HoonSmart.com>>โบรกฯส่องกำไรกลุ่มแบงก์งวดไตรมาส 1/65 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 4.1-4.89 หมื่นล้านบาท เติบโต 4.9-11% yoy และ 15.4-21% qoq ขานรับสินเชื่อที่ขยายตัวดีขึ้นหลังเปิดเมือง เศรษฐกิจฟื้นตัว ตั้งสำรองฯ-ค่าใช้จ่ายลดลงด้วย ส่วนไตรมาส 2/65 ธุรกิจยังเติบโตดี แม้จะเผชิญแรงกดดันจากสถานการณ์ยูเครน แต่ดอกเบี้ยขาขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มแบงก์ เชียร์ KBANK, BBL, SCB, TISCO และ TTB
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.พาย เปิดเผยว่า กำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (ทำวิจัย 6 แบงก์) งวดไตรมาส 1/65 คาดว่าจะมีกำไร 4.1 หมื่นล้านบาท เติบโต 8% yoy และ 20% qoq ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการตั้งสำรองหนี้ฯที่ลดลง ส่วน NPLs ก็ไม่น่ากังวล อย่างไรก็ดี มองว่าสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มแบงก์ในไตรมาส 2/65
“ปัจจัยภายนอกทั้งสถานการณ์ยูเครน และการคว่ำบาตรรัสเซีย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จะยังไม่ส่งผลกระทบกำไร และสินเชื่อในไตรมาส 1/65 แต่คาดว่าจะเข้ามากระทบในไตรมาส 2/65 ส่วนเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จนทำให้เฟดจะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย น่าจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มแบงก์ ปีนี้มองว่ากลุ่มแบงก์ยังเติบโตดีต่อเนื่อง เพียงแต่ระหว่างทางตลาดหุ้นเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มแบงก์อาจผันผวนไปบ้าง”
นายธนเดช กล่าวว่า แนวโน้มในไตรมาส 2/65 น่าจะได้เห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น จากภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน นำไปสู่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ก็ยังอยู่ แต่แบงก์ยังสามารถคุมหนี้เสียได้ คาดว่าไตรมาส 3-4 ผลงานของกลุ่มแบงก์จะออกมาดี ส่วนหนึ่งมาจากปีที่แล้วฐานต่ำด้วย
พร้อมแนะนำหุ้น BBL ให้ราคาเป้าหมาย 149 บาท และหุ้น KBANK ราคาเป้าหมาย 174 บาท
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า จากการวิจัย 7 แบงก์คาดว่าจะมีผลกำไรงวดไตรมาส 1/65 ที่ 48,990 ล้านบาท เติบโต 11% yoy จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการขยายตัวของสินเชื่อ และการตั้งสำรองฯที่ลดลง หลังจากที่มีการเปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็เดินหน้าได้ และการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ก็ดีอยู่ และเติบโต 21% qoq จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง
สำหรับไตรมาส 2/65 ยังมีมุมมองบวกอยู่สำหรับกลุ่มแบงก์ จากเศรษฐกิจที่ดีอยู่ และนักท่องเที่ยวเข้าไทยมากขึ้น แต่ยังต้องจับตาเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะกระทบความสามารถในการทำกำไรหรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ทำให้เศรษฐกิจชะลอในไตรมาส 2/65 อย่างไรก็ดี ภาพรวมกลุ่มแบงก์ปีนี้เป็นลักษณะการฟื้นตัว
พร้อมแนะนำหุ้น KBANK ให้ราคาเป้าหมาย 178 บาท, BBL ราคาเป้าหมาย 173 บาท และ SCB ราคาเป้าหมาย 167 บาท ซึ่ง SCB อยู่ระหว่างการสวอปเป็นหุ้น SCBX จึงต้องระมัดระวังการลงทุนด้วย
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า กำไรของกลุ่มแบงก์ในไตรมาส 1/65 คาดว่าจะมีจำนวน 41,765 ล้านบาท (จากการทำวิจัย 7 แบงก์) เติบโต 6.5% yoy และเติบโต 17.1% qoq รับผลจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ดีขึ้น และมีการตั้งสำรองฯลดลง สอดรับภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว รวมถึงผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจของมาตรการรัฐฯ ทำให้ Sentiment การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากงานมอเตอร์โชว์ในช่วงปลายเดือนมี.ค. พร้อมคาดจะเห็น NIM เริ่มกลับมาขยับขึ้นเล็กน้อย หลังเห็นทิศทางการปรับพอร์ตของหลายธนาคารที่เน้นมาสร้างสินเชื่อที่เป็น High Yield มากขึ้น เช่น สินเชื่อไม่มีหลักประกัน สินเชื่อดิจิทัล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ทำให้ Aseet Yield คาดจะเริ่มทยอยเพิ่มขึ้นตามลำดับ
