“มอร์นิ่งสตาร์” เผยผลศึกษาค่าธรรมเนียมซื้อขายกองทุนทั่วโลกแนวโน้มลดลง

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์” เผยผลการศึกษาประสบการณ์การลงทุนทั่วโลก หัวข้อ “ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย” พบ ค่าธรรมเนียมยังคงลดลงต่อเนื่อง และยังสามารถพัฒนาต่อได้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของอุตสาหกรรมกองทุน ชี้ “ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์และสหรัฐฯ” ได้คะแนนสูงสุด (Top) อีกครั้งด้านค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ส่วน “ไต้หวันและอิตาลี” ยังต่ำสุด (Bottom) ด้านไทยอยู่ในระดับค่าเฉลี่ย

Morningstar, Inc. (Nasdaq: MORN), ผู้ให้บริการบทวิเคราะห์การลงทุนระดับแนวหน้า ได้มีการเปิดเผยข้อมูลในส่วนแรกของผลการศึกษาประสบการณ์การลงทุนทั่วโลก Global Investor Experience (GIE) ที่จัดทำขึ้นทุก ๆ 2 ปี โดยเป็นการให้คะแนนด้านประสบการณ์การลงทุนกองทุนรวมของนักลงทุนใน 26 ตลาดการลงทุนในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา สำหรับการจัดทำรายงานครั้งที่ 7 นี้ รายงานในส่วนแรกคือ ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย (Fee and Expenses) เป็นการเปิดเผยข้อมูลการประเมินต้นทุนการลงทุนกองทุนรวมในแต่ละตลาดทั่วโลก

ทีม Manager research ของมอร์นิ่งสตาร์ได้แบ่งระดับการให้คะแนนออกเป็น Top, Above Average, Average, Below Average, และ Bottom โดยในรอบนี้มอร์นิ่งสตาร์ให้คะแนนประเทศออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกาในระดับ Top ซึ่งหมายความว่าเป็นตลาดที่มีความเป็นมิตรกับนักลงทุนสูงสุดในด้านค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ในทางกลับกันมอร์นิ่งสตาร์ให้คะแนนอิตาลีและไต้หวันในระดับ Bottom ซึ่งถือเป็นตลาดกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายสูงสุด

Grant Kennaway Head of manager selection มอร์นิ่งสตาร์และผู้ร่วมจัดทำผลการศึกษานี้ กล่าวว่า ข่าวดีสำหรับนักลงทุนทั่วโลกคือค่าธรรมเนียมในหลายตลาดมีการปรับลดลง ซึ่งเป็นผลจากเงินที่ไหลเข้าสู่กองทุนค่าธรรมเนียมถูกและกองทุนที่มีอยู่เดิมปรับลดค่าธรรมเนียมลง การแยกค่าธรรมเนียมในแต่ละส่วนของกองทุนที่มีให้เห็นมากขึ้นส่งผลให้มีความโปร่งใสและทำให้ผู้ลงทุนประสบผลสำเร็จในการลงทุน

“อย่างไรก็ตามโครงสร้างอุตสาหกรรมกองทุนทั่วโลกที่ยังมีการเก็บค่าธรรมเนียมซื้อขายและค่าธรรมเนียมค่านายหน้าใน 18 ตลาดในเอเชียและยุโรปอาจนำไปสู่ความไม่ชัดเจนต่อผู้ลงทุนได้ ซึ่งเราเชื่อว่าผู้ขาย โดยเฉพาะธนาคาร จะได้ประโยชน์มากกว่าตัวผู้ลงทุนเอง

ข้อมูลระดับคะแนนค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายกองทุนในส่วนแรกสามารถดูได้ที่นี่ ประเด็นสำคัญมีดังนี้

• อัตราส่วนค่าใช้จ่ายกองทุนโดยคิดจากค่ามัธยฐานถ่วงด้วยน้ำหนักมูลค่าทรัพย์สิน (Asset-weighted median expense ratio) สำหรับกองทุน domestic และ available-for-sale ส่วนใหญ่ใน 26 ตลาดมีการปรับตัวลงตั้งแต่ปี 2019 โดยกองทุนผสมและกองทุนตราสารทุนที่จัดตั้งขึ้นภายในตลาดนั้น ๆ มีแนวโน้มลดลงชัดเจนที่สุด เห็นได้จากการรายงานการลดลงของค่าธรรมเนียมของ 2 กลุ่มนี้ ใน 17 ตลาด

