ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 599 จุด ราคาน้ำมันต่ำกว่า 100 ดอลล์ คลายวิตกเงินเฟ้อ

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวก ดัชนีดาวโจนส์พุ่ง 599 จุด ราคาน้ำมันร่วงกว่า 6% ต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล สะท้อนความกังวลเงินเฟ้อน้อยลง รอผลประชุมเฟด ด้านตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 15มีนาคม 2565 ปิดที่ 33,544.34 จุด เพิ่มขึ้น 599.10 จุด หรือ 1.82% เป็นการปรับเพิ่มครั้งแรกในรอบสี่วัน ขณะที่ราคาน้ำมันยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้นต่ำกว่าคาด

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 4,262.45 จุด เพิ่มขึ้น 89.34 จุด, +2.14%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,948.62 จุด เพิ่มขึ้น 367.40 จุด, +2.92%

นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์การเจรจาหยุดยิงในยูเครนและการปิดเมืองเพื่อสกัดโควิดของจีน ซึ่งอาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงรอการตัดสินใจทางการเงินครั้งใหญ่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ในวันพุธ ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2018

แซม สโตวาล หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนของ CFRA กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ร่วงลงและข้อมูลเงินเฟ้อเป็นปัจจัยหนุนการเพิ่มขึ้น ขณะที่นักลงทุนต่างรอผลการประชุมของเฟด ซึ่งที่ผ่านมา ตลาดหุ้นมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในเดือนที่ 1 เดือนที่ 3 และ 12 หลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก

จูเลียน เอ็มมานูเอล กรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายทุน Evercore ISI ให้สัมภาษณ์รายการ Closing Bell ของ CNBC ว่า ตลาดคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้ง ในปี 2022 แต่เมื่อมองไปที่การเทขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ สะท้อนว่าความกลัวเรื่องเงินเฟ้อน้อยลง

หุ้นเทคโนโลยีนำการฟื้นตัว โดยหุ้นไมโครซอฟต์และหุ้นเน็ตฟลิกซ์ต่างเพิ่มขึ้น 3.8% จากการแนะนำลงทุนของนักวิเคราะห์ให้ overweight ส่วนหุ้นออราเคิลเพิ่มขึ้น 4.5% หุ้นNvidia เพิ่มขึ้น 7.7% และหุ้น AMDเพิ่มขึ้น 6.9%

หุ้นดิสนีย์เพิ่มขึ้น 4% หุ้นแมคโดนัลด์เพิ่มขึ้น 2.8% หลังนักวิเคราะห์ของแบร์สเติร์น ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็น outperform

ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ทำให้ราคาสินค้าขายส่งเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 1 เดือน กระทรวงแรงงานรายงาน ดัชนีราคาผู้ผลิตทั่วไป (PPI) เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนก่อนหน้า แม้ว่าจะต่ำกว่า 0.9% ที่นักวิเคราะห์คาดแต่เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ส่วนดัชนี PPI พื้นฐานไม่รวมอาหาร พลังงาน และบริการการค้าเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ต่ำกว่า 0.6% ที่คาด

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมของเฟด

สำหรับสถานการณ์ในยูเครนมีการประกาศเคอร์ฟิว 35 ชั่วโมงในกรุงเคียฟหลังรัสเซียยิงขีปนาวุธของรัสเซียโดนอาคารที่อยู่อาศัยหลายแห่งในเมือง รัสเซียและยูเครนกลับมาเจรจากันอีกครั้งในวันอังคาร หลังจากการเจรจารอบที่ 4 ในวันจันทร์ ขณะเดียวกัน รัสเซียก็ใกล้ถึงกำหนดชำระหนี้พันธบัตรหลายชุด

นักลงทุน กังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในอนาคต หลังจากจีนกำลังเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดครั้งใหญ่ และเสิ่นเจิ้น ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ในศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญในจีน ได้ปิดธุรกิจที่ไม่จำเป็นและกำหนดให้มีการตรวจหาเชื้อทั่วทั้งเมือง

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง นำโดยกลุ่มทรัพยากรพื้นฐานที่ลดลง 2% เนื่องจากนักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จากระดับ 0%

ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ZEW (ZEW Economic Sentiment Index) ของเยอรมนีเดือนมีนาคมลดลงมาที่ระดับ -39.3 ซึ่งต่ำกว่า 10.0 ที่นักวิเคราะห์คาดและลดลงจาก 54.3 ในเดือนก่อนหน้า

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 435.12 จุด ลดลง 1.23 จุด, -0.28%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,175.70 จุด ลดลง 17.77 จุด, -0.25%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,355.00 จุด ลดลง 14.94 จุด, -0.23%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,917.27 จุด ลดลง 11.84 จุด, -0.09%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 6.57 ดอลลาร์ หรือ 6.4% ปิดที่ 96.44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนพฤษภาคมลดลง 6.99 ดอลลาร์ หรือ 6.5% ปิดที่ 99.91 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล