ก.ล.ต. ปลื้มตลาดตราสารหนี้ดีขึ้น หลังปรับเกณฑ์คุ้มครองนักลงทุน

ก.ล.ต. เผยตลาดตราสารหนี้ปรับตัวในทิศทางที่ดี หลังจากปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลการออกและเสนอขายตราสารหนี้ เน้นการคุ้มครองนักลงทุน ตั้งแต่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า หลังจากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E ตั้งแต่ปลายปี 2559 ทำให้พบว่า นักลงทุนรายใหญ่ที่ลงทุนในตราสารหนี้ แม้ว่าจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth : HNW) ซึ่ง ก.ล.ต. ประเมินว่าน่าจะเป็นนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตราสารหนี้เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบัน กลับไม่มีความรู้ความเข้าใจตราสารหนี้ที่ลงทุนมากเท่าที่ควร

“HNW มีเงินเยอะ แต่เวลาเจ๊งก็โวยวายเสียงดัง ทำให้รู้ว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจตราสารหนี้ที่ลงทุน แต่ซื้อเพราะรู้จักกับคนขาย รู้อย่างเดียวว่า HNW มีสิทธิซื้อได้” นายรพี กล่าว

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังพบว่า ก่อนหน้านี้นักลงทุนในตราสารหนี้มักคำนึงถึงผลตอบแทนโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงในการลงทุนเท่าที่ควร ขณะที่ตัวกลางก็ไม่ได้ให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนที่เพียงพอ ก.ล.ต. จึงประกาศใช้เกณฑ์ตราสารหนี้ใหม่ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2561 เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นในหลายด้าน เช่น

– จำกัดการเสนอขายตั๋วเงิน ให้ขายได้เฉพาะนักลงทุนสถาบัน และการขายในวงจำกัดเท่านั้น

– แยกการกำกับดูแลการเสนอขายต่อ HNW ออกจากการเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน โดยตราสารหนี้ที่เสนอขายให้กับ HNW จะต้องมีการเปิดเผยข้อมสำคัญและคำเตือนสำหรับตราสารหนี้แต่ละประเภทให้นักลงทุนทราบ

– เพิ่มมาตรฐานการทำหน้าที่ของตัวกลาง โดยตัวกลางในการขายจะต้องแยกหน่วยงานที่ติดต่อกับผู้ออกตราสารหนี้ กับหน่วยงานที่ติดต่อนักลงทุนออกจากกัน

– กำหนดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อดูแลผลประโยชน์ของนักลงทุน สำหรับการเสนอขายเป็นการทั่วไป และเสนอขาย HNW

“ปัจจุบันตราสารหนี้เป็นทางเลือกในการลงทุนที่ได้รับความนิยม แต่การลงทุนตราสารหนี้โดยตรงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้ลงทุนต้องพิจารณาหลายด้าน เช่น ต้องรู้จักผู้ออกตราสารหนี้ ทั้งฐานะและความสามารถในการจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ต้องทราบลักษณะและเงื่อนไขของตราสารหนี้ที่ปัจจุบันมีหลายประเภท ความเสี่ยงกับผลตอบแทนสะท้อนกันพอควรหรือไม่ และถ้าจะขายคืนก่อนครบกำหนดในตลาดรองจะทำได้สะดวกหรือไม่ หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้จะสามารถติดต่อใครได้บ้าง การเข้าใจตราสารหนี้ที่จะลงทุนจึงเป็นเรื่องจำเป็น” นายรพี กล่าว

นอกจากนี้ ยังปรับปรุงเกณฑ์สำหรับกองทุนตราสารหนี้ ที่เสนอขายนักลงทุนรายย่อยให้มีการกระจายการลงทุนมากขึ้น จากเดิมที่กำหนดให้ลงทุนตราสารหนี้ตัวละไม่ต่ำกว่า 20% ของมูลค่าสินทรัพย์ ลดเหลือตัวละไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งทำให้กองทุนต้องกระจายการลงทุนในตราสารหนี้อย่างน้อย 10 ตัว โดยมีผลตั้งแต่เดือน ก.ค. 2561

ทั้งนี้ หลังจากที่ปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าว ก.ล.ต.พบว่า ตลาดมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดี โดยมีการออกตราสารหนี้ที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น การออกตั๋วเงินมีปริมาณลดลง รวมทั้งการออกตราสารหนี้เสนอขายแก่ผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจงไม่เกิน 10 ราย ซึ่งเดิมมักถูกใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน และในด้านธุรกิจกองทุนรวม พบว่า กองทุนรวมมีการลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เสี่ยงสูง รวมทั้งจำนวนกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย มีจำนวนลดลงเช่นเดียวกัน

ยอดคงค้างและสัดส่วนของตั๋วเงินลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 10.4% เมื่อสิ้นปี 2559 เหลือ 6.6% ของยอดคงค้างตราสารหนี้ทั้งระบบ เมื่อสิ้นไตรมาส 2 ปี 2561

ขณะที่กองทุนตราสารหนี้แบบมีกำหนดเวลา (Term Fund) ที่เสนอขายลูกค้ารายใหญ่ รวมทั้งสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ non-investment grade และ unrated ลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากเกิดกรณีการผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E เมื่อปลายปี 2559

ทั้งนี้ ตั๋ว B/E ที่ผิดนัดชำระหนี้มีทั้งหมด 14 บริษัท โดย 11 บริษัทเสนอขายในวงจำกัด อีก 3 บริษัทเสนอขายในวงจำกัด นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ มูลค่ารวม 1.6 หมื่นล้านบาท หรือ 0.4% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ทั้งระบบที่มีอยู่ 3.9 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ ในปัจจุบันตราสารหนี้ 94% ในตลาดตราสารหนี้เป็นตราสารหนี้คุณภาพดี ได้รับการจัดอันดับน่าลงทุน

“การปรับปรุงเกณฑ์เพื่อยกระดับความคุ้มครองผุ้ลงทุนเป็นเพียงมาตรการส่วนหนึ่ง ซึ่งผู้ลงทุนยังจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้านและเข้าใจความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับปัจจุบันตราสารหนี้มีลักษณะหลากหลาย ทั้งข้อจำกัดและเงื่อนไขการให้ผลตอบแทนที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน ซึ่งหากผู้ลงทุนไม่เข้าใจหรือไม่มีความพร้อม การลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่า” นายรพีกล่าว