HoonSmart.com>>”พลังงานบริสุทธิ์”กลายเป็นปตท. ส่งบริษัทลูกจับมือ”กฟน.” และ “JR” พัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะยานยนต์ไฟฟ้า ชาร์จเร็วเพียง 10-15 นาที รองรับผู้ใช้รายใหญ่ เรือ-รถสาธารณะ วางโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมในอนาคต รับนโยบายผลิตยานยนต์ไร้มลพิษ 30% ในปี 73 EA คาดปีนี้ใช้งบ 2,000 ล้านบาท เพิ่ม 2,000 หัวชาร์จ ส่วน JR รับรายได้ 2,000 ล้านบาท หนุน Backlog เกิน 1 หมื่นล้านบาท โตสบายๆ 4 ปี
บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) ส่งบริษัทย่อยคือ พลังงานมหานคร (EMN) ลงนามบันทึกความเข้าใจกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และบริษัท เจ.อาร์.ดับเบิ้ลยู. ยูทิลิตี้ (JR) ในโครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Smart Charging Station) และศึกษาความเป็นไปได้โอกาสทางธุรกิจ EV ด้วย เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2565
นายวิลาส เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายเพิ่มสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มเป็น 12,000 สถานี ในปี 2573 จากปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 สถานี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไร้มลพิษให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 ซึ่งโครงข่ายจะถูกขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน ภาครัฐให้การสนับสนุน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ กล่าวว่า โครงการนี้ใช้เทคโนโลยีใหม่ ใช้ไฟค่อนข้างสูง บริษัทพลังงานมหานครจะได้รับการสนับสนุนจาก กฟน.ในการอำนวยความสะดวกในการดำเนินการขอใช้ไฟฟ้า และ JR จะเป็นผู้วางแผนและดำเนินโครงการด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทร่วมกับบริษัทพลังงานมหานคร ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV Smart Charging Station) ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า
ปัจจุบันบริษัทพลังงานมหานคร ได้ดำเนินธุรกิจให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้เครื่องหมายการค้า “EA Anywhere” มีสถานีให้บริการอัดประจุไฟฟ้ากว่า 430 สถานี รวมทั้งสิ้นกว่า 1,800 หัวชาร์จ ตั้งแต่ระบบธรรมดา หรือ AC Charger ไปจนถึงระบบชาร์จเร็ว และทันสมัยที่สุด หรือ DC Ultra-Fast Charge ที่ใช้เวลาเพียง 15-20 นาที ขณะที่โครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะจะใช้เวลา 10-15 นาที เชื่อมกับผู้ใช้รายใหญ่ เช่น รถยนต์ และ เรือไฟฟ้า ทำให้เกิดกรใช้งานอย่างจริงจัง และมีโอกาสเปลี่ยนเป็น EV เร็วขึ้น ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน
“ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รองรับนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายผลิตยานยนต์ไร้มลพิษให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 พร้อมนโยบายสนับสนุนด้านต่างๆ รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) สาธารณะกระจายทั่วประเทศ เพื่อคนหมู่มาก ” นายสมโภชน์กล่าว
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA กล่าวว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าเพิ่มหัวชาร์จ DC Ultra-Fast Charge ในปีนี้ 2,000 หัวชาร์จ แบ่งเป็นในกรุงเทพ-ปริมณฑล 1,000 หัวชาร์จ และต่างจังหวัดอีกราว 1,000 หัวชาร์จ ซึ่งจะใช้งบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเตรียมผลิตรถโดยสารไฟฟ้า เพื่อส่งมอบให้กับบริษัท สมาร์ทบัส (บริษัทย่อย EA) เพิ่มอีก 800 คัน ตามสัญญาที่จะต้องส่งมอบในปีนี้ทั้งสิ้น 1,200 คัน จากที่ผ่านมาได้ส่งมอบแล้วกว่า 300-400 คัน
ด้านนายจรัญ วิวัฒน์เจษฎาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JR กล่าวว่า JR มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบระบบโครงสร้างพื้นฐาน ICT และไฟฟ้า โดยทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบ จัดหา ติดตั้งระบบส่งและโครงข่ายไฟฟ้า รวมถึงออกแบบพัฒนาระบบอนุรักษ์พลังงานร่วมกับ พลังงานมหานคร ในการหาสถานที่ติดตั้งสถานีอัดจุไฟฟ้าที่เหมาะสม ทั้งขนาด จำนวนและสถานที่ติดตั้งสำหรับโครงการ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
“โครงการนี้ไม่ใช่แค่การขายไฟ แต่โลกขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจใหม่ เมื่อพัฒนาเสร็จ EA จะกลายเป็นปตท. และจะช่วยลดจำนวนการเข้าคิวรอ ส่วนบริษัทพลังงานมหานครจะใช้ชาร์จรถสาธารณะขนาดใหญ่ คิดไปไกลถึงคาร์บอนเครดิต”นายจรัญกล่าว
สำหรับบริษัทฯ ปี 2565 คาดว่ารายได้จะเติบโตมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 20% เนื่องจากได้รับงานวางระบบและติดตั้งหัวชาร์จ EV เร็ว มีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท จะทำให้บริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) เพิ่มขึ้นรวมเป็น 6,600 ล้านบาท และยังเตรียมจะเข้าประมูลงานใหม่ ได้แก่ งานวางระบบไฟฟ้า ของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู มูลค่ามากกว่า 6,000 ล้านบาท ทำให้สิ้นปีนี้บริษัทฯ คาดว่าจะมี Backlog มากกว่า 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ภายใน 4 ปี