OSP-CBG กอดคอร่วง กลัวสงครามราคาเดือด!

HoonSmart.com>>หุ้น OSP-CBG ราคาร่วงลง นักลงทุนผิดหวัง”คาราบาวแดง”ไม่ปรับราคาขายอย่างที่เก็งไว้ หลัง OSP ขึ้นราคาขาย M-150 ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ใส่วิตามินเข้าไป  ขึ้นราคาเจ้าเดียวไปได้ไม่สุด  จะต้องขึ้นไปด้วยกันถึงจะ Win-Win  ด้านเทคนิค CBG ไม่ควรหลุด  100 บาท แนวต้าน 105 บาท หุ้น OSP หลุดแนวรับเส้น 200 วัน 35 บาท แล้ว แนวรับถัดไปที่ 34 บาท แนวต้าน 36 บาท

วันที่ 8 เม.ย. 2565  ราคาหุ้น OSP ร่วง  5.48% มาอยู่ที่ 34.50 บาท ลดลง 2 บาท มูลค่าซื้อขาย 2,561 ล้านบาท
ส่วนหุ้น CBG ลบ 4.27% มาอยู่ที่ 101.00 บาท ลดลง 4.50 บาท มูลค่าซื้อขาย  1,152 ล้านบาท

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้นบริษัทคาราบาวกรุ๊ป (CBG) และบริษัท โอสถสภา (OSP) ปรับตัวลง ด้วยแรงขายที่เข้ามามาก คาดว่าจะเป็นผลจากที่มีข่าวออกมาว่า ผู้บริหารของ CBG ต้องการจะคงราคาเครื่องดื่มชูกำลัง”คาราบาวแดง”ไว้ที่ราคาขวดละ 10 บาท ทำให้นักลงทุนที่เล่นเก็งกำไรกันไปก่อนหน้านี้ต่างผิดหวังและขายออกมา เนื่องจากนักลงทุนเก็งว่า CBG จะต้องมีการปรับราคาขายขึ้นเหมือนอย่าง OSP ที่ได้ออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลังตัวใหม่ของ M-150 ด้วยการใส่วิตามินเข้าไปแล้วขายในราคาขวดละ 12 บาท แต่ตัวเดิมของ M-150 ก็ยังขายอยู่ในราคาขวดละ 10 บาท

“CBG ไม่อยากขึ้นราคาขายคาราบาวแดง อาจเป็นเพราะเงินเฟ้อสูง ไม่อยากจะทำร้ายตลาด ซึ่งการไม่ขึ้นราคาก็เป็นผลดีต่อผู้บริโภค แต่ในแง่นักลงทุนก็คาดหวังยอดขายจะสูงขึ้นหากขึ้นราคาขาย ทำให้ผิดหวังเล็ก ๆ จากที่เล่นเก็งกำไรไปก่อนหน้านี้ก็เลยขายออกมา ส่วน OSP แม้จะมีการขึ้นราคาขาย M-150 ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ใส่วิตามินเข้าไป แต่ขึ้นเจ้าเดียวก็ไปได้ไม่สุด เพราะมองว่าจะขึ้นราคาอะไรก็ตามก็จะต้องขึ้นไปด้วยกัน ถึงจะ Win-Win ทั้งคู่ วันนี้ถือว่าแรงขายออกมาเยอะทั้งสองตัวเลย”

สัญญาณทางเทคนิคมอง CBG ไม่ควรหลุดแนวรับ 100 บาท ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 105 บาท ส่วนหุ้น OSP ได้หลุดแนวรับเส้น 200 วันที่ 35 บาท ไปแล้ว ก็จะมีแนวรับถัดไปที่ 34 บาท ส่วนแนวต้าน 36 บาท

นักกลยุทธ์ กล่าวว่า แรงขายหุ้น OSP และ CBG ออกมาหนักหน่วงทั้งคู่ เพราะมองว่าธุรกิจเครื่องดื่มบำรุงกำลังจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เมื่อใช้กลยุทธ์ด้านราคามาสร้างแรงจูงใจให้กับลูกค้าและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด  ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อกำไรของทั้งสองบริษัท นักลงทุนจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน

ในปี 2564 OSP ยังคงเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลัง มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น 0.1% อยู่ที่ 54.6% และส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่ม Functional Drinks เพิ่มขึ้น 1.0% อยู่ที่ 37.3% สามารถสร้างการเติบโตของรายไดจากการขายสูงสุดที่ 26,762 ล้านบาท เติบโต 4.6% ขณะที่ตลาดเครื่องดื่มที่ยังคงหดตัว ด้วยความแข็งแกร่งของตราสินค้า โดยผลิตภัณฑ์หลักอย่างเครื่องดื่มเอ็ม-150 และเครื่องดื่มซีวิท ทำให้กำไรสุทธิลดลงเพียง 7.1% เหลือจำนวน 3,254.92 ล้านบาท