HoonSmart.com>> “บลจ.วรรณ” เคาะจ่ายเงินปันผลกองทุน ONE-ACT70LTF หน่วยละ 0.1125 บาท/หน่วย กำหนดปิดสมุดทะเบียน 22 มี.ค.65 จ่ายเงิน 31 มี.ค.65 มองแนวโน้มตลาดหุ้นไทยเดือนมี.ค. ดัชนีผันผวนในกรอบ 1,640 – 1,730 จุด
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ ในฐานะบริษัทจัดการของกองทุนเปิด วรรณ แอนไท คอรัปชั่น 70หุ้นระยะยาว (ONE-ACT70LTF) ผ่านคณะกรรมการจัดการลงทุน ได้มีมติเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 ให้จ่ายเงินปันผลของกองทุนเปิด วรรณ แอนไท คอรัปชั่น 70 หุ้นระยะยาว (ONE-ACT70LTF) จากกำไรสุทธิของผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2564 – 28 กุมภาพันธ์ 2565 ในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.1125 บาท
ทั้งนี้ กำหนดวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุน เพื่อสิทธิในการรับเงินปันผล ในวันที่ 22 มีนาคม 2565 และกำหนดจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 31 มีนาคม 2565
บลจ.วรรณ มองแนวโน้มตลาดหุ้นไทยเดือนมี.ค.นี้ ผันผวนในกรอบ 1,640 – 1,730 จุด โดยปัจจัยในตลาดโลกยังคงส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติและบรรยากาศการลงทุนของตลาดหุ้นไทยในเดือนนี้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศคาดว่าตลาดจะโฟกัสที่สถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 แม้ว่าปัจจุบันมีแรงเก็งกำไรเข้ามาในกลุ่มโรงพยาบาล เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงขึ้น แต่หากผู้ป่วยหนักไม่สูงขึ้นตามมองไปข้างหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ คาดว่าจะดีขึ้นเช่นเดียวกับต่างประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับสูง ดังนั้น นักลงทุนอาจจะมองข้ามไปถึงเรื่องการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง โดยหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว ค้าปลีก และ Old Economy อื่นๆที่เผชิญแรงกดดันในเดือนที่แล้วอาจจะกลับมา Outperform อีกครั้งในเดือนนี้
ขณะที่งบการเงินไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม Real sector โดยภาพรวมที่ออกมาค่อนไปทางบวก ทำให้ Downside ของตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มจำกัดแม้เผชิญความผันผวนจากปัจจัยภายนอก
สิ่งที่ควรจับตาต่อไปคือกระแสเงินทุนของต่างชาติที่เข้าซื้อสุทธิหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปีจะยังคงดำเนินต่อไปหรือไม่ โดยเฉพาะถ้าหาก FED ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ดังนั้น ในส่วนกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นไทยจึงแนะนำให้เข้าทยอยซื้อสะสม โดยเน้นกองทุนที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและ/หรือกองทุนที่มีการถือครองหุ้นของบจ. ที่มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ ควบคู่กับการกระจายการลงทุนไปกองทุน FIF ที่แนะนำเช่นเดิม เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนพร้อมลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในการลงทุนตลาดใดตลาดหนึ่ง