JDF กำไรขาขึ้น พร้อมเข้าเทรด SET 7 เม.ย.65

HoonSmart.com>>บริษัทเจดีฟู้ด (JDF) หุ้นนวัตกรรมอาหาร ได้ฤกษ์เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 7 เม.ย.2565 ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุน ในการเข้าลงทุนหุ้นที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสและอาหารแปรรูปมากว่า 20 ปี ในขณะที่มีผลการดำเนินงานลดลงต่ำและกำลังเทกออฟตามศักยภาพของบริษัท ตามเทรนด์อุตสาหกรรมอาหารโลก  จุดแข็งการอยู่เบื้องหลังในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าบิ๊กเนมในอุตสาหกรรมอาหารและร้านอาหารยักษ์ใหญ่มายาวนาน   ซึ่งจะเติบโตไปด้วยกันในระยะยาว….

“รัตนา เอี้ยประเสริฐศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดีฟู้ด ให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทประกอบธุรกิจผลิตเครื่องปรุงรสอาหาร ซอส ไส้ขนม อาหารอบแห้ง แบบครบวงจรตามความต้องการของลูกค้า เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบส่วนผสมในการปรุงอาหารในกลุ่มธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร นอกจากนี้บริษัทยังมีการรับจ้างผลิตขนมขบเคี้ยว “มะพร้าวอบกรอบออร์แกนิค” ภายใต้แบรนด์เฉพาะ ให้แก่ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารในต่างประเทศ อีกทั้งยังต่อยอดพัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทเอง ได้แก่ ซุปกึ่งสำเร็จรูปโดยปราศจากผงชูรส ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหาร ผลิตภัณฑ์มะพร้าวอบกรอบและมะพร้าวอัดก้อน ผงเขย่าปรุงรสและไส้เบเกอรี่หรือฟิลลิ่งสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารและลูกค้าทั่วไป

บริษัทพัฒนาสูตรอาหารมาแล้วกว่า 2,000 เมนู สำหรับลูกค้าในธุรกิจอาหารและร้านอาหารกว่า 300 ราย ฐานลูกค้าส่วนใหญ่สัดส่วนประมาณ 77% เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารในประเทศ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในแต่ละธุรกิจ เช่นบริษัทผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกราย สุกี้แบรนด์ดังในห้าง และขนมขบเคี้ยวจากพืช เป็นลูกค้ามานาน ซึ่งเชื่อว่าจะสั่งซื้อเพิ่มขึ้นตามการออกสินค้าใหม่และการเติบโตของธุรกิจ

“บริษัทโตขึ้นจากกลุ่มลูกค้าเก่า เช่น ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จ ที่ให้โจทย์มาให้เราคิดสูตรเครื่องปรุงเฉพาะขึ้นมา ตั้งแต่แรกและยังคงมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นตลอด เพื่อออกสินค้าใหม่ทุกปี ทั้งการเปลี่ยนเส้นหรือเพิ่มรสชาติให้หลากหลาย ขณะเดียวกันก็มีลูกค้าใหม่ ที่เริ่มผลิตสินค้าเยอะๆ เพื่อส่งออก รวมถึงร้านอาหารที่โตขึ้น มีการขยายสาขา ให้เราพัฒนาและผลิตเครื่องปรุงเพื่อนำไปใช้กับทุกสาขา ซึ่งเครื่องปรุงรส เป็นสินค้าที่ใช้แล้วหมดไปจะต้องสั่งซื้อใหม่เรื่อยๆ ลูกค้าหลายรายอยู่กับเรามาตั้งแต่เค้าเริ่มผลิตสินค้าถึงวันนี้ใหญ่มากส่งออกไปขายหลายประเทศ บริษัทเก็บข้อมูลและรักษาสูตรของลูกค้าเป็นความลับมาก ”

ที่ผ่านมาบริษัทฯมีผลการดำเนินงานเติบโตมาตลอด ตามอุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว และธุรกิจอาหาร ทำให้มูลค่าตลาดซอสและเครื่องปรุงรสของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เติบโตเฉลี่ย 3.75% ต่อปี จากมูลค่าประมาณ 39,904 ล้านบาทในปี 2559  เพิ่มเป็น 47,977 ล้านบาทในปี 2563  ส่วนปี 2564-2568 คาดว่าจะยังคงเติบโตเฉลี่ย 4.16% ต่อปี แตะระดับ 61,314 ล้านบาทในปี 2568 จากแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตตามความนิยมอาหารของชาวต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก บางช่วงต้องประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบต่อบริษัทและลูกค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อุตสาหกรรมผลิตแล้วส่งออกไม่ได้ ร้านอาหารขายได้น้อยลง ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิในปี 2562-2564 ลดลงเหลือ 106.1 ล้านบาท 57.2 ล้านบาท และ 45.39 ล้านบาท ตามลำดับ เทียบกับในปี 2561 ที่ทำได้จำนวน 118.1 ล้านบาท ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2564 มีมูลค่าตามราคาบัญชีอยู่ที่ 0.61 บาท/หุ้น

