HoonSmart.com>>”เอสแอนด์พี” เซอร์ไพรส์ ลดอันดับเครดิต 4 แบงก์ใหญ่ SCB-KBANK-KTB-TTB ห่วงหนี้ครัวเรือนสูง เสี่ยงหนี้เสีย แต่ยังคงเครดิต BBL-BAY โบรกฯมองเป็น sentiment ลบต่อราคาหุ้นระยะสั้น ได้ประโยชน์จากสภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ในปี 65 หนุนสินเชื่อโต 5% รายได้ค่าธรรมเนียมที่โตขึ้น คาดกำไรปกติเติบโตขึ้น 10% ราคาลงมาเป็นจังหวะซื้อ มูลค่าหุ้นยังไม่แพง ให้ผลตอบแทนเงินปันผลที่สูง 4-5%
บริษัท แสตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (เอสแอนด์พี-S&P) ประกาศข่าวร้าย วันที่ 22 มี.ค. 2565 ปรับลดอันดับเครดิต ธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) (BBB/Stable จาก BBB+/Negative), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) (BBB/Stable จาก BBB+/Negative), ธนคารกรุงไทย (KTB) (BBB-/Stable จาก BBB/Negative) และ ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) (BBB-/Stable จาก BBB/Negative ส่งผลให้ราคาหุ้นทั้ง 4 แห่ง ปรับตัวลงแรง และยังลามไปถึงหุ้นไฟแนนซ์ เช่น SAWAD ,MTC และบัตรเครดิต
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรง นักลงทุนมองเป็นจังหวะซื้อ เช่น KBANK ร่วงลงไปต่ำสุดที่ 155 บาท ฟื้นขึ้นมาปิดที่ 158 บาท ลดลงเพียง -0.50 บาทหรือ-0.32% SCB จากระดับ 111.50 บาทมาปิดที่ 113 บาท ลดลง 1.50 บาทหรือ -1.31% KTB ลดลงเล็กน้อยแถว 13.30 บาท มาปิดที่13.50 บาท เท่ากับวันก่อน และ TTB ลงไปเพียง 1.27 บาท ปิดที่ 1.30 บาท -0.01 บาทหรือ -0.76% ส่งผลให้ดัชนีกลุ่มธนาคารปิดที่ 418.73 จุด -0.58 จุดหรือ -0.14% ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 9,853 ล้านบาท
บล.โนมูระ พัฒนสิน มีมุมมองเป็น Negative Sentiment ต่อกลุ่มธนาคาร หลังจากเอสแอนด์พี มองว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่เป็นระบบสูงขึ้นในด้าน 1) หนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มสูงเวลานานกว่าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้า 2) การแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่ไม่ชัดเจน และขาดประสิทธิภาพ S&P มองว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ แม้จะช่วยประคองภาพรวม NPLs ไม่ให้ปรับตัวขึ้น แต่ทำให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทำได้ช้าลง 3) ภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง และการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว 4) สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อาจล่าช้าการฟื้นตัวกลับไปที่ก่อนโควิด ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย
นักวิเคราะห์กลุ่มธนาคาร มองว่ามีผลกระทบจำกัดต่อประมาณการกำไร เพราะธนาคารพาณิชย์พึ่งพาแหล่งเงินทุนหลักจากเงินฝาก ขณะที่มีสัดส่วนของหุ้นกู้เพียง 2.6-4.4% ของหนี้สินรวม และ โดยกลุ่มธนาคารมีค่าเฉลี่ย Coverage ratio 162% ณ สิ้นปี 2564 เทียบกับ 152% ณ สิ้นปี 2562 แนะนำอ่อนตัวซื้อ KBANK, SCB ในฐานะ Best Picks
บล.กสิกรไทย คาดกลุ่มแบงก์ได้ประโยชน์จากสภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นในปี 2565 จะส่งผลบวกต่อกลุ่มธนาคารทั้งในส่วนของสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมที่เติบโตขึ้น โดยคาดว่าสินเชื่อจะขยายตัวขึ้น 5% และกำไรปกติเติบโตขึ้น 10%
นอกจากนี้ มูลค่าหุ้นยังไม่แพง ยังน่าดึงดูดใจอิงด้วย PBV ปี 65 ที่ 0.7 เท่า (-1.5SD ต่ำกว่าระดับเฉลี่ย) และคาดว่ากลุ่มธนาคารจะเป็นผู้เล่นกลุ่มปันผลที่น่าสนใจด้วยอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่สูง 4-5% ในปี 65 พร้อมเชียร์หุ้นเด่น SCB ราคาเป้าหมาย 149 บาท และหุ้น KKP ราคาเป้าหมาย 80 บาท
สำหรับกลุ่มไฟแนน์ที่ปรับตัวลงแรง นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ปรับตัวลงกันทั่วหน้า คาดว่าจะรับผลการเชื่อมโยงจากที่ 4 หุ้นในกลุ่มแบงก์คือ KBANK, SCB, KTB, TTB ถูก”เอสแอนด์พี”ปรับลดเครดิตลง ซึ่งมีข้อหนึ่งที่ให้เหตุผลเกี่ยวกับหนี้ภาคครัวเรือนที่สูง ตรงนี้อาจเป็นปัจจัยลบสัญญาณเตือนกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้เงินกู้ พวกรากหญ้า ซึ่งเป็น Downside กับกลุ่มไฟแนนซ์ด้วย
ธนาคารอาจคิดมากขึ้นในการปล่อยเงินกู้ ส่งสัญญาณ NPLs ของพวกรากหญ้าอาจสูงขึ้น ทำให้กลุ่มไฟแนนซ์มีความเสี่ยงมากขึ้นในส่วนของคุณภาพสินทรัพย์ในระยะถัดไป จึงได้เห็นการปรับตัวลงของหุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ อย่าง SAWAD และ MTC
นอกจากนี้ในแง่ต้นทุนทางการเงินมีโอกาสที่จะสูงขึ้นด้วย หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กังวลเงินเฟ้อสูง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสปรับตัวขึ้นเร็วกว่าตลาดคาด ซึ่งก็จะไปกดดันกลุ่มไฟแนนซ์ที่ต้นทุนอาจเพิ่มขึ้น