิดว่าสนใจเรื่อง ดาต้า เซ็นเตอร์ โรงงานรถไฟฟ้า และ3. จะทำอย่างไรให้นำเทคโนโลยีที่อยู่ในตลาด มาปรับใช้กับงานของบริษัทให้มีประโยชน์ที่สุด ไม่ว่าจะผ่านทางสตาร์ทอัพหรือผ่านช่องทางอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีที่ต้องการ อาจไม่ต้องเป็นอะไรที่ใหม่ขนาดนั้น ยกตัวอย่างเช่น สะพานที่บริษัททำ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว สะพานข้ามแยกกว่าจะเสร็จต้องใช้เวลาหลายสิบวัน ต้องตั้งแบบ ทำเสา พอวันนึงนำ Precast “แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป”ที่โรงงานแล้ว ยกมาตั้งก็เร็วขึ้น ตอนนี้ใช้ Segment หล่อเป็นชิ้น ๆ แล้วมาติดกัน ณ วันที่ผมเริ่มทำงาน ไม่เคยทำงาน Segment มาก่อนเลย ใช้เวลา 1 สแปน ในการติดตั้ง 10 วัน แต่หาวิธีการที่ทำให้เร็วและดี ตอนนี้ใช้เวลา 5-6 วันก็เสร็จ ตอนนี้จะทำยังไงให้สิ่งที่บริษัทมีอยู่แล้วทำอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันถ้ามีเทคโนโลยีใหม่ ไม่ว่าจะเป็น 3D Printing เรื่องของ Data AI จะให้สิ่งที่อยู่ในแล็บ อยู่ในการศึกษา อาจจะอยู่ในช่วงกำลังตั้งไข่อยู่ บริษัทจะสามารถอุ้มชู เอาเคสจริง เอาโจทย์จริงไปใส่ให้เกิดเป็นรูปเป็นร่าง สร้างมูลค่าขึ้นมา
นอกจากนี้”โมเดลธุรกิจ”ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง
เชื่อว่าการที่ทำเรื่องอะไรให้ดีแล้วแบ่งเพื่อนได้ หรืออะไรที่บริษัทไม่ถนัด ก็ไปใช้ของเพื่อน นี่คือหลักการของ Sharing Economy ยกตัวอย่าง บริษัทเป็น Operator เครื่องจักร ทำงานก่อสร้างมีเครื่องจักรที่ดี เห็นว่ามีเครื่องจักรบางอย่างที่จะสามารถทำได้ดีกว่าเพื่อน ก็น่าจะเอามาให้บริการ หรือแต่ก่อน มีโรงโม่หิน หรือเรามีโรงงาน Segment ที่ดีที่สุด จะสามารถขายคนอื่นได้ราคาที่เหมาะสมที่สุด เพื่อนซื้อไปใช้ก็จะได้ประโยชน์สูงที่สุด เพราะฉะนั้นมองว่า เลือกในสิ่งที่อยากจะเติบโต เลือกในสิ่งที่ถนัด แล้วแชร์ ในขณะเดียวกัน อะไรที่คิดว่าไม่ใช่ Core Competency จะเลือกพาร์ทเนอร์ที่ถนัด แล้วก็ไปแชร์มาเหมือนกัน
“ตอนนี้เรามีธุรกิจให้เช่าอยู่แล้ว แต่จะเช่าเฉพาะคนที่อยู่ในเครือข่าย ธุรกิจก่อสร้างมีส่วนแบ่งประมาณ 8-9% ของ GDP เป็น Multiplier ที่สำคัญของสังคม มีคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาช่วงหรือซัพพลายเออร์ อยากจะให้โตขึ้นมาพร้อมกัน บริษัทใหญ่ก็ช่วยบริษัทกลาง บริษัทกลางก็ช่วยบริษัทเล็ก บางทีเขาอาจจะไม่มีกำลังที่จะไปซื้อเครื่องจักร หรือไปเช่าคนอื่น อาจจะแพงมาก เกิดการพัฒนา Sharing Economy ถ้าสามารถขยายฐานให้กว้างขึ้น ไปสู่คนภายนอกก็น่าจะดี ซึ่งหวังว่า S-curve ใหม่น่าจะเห็นในช่วง 3-4 ปีนี้ ”
