สมรภูมิโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเดือด เวียดนามเป็นเป้าหมายใหญ่ สำหรับบริษัทคนไทย ทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์) โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทหลายแห่งพร้อมใจกันประกาศข่าวดี เซ็นสัญญาซื้อขายหุ้น ซื้อขายไฟ เพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งอย่างมีนัยสำคัญสำหรับงานต่างประเทศ
บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) คว้ากำลังการผลิตติดตั้ง 420 เมกะวัตต์ ในเวียดนาม ส่วนบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์(GULF)ได้โรงไฟฟ้าก๊าซจากโอมาน กำลังการผลิตติดตั้ง 326 เมกะวัตต์ จากก่อนหน้านี้ได้ 2 โครงการในเวียดนามรวม 98 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD)ในปี 2562 ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น(SUPER)ที่ได้สัญญาซื้อขายไฟจากพลังงานลมร่วม 700 เมกะวัตต์ก่อนหน้านี้ และบริษัทที่คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตในเร็วๆนี้ อย่าง บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ส่งผลให้หุ้นเหล่านี้เป็นที่สนใจของนักลงทุนมากขึ้น
กำลังการผลิตติดตั้งเป็นปัจจัยบวก แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่นักลงทุนจะต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วย รวมถึงการเปรียบเทียบราคาหุ้นกับเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ให้ไว้ เพื่อนำมาตัดสินใจว่าจะซื้อหรือขายหุ้นพลังงานทดแทนตัวไหนดี
หัวใจสำคัญของธุรกิจนี้คือ“ผู้บริหาร”ซึ่งสามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีว่ากำไรจะเติบโตได้มากแค่ไหน เมื่อวาดภาพ“โมเดลธุรกิจ”ออกมาชัดเจน และลงมือทำอย่างมี “ประสิทธิภาพ” รวมถึงจังหวะเวลาในการเก็บเกี่ยวรายได้ในแต่ละช่วง
นับตั้งแต่บริษัทแต่ละแห่งเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้บริหารทุกคนได้ให้ความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนเห็นโครงสร้างธุรกิจ และความคืบหน้าในการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขกำไรที่ออกมาในแต่ละไตรมาสไม่สร้างความผิดหวังแต่อย่างใด
หนึ่งในนั้นคือ EA เริ่มต้นจากธุรกิจไบโอดีเซล แล้วต่อยอดเป็นโรงไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station)และขยายไปสู่พลังงานแห่งอนาคต “แบตเตอรี่”โรงงานแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย
โครงการที่ลงทุนสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมามาก เห็นแนวโน้มการเติบโตของกำไรในปีนี้และปีหน้า คาดสร้างสถิติสูงสุดใหม่(นิวไฮ)โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานลม”หาดกังหัน” ขนาด 126 เมกะวัตต์ สร้างรายได้เต็มปีนี้ และยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากเกินคาดในเดือนก.ค.และส.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนโครงการ”หนุมาน” กำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์ จะ COD ในไตรมาส 4 รวมแล้วโรงไฟฟ้าพลังงานลมจะผลิตได้ 800 ล้านหน่วย ขายในราคาหน่วยละ 7 บาท สร้างรายได้ประมาณ 5,600 ล้านบาท มีส่วนทำให้กำไรเติบโตมากในปีหน้า
ทั้งนี้ยังไม่รวมธุรกิจแบตเตอรี่เฟสแรกขนาด 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh)จะเริ่มรับรู้รายได้ปลายปี2562 และเต็มปี 2563
ขณะเดียวกัน ธุรกิจไบโอดีเซลและกรีนดีเซลรวมถึง PCM (สารแปรสภาพ) บริษัทมีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเป็นรายแรกของโลกที่ผลิตได้จากพืช สามารถดูดซับผลผลิตปาล์มในประเทศไทยได้ 1 ล้านไร่หรือประมาณ 20% ของผลผลิตทั้งประเทศ 5 ล้านไร่ ผลจากการทดลองผลิตเบื้องต้น ได้รับการตอบรับที่ดี คาดว่าจะสามารถสร้างกำไรที่ดีขึ้นมาก เพราะเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสินค้าหลายประเภท เช่น ครีม และโลชั่น ขณะนี้มีคำสั่งซื้อของลูกค้าญี่ปุ่นเข้ามาแล้ว และบริษัทมีแผนที่จะย้ายโรงงานจากจ.กระบี่ไปจ.ระยอง ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI)และอีอีซีในอนาคต
“EA มีจุดเด่นในเรื่องการกระจายแหล่งที่มาของรายได้และยังมีอัตรากำไร(มาร์จิ้น)สูงที่สุดในระบบ ในส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีมาร์จิ้นถึง 81% คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิประมาณ 50-55% ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานลมมีมาร์จิ้นประมาณ 53% เพราะเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า Adder เริ่มจากโครงการโซลาร์ของบริษัท เอสพีซีจี (SPCG)ได้ราคา 8.80 บาท/หน่วย คาดมีมาร์จิ้นประมาณ 70-75% ส่วน EA ได้ราคา 6.50 บาท/หน่วย และบริษัทซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER)ในส่วนโซลาร์มีมาร์จิ้น 60% และพลังงานลมประมาณ 45% ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นถือสัญญารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in-Tariff (FIT)คำนวณรับซื้อจากต้นทุนจริง ที่มีแนวโน้มลดลงมาเรื่อยๆ ”