• ค่าธรรมเนียมที่ลดลงมีส่วนขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างเม็ดเงินที่ไหลเข้าไปยังกองทุนค่าธรรมเนียมถูกและการปรับลดค่าธรรมเนียมกองทุนที่มีอยู่เดิม ในตลาดที่ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงกองทุนรวมได้หลายช่องทางนั้นพบว่าผู้ลงทุนมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการลงทุน ซึ่งนำไปสู่การลงทุนในชนิดหน่วยลงทุนที่มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่า

• นอกจากสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์แล้ว การจ่ายค่าธรรมเนียมแนะนำการลงทุนโดยตรงนั้นหาได้ยากในตลาดอื่น การขาดกฎเกณฑ์ที่จำกัดการเก็บค่าธรรมเนียมซื้อขายและค่าธรรมเนียม trail commission อาจเป็นส่วนให้ผู้ลงทุนจ่ายค่าคำแนะนำการลงทุนโดยที่ไม่ได้ร้องขอหรือไม่ได้รับบริการ แม้ในบางตลาดที่มีการเปิดขายชนิดหน่วยลงทุนที่ไม่มีการเก็บค่า trail commission เช่น อิตาลี แต่ผู้ลงทุนทั่วไปเข้าถึงชนิดหน่วยลงทุนได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากผู้จำหน่ายกองทุนนั้นส่วนใหญ่เป็นรูปแบบตัวกลางโดยเฉพาะธนาคารต่าง ๆ

• การปรับเปลี่ยนไปสู่การให้คำแนะนำการลงทุนแบบ fee-based ในสหรัฐฯ และออสเตรเลีย เป็นแรงกระตุ้นให้มีความต้องการกองทุนค่าธรรมเนียมต่ำ สถาบันการเงินและผู้ให้คำแนะนำเลือกที่จะไม่ลงทุนในชนิดหน่วยลงทุนที่ค่าธรรมเนียมสูงและคิดค่าธรรมเนียมแนะนำการลงทุนและค่าจัดจำหน่ายกองทุน ซึ่งแนวโน้มนี้เห็นได้ในตลาดอื่นเช่นอินเดียและแคนาดา

• สงครามราคาในตลาดอีทีเอฟส่งแรงกดดันต่อค่าธรรมเนียมกองทุนทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกาที่มีการแข่งขันสูง มีการกดดันค่าธรรมเนียมต่ำไปจนถึงระดับศูนย์ในบางกองทุนดัชนีและอีทีเอฟ และการแข่งขันนี้ได้ส่งผลต่อเนื่องไปสูงทั่วทุกมุมของตลาดกองทุนรวม

• ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ได้คะแนนระดับสูงสุดจากที่กองทุนมักแยกค่าธรรมเนียมแต่ละส่วนออกจากกัน โดยตลาดดังกล่าวได้คะแนนสูงสุดติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4

• ในตลาดที่ธนาคารยังเป็นผู้จำหน่ายหลักยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าแรงขับเคลื่อนจากตลาดเพียงอย่างเดียวจะช่วยให้ค่าธรรมเนียม (Asset-weighted median expense ratio) ลดลงได้ เห็นได้จากตลาดอย่างอิตาลี ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ที่ยังมีการขายกองทุน offshore ที่มีค่าธรรมเนียมสูง มากกว่ากองทุนที่จัดตั้งขึ้นในตลาดนั้น ๆ ซึ่งมีค่าธรรมเนียมถูกกว่า

• สหราชอาณาจักรได้เริ่มการประเมินค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งเป็นหนึ่งในพัฒนาการด้านกฎเกณฑ์มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งบริษัทจัดการกองทุนจะต้องพิสูจน์ว่ากองทุนสร้างมูลค่าต่อผู้ลงทุนเพียงใดเมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมที่กองทุนจัดเก็บ