สำหรับภาพรวมธุรกิจรับเหมาฯในปี 2565 มีทั้ง Upside และ downside
มองในมุมบวก ยังมีงานภาครัฐออกมาต่อเนื่อง งานของกรมทางหลวง การทางพิเศษ งานสนามบิน งานของรถไฟ รวมถึงงานภาคเอกชน บริษัทมีผลงานที่โดดเด่น มีความชัดเจนขึ้น มีคนรู้จักเยอะขึ้น ก็เริ่มมีคนเรียกเข้าไปเสนอราคาอย่าง ปตท. ก็เริ่มเข้าไปทำทางเชื่อมรถไฟ เชื่อว่าใน EEC ยังพอมีการลงทุนบ้าง
ส่วนงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ก็มีมาก เช่น งานรถไฟความเร็วสูง มีช่วงที่ 2 – 1 ก็ใกล้จะเสร็จ และช่วง 4 – 7 ช่วง สระบุรี-แก่งคอย งานเดินไปได้ 10% แล้ว ยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กำลังจะยก segment นอกจากนี้ยังมีงานดิน งานถนน งานเขื่อน งานสนามบิน เป็นงานที่หลากหลาย
ทั้งนี้ CIVIL มองว่างานที่จะออกมายังคงเติบโตได้ตามแผน หรืออาจจะมากกว่าแผน แต่ก็มีความเสี่ยง เรื่องความผันผวนที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ราคาเหล็ก ราคาวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ที่ผ่านมา CIVIL ค่อนข้างปรับตัว พยายามที่จะลดปัจจัยเสี่ยง เช่นสั่งวัสดุฯล่วงหน้า หรือ ลดเรื่องของการขนส่ง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ Supply ที่ค่อนข้างขาด และงานภาครัฐก็จะมีค่า K ซึ่งหวังว่า ภาครัฐน่าจะเข้ามาช่วยในบางส่วน เช่น สูตรบวกลบ 4% อาจจะต้องขอความร่วมมือของภาครัฐด้วย เชื่อเหลือเกินว่า การทำเรื่อง Made in Thailand ที่ใช้ของในบ้านเรา แต่ในบางครั้งถ้าของในบ้านขาด อาจจะสามารถยืดหยุ่นกันได้ยังไงบ้าง นับเป็นความท้าทาย ซึ่งคงต้องค่อย ๆ ประคองและประสานกับภาครัฐ รวมถึงคุยกับผู้ประกอบการที่เป็นเพื่อนร่วมอาชีพ ให้สามารถที่จะเดินต่อไปได้ ในขณะที่ประเทศก็พัฒนาอย่างเป็นธรรม แล้วก็ยั่งยืน
ด้านบล.บัวหลวงให้ราคาเป้าหมาย CIVIL ปีนี้ที่ 7.70 บาท มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น จากบริษัทส่งสัญญาณงานใหม่ที่เดินหน้าประกวดราคามากขึ้นกว่าปีก่อน และตั้งเป้าหมายงานใหม่สูงถึง 1 หมื่นล้านบาทมากกว่าเดิม ทำให้กำไรระยะยาว และมูลค่าให้ถูกลง หนุนหุ้นระยะสั้น คาดกำไรไตรมาส 1/2565 จะออกมาสูงกว่าที่เคยคาดไว้ และมี 4 ปัจจัยบวกสนับสนุนกำไรในปี 2565-2567ตอกย้ำความเชื่อมั่นทั้งในระยะสั้นและยาวที่ดีกว่าเดิม ขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวลงราว 23% หลังจากแรลลี่เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา จึงเป็นโอกาสดีในการเข้าซื้อ