TCMC ปี 64 รายได้ 7.7 พันล้าน เร่งปรับแผนล้างขาดทุน มั่นใจสิ้นปีพลิกกำไร

HoonSmart.com>>ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น เผยผลปี 64 มีรายได้กว่า 7.74 พันล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 120 ล้านบาท ผลจากโควิด-19  โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ  เดินหน้าปรับประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มธุรกิจ หวังกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง

นางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TCMC) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในปี 2564 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ จำนวน 7,744.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 6,792.40 ล้านบาท คิดเป็น 14.02% และมี EBITDA จำนวน 248.85 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 46.78% และมีผลขาดทุนสุทธิ 120.11 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 0.11 ล้านบาท โดยคิดเป็นขาดทุนสุทธิส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ 152.85 ล้านบาท

“สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2564 โรคระบาดโควิด-19 ยังคงมีผลกระทบต่อกิจการของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ขนส่งทั่วโลก การขาดแคลนแรงงานและขึ้นราคาวัตถุดิบ ทำให้ผลประกอบการยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดหวังไว้ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในปีนี้เป็นปีที่บริษัทครบรอบ 55 ปี เรายังคงเดินหน้าปรับกลยุทธ์และแผนการเติบโตของแต่ละกลุ่มธุรกิจตามสภาพตลาดที่ทยอยฟื้นตัว ทั้งในกลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ และอื่น ๆ โดยหวังว่าจะเติบโตได้มากขึ้นทั้งในด้านยอดขายและกำไร นอกจากนี้บริษัทมีการปรับกลยุทธ์เปลี่ยนผู้บริหารสูงสุดของกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ และกลุ่มวัสดุปูพื้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ เพื่อให้บริษัทมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้เรายังเน้นการดำเนินธุรกิจที่ตระหนักถึงเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้บริษัทก้าวสู่ปีที่ 55 ด้วยความมั่นคงยั่งยืนสืบไป” นางสาวปิยพร กล่าว

กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ยังขยายตัว แต่ผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสูง ส่งผลให้ทำกำไรยังไม่ดีเท่าที่ควร
ในปี 2564 กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ (TCM Living) มีรายได้เพิ่มขึ้น 33.07% จากความต้องการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มการเติบโตของบ้านในประเทศอังกฤษ แต่กลุ่มธุรกิจยังไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้เต็มที่ สาเหตุมาจากวิกฤตการณ์ระบบขนส่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัว และราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น จึงทำให้กลุ่มธุรกิจมีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจมีค่าใช้จ่ายการขายและบริหารรวมกันเป็นจำนวน 852.74 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากการเปิดร้านค้าปลีก Arlo & Jacob ทั้ง 5 สาขา ที่เพิ่งเข้าซื้อกิจการในไตรมาส 2 ของปี 2564 รวมถึงค่าขนส่งที่สูงขึ้นทั้งค่าธรรมเนียมและค่าน้ำมันเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ กลุ่มธุรกิจมีผลขาดทุนสุทธิที่ 75.09 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 34.45 ล้านบาท

แผนปรับธุรกิจลดต้นทุนทำองค์กร Lean เริ่มส่งประสิทธิผล เห็นได้จากอัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มวัสดุปูพื้น  แม้ในปี 2564 กลุ่มธุรกิจโรงแรม ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก บางส่วนจะกลับมาเริ่มเปิดดำเนินการแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 จึงทำให้ยอดขายของ กลุ่มวัสดุปูพื้น (TCM Flooring) ลดลง ทั้งนี้ บริษัทได้มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โดยเน้นการขายในกลุ่มลูกค้าใหม่ทดแทน รวมถึงการหาช่องทางการขายใหม่ ๆ และตลาดใหม่ ที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า  ทำให้สามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นได้ร้ 36.34% ใกล้เคียงกับปีก่อน ถึงแม้รายได้จะลดลง 23.8% โดยในปี 2564 กลุ่มธุรกิจมีค่าใช้จ่ายการขายและบริหารรวมกันเป็นจำนวน 671.91 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 813.46 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจวัสดุปูพื้นมีผลขาดทุนสุทธิ 118.71 ล้านบาท

จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยและต่างประเทศ ทำให้กลุ่มธุรกิจธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ (TCM Automotive) มียอดขายสูงขึ้นตามแนวโน้มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต  คิดเป็น 12.07% และสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นได้ 21.75% ตามลำดับ แต่เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้มีปัญหาการขาดแคลนชิพประมวลผลในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจผลิตรถยนต์ทั่วโลก  เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายปันส่วนจากส่วนกลาง ต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์มีผลกำไรสุทธิ 73.69 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนคิดเป็น 70.53% สูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปี ก่อน ที่มีสัดส่วน 60.44% ของรายได้จากการขายและบริการทั้งหมด กลุ่มธุรกิจวัสดุปูพื้น มีสัดส่วนคิดเป็น 20.02% ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีสัดส่วน 29.95% ของรายได้จากการขายและบริการทั้งหมด ในขณะที่ กลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ มีสัดส่วนคิดเป็น 9.45% ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีสัดส่วน 9.61% ของรายได้จากการขายและบริการทั้งหมด

แม้ผลการดำเนินงานปี 2564 ที่ผ่านมายังยังอยู่ในช่วงที่บางธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร แต่เรายังคงยืนหยัดเดินหน้าในแผนการดำเนินงานปรับประสิทธิภาพ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 นี้ รายได้จะเติบโตมากขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 20% และทำให้กลุ่มบริษัทกลับมาทำกำไรอีกครั้งหนึ่ง โดยมีสัญญานให้เห็นจากกลุ่มธุรกิจที่ชะลอตัวในปี 2564 เริ่มได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าแล้วไม่น้อยกว่า 30% ของประมาณการยอดขายปี 2565 ของกลุ่ม นอกจากนี้เราได้ปิดดีลกับสนามบินนานาชาติสองดีลใหญ่ ได้แก่ สนามบินชางงี และสุวรรณภูมิ และศูนย์ประชุมนานาชาติที่เราจะทยอยส่งมอบภายในปี 2565 และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างต่อเนื่องก็จะส่งผลดีต่อกลุ่มพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาดูปัจจัยต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขนส่งโดยเฉพาะในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่จะมีส่วนทำให้เกิดการเติบโตของธุรกิจในภาพรวม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของทีซีเอ็มซีกล่าวทิ้งท้าย