โดย… สุนันท์ ศรีจันทรา
บริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TWZ แจ้งผลการประชุมคณะกรรมการ บริษัท เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีมติเพิ่มทุน 1,022.31 ล้านหุ้น เพื่อนำหุ้นใหม่เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม บุคคลในวงจำกัดและรองรับใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญหรือวอร์แรนต์รุ่นที่5 และเป็นการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นรายย่อยครั้งใหญ่
หุ้นใหม่ที่จะเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมมีจำนวน 4,172.72 ล้านหุ้น จัดสรรในสัดส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ราคา 12 สตางค์ จากราคาพาร์ 10 สตางค์ พร้อมแจกวอร์แรนต์ รุ่นที่ 5 (TWZ-W 5 ) อายุ 1 ปี ราคาแปลงสภาพ 10 สตางค์ ในสัดส่วน 1 หุ้นใหม่ต่อ 1 วอร์แร้นต์
รวมทั้งจัดสรรหุ้นใหม่จำนวน 625.90 ล้านหุ้น เสนอขายบุคคลเฉพาะเจาะจง โดยยังไม่ได้กำหนดราคาเสนอขาย
เดือนมีนาคม 2558 TWZ เคยเพิ่มทุนมาแล้ว ต่อมาเดือนสิงหาคม 2560 เพิ่มทุนอีก ซึ่งการเพิ่มทุนทั้งสองครั้ง จำนวนไม่มาก แต่การเพิ่มทุนครั้งล่าสุด คณะกรรมการบริษัท มีเป้าหมายระดมเงินเต็มสูบ และกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ถือหุ้นรายย่อย
TWZ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์วันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 บริษัทดำเนินธุรกิจเป็นผู้จำหน่ายและให้บริการ เกี่ยวกับอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม โดยเคยเป็นหุ้นร้อนที่มีข่าวลือจุดพลุเก็งกำไร ก่อนจะสิ้นฤทธิ์ ตกอยู่ในสภาพหุ้นขนาดเล็กที่หมดความหวือหวา เคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ
กลุ่มรังคสิริ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และคุมอำนาจการบริหาร แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่แท้จริงคือ ผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 9,499 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 91.35% ของทุนจดทะเบียน
การเพิ่มทุนครั้งนี้ จึงขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นรายย่อยว่า จะยอมใส่เงินลงมาให้กลุ่ม “รังคสิริ” นำไปบริหารหรือไม่
ราคาหุ้น TWZ ล่าสุดวันที 10 กันยายน ปิดที่ 13 สตางค์ สูงกว่าราคาหุ้นใหม่ที่จะเสนอขายเพียง 1 สตางค์ ซึ่งถือว่า ราคาหุ้นบนกระดานไม่จูงใจให้จองซื้อเท่าใดนัก เพราะส่วนเหลื่อมหรือส่วนต่างแคบมาก จนมีความเสี่ยงในการใส่เงินเพิ่มทุนด้วยซ้ำ ฝ่ายบริหารบริษัทฯ จึงออกวอร์แร้นต์พ่วง เพื่อสร้างแรงจูงใจ ผู้ถือหุ้นรายย่อยควักเงินเพิ่มทุน
แต่นักลงทุนที่ถ้าคิดอยากได้วอร์แร้นต์รุ่นที่ 5 ก็คงต้องย้อนกลับไปดูวอร์แร้นต์รุ่นที่ 4 ซึ่งหมดอายุไปหมาด ๆ เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา
วอร์แร้นต์ TWZ รุ่นที่ 4 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,980.13 ล้านหน่วย กำหนดแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญในสัดส่วน 1 วอร์แร้นต์ต่อ 1 หุ้นสามัญ ราคาแปลงสภาพ 70 สตางค์ ซึ่งสิ้นสุดการแปลงสภาพเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ปรากฏว่า มีผู้ใช้สิทธิแปลงสภาพเพียง 8,010 หน่วย ได้เงินจากการแปลงสภาพวอร์แร้นต์ 56,070 บาท
สาเหตุที่นักลงทุน ไม่นำวอร์แร้นท์ไปแปลงสภาพ เนื่องจาก ราคาหุ้น TWZ บนกระดานขณะนั้น เคลื่อนไหวอยู่แถว 13 สตางค์ ซึ่งเป็นราคาเดียวกับปัจจุบัน ทำให้ผู้ถือหน่วยวอร์แร้นท์แทบทุกราย ต้องปล่อยให้วอร์แร้นต์มีค่าเป็นศูนย์โดยปริยาย
ส่วนวอร์แร้นท์รุ่นที่ 5 แม้กำหนดราคาแปลงสภาพไว้เพียง 10 สตางค์ แต่ในอนาคต หรือใน 1 ข้างหน้า เมื่อวอร์แร้นท์หมดอายุ ราคาหุ้น TWZ จะยืนอยู่ที่เท่าไหร่
แม้ TWZ จะมีปัจจัยพื้นฐานอยู่บ้าง โดยค่าพี/อี เรโชระดับ 25 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน 0.80% โดย 3 ปีย้อนหลัง จ่ายปันผลได้ต่อเนื่อง แต่ผลประกอบการยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ ปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 3.41 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนแรกปีนี้กำไร 42.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6.70 ล้านบาท แต่ราคาหุ้นกลับไม่ได้ตอบรับผลประกอบการที่โตแต่อย่างใด
ผู้ถือหุ้นรายย่อย TWZ คงต้องคิดหนักว่า จะเติมเงินใส่หุ้นตัวนี้หรือไม่ เพราะเชื่อว่า ส่วนใหญ่ติดหุ้นกันอยู่แล้ว และประเด็นที่น่าสนใจคือ
บรรดาผู้ถือหุ้นใหญ่ ลำดับต้น ๆ ของ TWZ ที่ผลักดันการเพิ่มทุนครั้งใหญ่ จะควักเงินซื้อหุ้นใหม่หรือไม่
เพราะบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง ประกาศเพิ่มทุนแล้ว ผู้ถือหุ้นใหญ่ กลับสละสิทธิจองซื้อหุ้นใหม่ แต่ปล่อยให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย เป็นเจ้าภาพใหญ่ ควักเงินใส่
เงินที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยเติมลงไป ถ้าไม่สามารถสร้างผลตอบแทน หรือเกิดความเสียหาย ผู้ถือหุ้นรายย่อย แบกรับความเสียหายซ้ำซากต่อไป