ที่ผ่านมา EA ยังสร้างความแตกต่าง จากการลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้ามากกว่าสัญญาซื้อขายไฟที่ทำไว้กับการไฟฟ้าต่างๆ โดยมีกำลังการผลิตส่วนเกินประมาณ 30-35% ต่อโครงการ เพื่อเตรียมไว้รองรับแบตเตอรี่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต และหวังว่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจได้ในไม่ช้านี้
สำหรับบริษัทพลังงานทดแทนรายอื่น มีโมเดลแตกต่างกัน กรณี บริษัท บีซีพีจี (BCPG)เริ่มจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เจ้าแรกๆของเมืองไทย และปรับเป็นการกระจายความเสี่ยงไปหาพลังงานใหม่ ๆ สร้างความฮืออาในการออกไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศอินโดนิเซีย และเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยี Blockchain มาแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปที่ผลิตได้และเหลือใช้ Peer-to-Peerของลูกบ้านโครงการแสนสิริ
นอกจากนั้น BCPG ยังขายโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 โครงการ รวมกำลังการผลิต 27.6 เมกะวัตต์ ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่าหลังหักค่าใช้จ่าย ไม่ต่ำกว่า 3,285 ล้านบาท สามารถรับรู้กำไรในไตรมาสที่ 3/2561 และนำกระแสเงินสดในอนาคตมาใช้ลงทุนโครงการใหม่ที่ดีกว่าแทน
ส่วน BGRIM และ GULF ยังคงวิ่งหาเป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้ง ต่างจับมือกับพันธมิตรต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ร่วมประมูลงานในเวียดนาม
กัลฟ์ฯปักธงไว้ 11,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2567 เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่กว่า 4,000 เมกะวัตต์ เป้าหมายใหญ่อยู่ที่ต่างประเทศ ล่าสุดได้รับเลือกเข้าร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในโอมาน กำลังการผลิตติดตั้งรวม 326 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตน้ำจืด จำนวน 1,667 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง โดยบริษัทย่อยของกัลฟ์ฯถือหุ้นสัดส่วน 45% แบ่งเป็น 3 เฟส จะทยอยเปิดเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนก.ค.2563 ถึงเดือนพ.ค. 2565 อายุสัมปทาน 25 ปี และต่อ 5 ปี
ก่อนหน้านี้ กัลฟ์ฯได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับThanh Thanh Cong Industrial Zone Joint Stock Company หรือ TTCIZ ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการคือ TTCIZ-01 กำลังการผลิตติดตั้ง 48 เมกะวัตต์ ก่อสร้างเมื่อเดือนมิ.ย.2561 และ TTCIZ-02 กำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 50 เมกะวัตต์ คาดก่อสร้างภายในไตรมาส 3 ทั้งสองโครงการจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนมิ.ย.2562 กัลฟ์ฯถือหุ้น 49%
“กัลฟ์ยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตจากเวียดนาม เพราะรัฐบาลเปิดโอกาสในการลงทุนจำนวนมาก และยังมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง TTCIZ เป็นบริษัทย่อยของ Thanh Thanh Cong Group (TTC Group) กลุ่มบริษัทช้ันนำของประเทศเวียดนาม ที่มีมูลค่าสินทรัพย์รวมประมาณ 1,900 ล้านดอลลาร์ ตกประมาณ 62,000 ล้านบาท ประกอบธุรกิจหลากหลาย ทั้งผลิตไฟฟ้า เกษตรกรรม น้ำตาล การบริการและโรงแรม อสังหาริมทรัพย์และนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น”
ส่วนบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ เซ็นสัญญาพันธมิตรกับ Energy China บรรษัทรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้รับสิทธิร่วมทุนแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย(Exclusive Right)ขณะที่ Energy China รับหน้าที่ก่อสร้าง มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี สถานะทางการเงิน และมีกิจการรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ มีทุนจดทะเบียน 1.28 แสนล้านบาท สินทรัพย์ทั้งหมด 1.6 ล้านล้านบาท
ล่าสุดบีกริมฯเซ็นสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตติดตั้ง 420 เมกะวัตต์ โดยบริษัทฯถือหุ้น 55% เท่ากับ 231 เมกะวัตต์ จากก่อนหน้า ได้ที่จังหวัดฟูเยี้ยน ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 257 เมกะวัตต์ มีระยะเวลาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ 9.35 เซ็นดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง
ขณะที่ SUPER ได้สัญญาโรงไฟฟ้าพลังงานลมมาแล้วประมาณ 700 เมกะวัตต์ แบ่งการลงทุนเป็น 3 เฟส เฟสแรก 340 เมกะวัตต์ เริ่มก่อสร้างปลายปีนี้ ใช้เวลาประมาณ 14-18 เดือน จะทยอยรับรู้รายได้เป็นระยะ เช่น จำนวน 152 เมกะวัตต์ก่อน พร้อมมองโอกาสโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ยังไม่สนใจพลังงานขยะที่รัฐบาลเวียดนามเชิญชวนมาให้ลงทุน
แนวโน้มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่เวียดนามยังเป็นทำเลทองอีกนาน หลังจากรัฐบาลหมดโอกาสเดินหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และโรงไฟฟ้าทางเลือกมีต้นทุนที่ถูกลง แต่ขนาดของการลงทุนก็จะมีขนาดที่ไม่ใหญ่มากเหมือนที่ผ่านมา เพื่อกระจายการลงทุนไปทั่วภูมิภาค
ที่สำคัญผู้ประกอบการจะต้องไม่ลืมเรื่องการบริหารความเสี่ยง เพราะหากเกิดอะไรขึ้นมาผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ ไม่คุ้มค่ากับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ถือเป็นความเสี่ยงของนักลงทุนเช่นเดียวกัน!!