HoonSmart.com>>โบรกเกอร์ส่วนใหญ่คาดหุ้นหลังสงกรานต์จะผันผวน นักลงทุนชะลอลงทุน หลายปัจจัยต่างประเทศถ่วง ไทยจับตาผู้ติดเชื้อโควิดจะเร่งขึ้นหรือไม่ ตลาดมีโอกาสฟื้นจากคาดหวังงบฯกลุ่มแบงก์ไตรมาส 1/65 จะออกมาดี แนะธีม Defensive-เปิดเมือง-งบดี-ปันผลสูง-Value play-Domestic play เช่น EA, AOT, KKP, BDMS, M, WHA, TOP, BCP, CPALL, CPN, IVL, JR, ORI, OSP, SHR, TTB, BBL, KBANK, CRC, SPR ให้แนวรับ 1,670-1,640 แนวต้าน 1,685-1,700 จุด
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตลาดหุ้นไทยปิดทำการ (13-15 เม.ย.2565) ตลาดหุ้นสหรัฐเปิดซื้อขายผันผวน หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 8.5% สูงสุดในรอบ 40 ปี และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) 10 ปี เพิ่มขึ้นแตะ 2.827% ส่งผลต่อตลาดหุ้นเอเชีย โดยธนาคารกลางจีนส่งสัญญาณจะประกาศลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่วันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมากลับคงดอกเบี้ย ทำให้นักลงทุนผิดหวัง มีเพียงการปรับลดอัตราส่วนความต้องการเงินสำรอง(RRR) ลง 0.25% เหลือ 8.1% และปรับลด 0.50% สำหรับธนาคารขนาดเล็ก ขณะที่ธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 1% และเกาหลีใต้ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.5% ส่วนไทย บล.เอเซียพลัสคาดจะปรับขึ้น 0.25% ในครึ่งปีหลังหลังจากธปท.เพิ่มประมาณการเงินเฟ้อของปีนี้เป็น 4.9% ซึ่งจะกระทบดัชนีหุ้นประมาณ 88 จุด ทำให้เป้าหมายของปีนี้เหลือเพียง 1,722 จุด
กลยุทธ์การลงทุนในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์จะทำอย่างไร นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะนำให้ชะลอการลงทุนก่อน คาดดัชนีฯจะแกว่ง Sideway Down เพื่อรอดูจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศจะเร่งตัวขึ้นหรือไม่ และจะมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในต้นเดือนพ.ค. ซึ่งจะมีประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการปรับลดขนาดงบดุล นักลงทุนบางส่วนจะชะลอการลงทุนก่อน ซึ่งจะต้องรอดูว่าการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)จะสร้างความเชื่อมั่นได้หรือไม่
นอกจากนี้ สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่จบและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังสามารถเข้าลงทุนหุ้น Defensive, หุ้นในกลุ่มเปิดเมือง และหุ้นที่ให้ผลตอบแทนปันผลดีได้ เช่น หุ้น KKP, BDMS, M, WHA, TOP เป็นต้น พร้อมให้แนวรับ 1,670-1,650 จุด ส่วนแนวต้าน 1,685-1,690 จุด
นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดว่าตลาดจะพักตัว จากตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ส่งผลให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อีกทั้งทิศทางเศรษฐกิจชะลอการเติบโต จากแรงกดดันภาวะสงครามที่ยังไม่จบ แต่นักลงทุนสามารถตั้งรับได้เมื่อดัชนีฯลงมาแถว 1,650 จุด สามารถทยอยซื้อได้
พร้อมมองหุ้น Domestic play และ Value play สามารถลงทุนได้ โดยแนะนำหุ้น BCP, CPALL, CPN, IVL, JR, ORI, OSP, SHR, TTB พร้อมให้แนวรับ 1,660-1,650 ถัดไป 1,620 จุด ส่วนแนวต้าน 1,690-1,700 จุด
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดคงจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นในลักษณะแกว่ง Sideway up แต่คงจะปรับขึ้นไปได้ไม่มาก เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ แต่หากกำไรกลุ่มแบงก์ออกมาดีก็จะช่วยหนุนตลาดได้บ้าง อีกทั้งยังต้องรอดูจีนจะควบคุมการแพร่ระบาดโควิดได้หรือไม่ ถ้าควบคุมไม่ได้ก็อาจทำให้ตลาดในเอเชียปรับตัวลง
นอกจากนี้ จะมีการประชุมเฟดในวันที่ 3-4 พ.ค.นี้ ซึ่งต่างก็รอดูการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะมีการส่งสัญญาณอะไรออกมาอีกหรือไม่ ส่วนบอนด์ยีลด์ในช่วงสั้นอาจพักตัวบ้าง ซึ่งความเสี่ยงจากปัจจัยนอกประเทศมีมาก ดังนั้นช่วงนี้ส่วนใหญ่จึงน่าจะขายออกมาก่อน เพื่อรอดูทิศทางที่ชัดเจนก่อน
อย่างไรก็ดี นักลงทุนสามารถเลือกเทรดดิ้งหุ้นที่อิงราคาสินค้าสินค้าโภคภัณฑ์, หุ้นที่งบออกมาดี และหุ้น Value play เช่นกลุ่มธนาคาร และกลุ่มค้าปลีก โดยแนะนำหุ้น ฺBBL, KBANK, CPALL, CRC, CPN, TOP, SPRC เป็นต้น พร้อมให้แนวรับ 1,640 จุด แนวต้าน 1,700 จุด
นายศราวุธ เตโชชวลิต ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ของสหรัฐฯออกมาใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ ตลาดมีโอกาสที่จะรีบาวด์ขึ้นได้ หลังจากตอบรับเฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว และอาจมีแรงเก็งกำไรกลุ่มแบงก์ได้ คาดว่ากำไรไตรมาส 1/2565 จะเติบโต 8-10% QoQ และเติบโตเล็กน้อยเมื่อเทียบ YoY เนื่องจากปีที่แล้วฐานสูง พร้อมให้แนวรับ 1,670 จุด แนวต้าน 1,700 จุด
“แนะนำเก็งกำไรหุ้นในกลุ่มแบงก์ และหุ้นที่ปรับตัวลงแรง รวมถึงหุ้นที่ได้ประโยชน์จากdkiเปิดเศรษฐกิจ อย่างหุ้น EA, CPALL, AOT, CPN เป็นต้น”นายศราวุธกล่าว