พร้อมประเมินไตรมาส 1/65 ธนาคารขนาดใหญ่จะ Outperform ธนาคารขนาดกลาง-เล็ก เนื่องจากได้รับผลบวกจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่ลดลงมากกว่า
ทั้งนี้ ได้คงน้ำหนักกลุ่มแบงก์มากกว่าตลาด แนะนำ KBANK และ TTB เป็น Top Pick กลุ่ม โดย KBANK ให้ราคาเป้าหมาย 180 บาท มองเป็นธนาคารที่มีความพร้อมในการขยายการลงทุนด้าน Fintech เพื่อหาเทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้กับธนาคารในระยะยาว ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดตั้ง JVAMC ร่วมกับ JMT เพื่อแก้ปัญหาหนี้เสีย มองว่า KBANK จะมีความสามารถในการบริหารจัดการหนี้เสียดีขึ้นในระยะยาว ขณะที่ในแง่ Valuation ยังซื้อขายด้วย P/BV ต่ำเพียง 0.8 เท่า
ส่วน TTB ราคาเป้าหมาย 1.56 บาท เป็นธนาคารกลางที่น่าสนใจหลังเสร็จสิ้นกระบวนการควบรวม และจะเริ่มรับรู้ Synergy ระหว่างทั้งสองธนาคาร ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเป็นปีแรก ขณะที่ Valuation ซื้อขายด้วย P/BV ต่ำเพียง 0.6 เท่า
บล.ฟินันเซียไซรัส คาดว่ากำไรสุทธิรวมในไตรมาส 1/65 ของกลุ่มแบงก์จะอยู่ที่ 42,200 ล้านบาท (+8% y-y, +18% q-q) โดยเห็นปัจจัยบวกจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ(NII) จะโตดีตามปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าธนาคารจะควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงผลขาดทุนทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) จะทรงตัว เนื่องจากธนาคารมีกันชนมากเพียงพอแล้ววิกฤตในยูเครนน่าจะมีผลกระทบจำกัดต่อสำรองของธนาคาร ในไตรมาส 1/65 มีปัจจัยลบเรื่องรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงจากตลาดทุน และค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมที่ลดลง ในด้าน NPLs จะเพิ่มอย่างไม่มีนัยสำตัญเพียง 1.4% q-q จากการปรับโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จ
ขณะเดียวกันคงให้น้ำหนักกลุ่มแบงก์มากกว่าตลาดในระยะยาว โดยมี SCB และ KKP เป็นหุ้นเด่น โดย KKP เป็นตัวป้องกันความเสี่ยงในระยะสั้น นอกจากนี้ หุ้นน่าจะเกาะแนวโน้มขาขึ้นทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปี 65 จากกำไรตลาดทุน SCB ยังเป็นหนึ่งในหุ้นเด่น เนื่องจากโครงการTransformation จะทำให้ธนาคารฯ สามารถเจาะตลาดสินเชื่อที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสูง รวมถึงตลาดดิจิทัลที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ราคาหุ้นธนาคารที่ underperform กลุ่มมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 65 เกิดจากการสวอประหว่าง SCB และ SCBX ซึ่งทำให้สภาพคล่องลดลง คาดว่าราคาหุ้น น่าจะปรับตัวได้ดีกว่าหลังการสวอปเสร็จ
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) คาดว่าผลรวมกำไรสุทธิของกลุ่มแบงก์ในไตรมาส 1/65 จะออกมาเป็น 41,200 ล้านบาท (+4.9% yoy; +15.4% qoq) ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแกร่งอยู่มาก
หากเปรียบเทียบเป็นรายหุ้น พบว่า KKP จะรายงานผลกำไรออกมาเติบโตมากที่สุด เทียบกับ y-o-y +18.8% เนื่องจากมีรายได้ที่สูงขึ้น และมีการตั้งค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ECL ที่ลดลง แต่หากพิจารณาเฉพาะกำไรก่อนการตั้งสำรองฯ (PPOP) เพื่อเน้นการพิจารณาไปที่เฉพาะกำไรจากการดำเนินงาน คาดว่า BBL จะโดดเด่นที่สุด y-o-y +10.4% สอดรับกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NII) ที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้าคาดว่ากำไรไตรมาส 2/65 จะฟื้นตัวดีขึ้นเทียบกับ y-o-y ด้วยสาเหตุหลักคือ การตั้งสำรอง ECL ที่ลดต่ำลง ซึ่งเทียบกับฐานการตั้งสำรองฯที่สูงในปีที่แล้ว ซึ่งมีการระบาดของโควิด-19 มาก ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อยังดำเนินต่อไปจากการค่อยๆฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย แต่รายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ย อาจจะลดลงบ้าง ในการตีมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินต่างๆได้ต่ำลง ให้น้ำหนักกลุ่มแบงก์มากกว่าตลาด ให้ KBANK และ TISCO เป็น top picks ของกลุ่ม