กองทุนรวม Q1/65 มูลค่าทรัพย์สินลด หุ้นทั่วโลกตก-ตราสารหนี้หด

HoonSmart.com>> “กองทุนรวม” ไตรมาส 1/65 มูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 5.21 ล้านล้านบาท หดตัวลง 1.57 แสนล้านบาท คิดเป็นกว่า 2.92% จากสิ้นปีก่อน หลังเฟดส่งสัญญาณยุติ QE เร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ฉุดผลตอบแทนส่วนใหญ่ลดลง กองทุนหุ้นต่างประเทศติดลบกว่า 10% ฉุดมูลค่าทรัพย์สินลดลง 1.22 แสนล้านบาท กองทุนตราสารหนี้เงินไหลออก ด้าน “กองทุนน้ำมัน” ยังครองแชมป์ผลตอบแทนสูงสุด 3 เดือนแรกพุ่ง 27.5%

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) กองทุนรวมในไตรมาส 1/2565 มูลค่ารวมทั้งสิ้น 5,211,955 ล้านบาท ลดลง 156,969 ล้านบาท หรือ -2.92% จากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 5,368,924 ล้านบาท โดยกองทุนตราสารหนี้มูลค่าลดลง 87,207 ล้านบาท หรือ -3.83% จากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 2,275,915 ล้านบาท เหลือ 2,188,707 ล้านบาท และกองทุนตราสารทุนลดลง 53,902 ล้านบาท หรือ -2.98% จากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 1,810,753 ล้านบาท เหลือ 1,756,851 ล้านบาท ขณะที่กองทุนรวมแบบผสมมูลค่าลดลง 19,363 ล้านบาท หรือ -4.83% จากสิ้นปี 2564

ด้านกองทุนรวมเพื่อไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 1,112,307 ล้านบาท ลดลง 122,211 ล้านบาท หรือ -9.90% จากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 1,234,518 ล้านบาท

บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกนี้ถือว่าการลงทุนมีหลายปัจจัยที่ส่งผลในเชิงลบ ส่งผลให้กองทุนรวมไทยมีมูลค่าทรัพย์สินรวมหดตัวลงในทุกประเภทกองทุนยกเว้นกองทุนตราสารตลาดเงิน

กองทุนรวมตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และในไตรมาสแรกนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.7 พันล้านบาท โดยยังกระจุกตัวไปที่กองทุนหุ้นต่างประเทศ ในขณะที่กองทุนหุ้นไทยมีแรงขายจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)

กลุ่มกองทุนที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา คือ กลุ่มกองทุนน้ำมันที่ 27.5% โดยในรอบ 1 ปีจะอยู่ที่ 69.8% โดยในรอบไตรมาสแรกถือว่ามีปัจจัยลบต่อการลงทุนค่อนข้างมาก ทำให้กองทุนส่วนใหญ่มีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ โดยเฉพาะกองทุนหุ้นต่างประเทศที่ติดลบมากกว่า 10% ในขณะที่กองทุนหุ้นไทยยังสามารถให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกได้ โดยในรอบไตรมาสแรกนั้น SET TR อยู่ที่ 3.2%

กองทุน LTF มีเงินลงทุนจากปี 2559 ที่ครบกำหนดไถ่ถอนตามเงื่อนไข 7 ปีปฏิทินในปีนี้ โดยในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมามีเงินไหลออกสุทธิกองทุน LTF รวม 1.6 หมื่นล้านบาท โดยราวครึ่งหนึ่งเป็นเงินไหลออกในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นปกติที่มักจะมีเงินไหลออกมากตั้งแต่เดือนม.ค.และชะลอลงหลังจากนั้น

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.1 ล้านล้านบาท ลดลง 8.4% จากสิ้นปี จากทุกประเภทกองทุนมีมูลค่าทรัพย์สินหดตัวลง โดยเกิดจากผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนตราสารทุนที่เป็นกลุ่มหลักส่วนใหญ่ติดลบเช่น Global Equity, China Equity, Global Technology รวมทั้งเม็ดเงินไหลออกสุทธิโดยเฉพาะกลุ่มตราสารหนี้ต่างประเทศ

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนยูโอบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาส่งสัญญาณชะลอตัวลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจเข้าสู่วัฏจักรระยะกลาง (Mid Cycle) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ปัญหาราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากความกังวลของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นได้เข้ามาซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อที่มีอยู่เดิมและกดดันให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น สำหรับการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron Variant นั้นได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว หลายๆ ประเทศเริ่มปรับมาตรการในการอยู่ร่วมกับ COVID-19 ในฐานะโรคประจำถิ่นและทยอยกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง

สำหรับสภาวะการลงทุนของตลาดหุ้นในไตรมาสที่ 1 มีการปรับฐานใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดฝั่งสหรัฐฯ หลังจาก Fed ได้ส่งสัญญาณการยุติมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (Quantitative Easing : QE) และขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วขึ้นกว่าที่ตลาดคาดก่อนหน้านี้มาก รวมถึงอาจจะเริ่มการลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening) ในช่วงกลางปีนี้เพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้กดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบหลายปี

อ่านข่าว

บลจ.ยูโอบีแนะถือเงินสด-ทองเพิ่ม ลด “หุ้นสหรัฐ-ยุโรป” เข้า “เอเชีย”

บลจ.วรรณแนะทยอยลงทุน ONE-MEDTECH หุ้นเทคฯทางการแพทย์ฝ่าตลาดผันผวน