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว มีการย้ายโรงงานที่มีอยู่กระจาย 3 แห่ง มาลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ บนเนื้อที่ 33 ไร่ ต.บางโทรัด จ.สมุทรสาคร มีการลงทุนเครื่องจักรทันสมัยนำเข้าจากเยอรมนี ในปี 2562-2563 มีต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจากการรับพนักงานใหม่ การปรับโครงสร้างตำแหน่งผู้บริหารบางตำแหน่ง การตัดค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร และยังมีการรับรู้ต้นทุนกำลังการผลิตที่ว่างเปล่า รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนี้ในปี 2564 ยังเผชิญปัญหาค่าขนส่งสูงขึ้นมาก ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นในปี 2562-2564 ลดลงเหลือ 38.15% 34.12% 29.49% และอัตรากำไรสุทธิก็ลดลงเหลือ16.04% 9.66% 7.75% ตามลำดับ

“สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น และปัญหาเรื่องขนส่ง ไม่ใช่เรื่องไม่ดีทั้งหมด เรากลับนำโจทย์มาแก้ไข เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง โดยขยายตลาดใน CLMV มากขึ้น แทนที่จะรอให้ลูกค้าขนส่งสินค้าไปขายไกลๆ และมีการพัฒนาเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แบรนด์บริษัท จากที่มีสัดส่วนเพียง 7% ถือว่าน้อยมากเทียบกับเค้กก้อนใหญ่  71% ผลิตผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหารตามคำสั่งซื้อของลูกค้า และสินค้ารับจ้างผลิตเกือบ 22% ซึ่งสินค้าใหม่ของบริษัท ผักและผลไม้อบกรอบ เริ่มมีออเดอร์เข้ามาแล้ว ”

แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2565 คาดว่าจะดีขึ้น รายได้จากการขายเติบโต หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย มีการเปิดประเทศมากขึ้น โรงงานแห่งใหม่ มีกำลังการผลิตเครื่องปรุงรสอาหารเพิ่มได้สูงสุดถึง75% เป็น 8,928 ตันต่อปี ซอสและไส้ขนมเพิ่มขึ้นสูงสุด 241%เป็น 2,232 ตันต่อปี ขนมขบเคี้ยวประเภทมะพร้าวอบกรอบเพิ่มสูงสุดอีก 45% เป็น 630 ตันต่อปี นอกจากนี้โรงงานใหม่ ยังมีต้นทุนในการผลิตลดลงจากการรวมโรงงาน 3แห่งไว้ในที่เดียว มีการทำงานแบบกึ่งอัตโนมัติ ทำให้การผลิตรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญยังสามารถผลิตสินค้าได้มาตรฐานสูง ลูกค้าสามารถส่งออกไปขายได้ทั่วโลก ช่วยเพิ่มกลุ่มลูกค้าใหม่ ในอนาคตบริษัทยังสามารถสร้างโรงงานใหม่ รวมถึงขยายพื้นที่ผลิต เพราะโรงงานแห่งนี้ใช้เนื้อที่เพียง 18 ไร่

ส่วนเรื่องต้นทุน และราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้น บริษัทสามารถทบทวนราคาทุกๆ 6 เดือน สำหรับการเพิ่มสินค้าที่มีส่วนผสมกัญชา บริษัทก็มีความสนใจ แต่จะต้องรอกฎหมายออกมาก่อนและต้องหาพันธมิตร จึงยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้

สำหรับการนำบริษัทเจดีฟู้ด เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันที่ 7 เม.ย. 2565 ในไฟลิ่ง ระบุว่า การเสนอขายในราคาหุ้นละ 2.60 บาท เท่ากับสัดส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) 34.37 เท่า คิดจากกำไรเฉลี่ย 4 ไตรมาส (1ม.ค.-31ธ.ค.2564) กับจำนวนหุ้นทั้งหมด 600 ล้านหุ้นหลังขาย IPO   ถือว่าเหมาะสมหากนำไปเปรียบเทียบกับหุ้นที่ทำธุรกิจเครื่องปรุงรส กลิ่น สี ในตลาดหลักทรัพย์   P/E เฉลี่ย 3 เดือน( 15 ธ.ค.64-16 มี.ค.65 ) ของ RBF และNRF สูงกว่า 80 เท่า ส่วน XO ในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) มี P/E เพียง 15.59 เท่าเท่านั้น และหากเทียบกับหมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม P/E เฉลี่ย 1 และ 3 เดือนอยู่ที่ 40 เท่า 1 ปี เฉลี่ย 37.74 เท่าและ 3 ปี เฉลี่ย 27.06 เท่า

หากนำแนวโน้มกำไรที่ดีขึ้นในอนาคต และการใช้ประโยชน์จากเม็ดเงินที่ระดมทุน IPO  ประมาณ  370 ล้านบาท  เช่น การชำระคืนเงินกู้ยืม จำนวน 200 ล้านบาท การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมาร์จิ้นสูง การขยายตลาด การมีระบบพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูล และมีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะทำให้หุ้น JDF มีความน่าสนใจมากขึ้น….