SUPER โชว์พอร์ตแข็งแรง เร่งโต100%

“ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี” กางพอร์ตให้นักลงทุนดู โตทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มรายได้โรงไฟฟ้าขยะ ขายไฟตรงให้เอกชน มาร์จิ้นดีกว่าโซลาร์ ขยายลงทุนโดยไม่เพิ่มทุน คืนหนี้ลดภาระดอกเบี้ย

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ให้ข้อมูลแก่นักวิเคราะห์และนักลงทุนว่า ธุรกิจพลังงานทดแทนทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลง ต้นทุนของโรงไฟฟ้าต่างประเทศถูกกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากก๊าซและถ่านหิน สร้างโอกาสมหาศาลให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึง SUPER ด้วย และเปลี่ยนวิธีการขายไฟให้ผู้ใช้โดยตรง บริษัทตั้งเป้ารายได้จะเติบโต 100% ในช่วง 4 ปีคือ ปี 2561-2564 เน้นการเพิ่มพอร์ตโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่าพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ให้อัตรากำไรสุทธิดีกว่าเป็น 35-38%

นอกจากนี้ บริษัทจะมีการขายไฟให้ภาคเอกชนหรือ Private PPA ที่มีความต้องการสูง สามารถแข่งขันด้านราคากับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งได้ เพราะถูกกว่า 15-20% พร้อมนโยบายเปิดเสรี ขณะนี้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟเอกชนแล้ว 65 เมกะวัตต์ ในอนาคตน่าจะเพิ่มเป็น 100 เมกะวัตต์/ปี

ขณะเดียวกัน บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการและร่วมทุนทั้งในและต่างประเทศ เบื้องต้นเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รายเล็กขนาด 5-30 เมกะวัตต์/โครงการ ตั้งเป้าอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ประมาณ 12-13%

“เราเป็นเบอร์ 1 โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สร้างรายได้ 90% กระแสเงินสดปีละ 6,000 ล้านบาท ต่อไปโรงไฟฟ้าขยะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท จากปีนี้เป็นปีแรกจะเริ่มรับรู้ประมาณ 4-5% ของรายได้ทั้งหมด ในอนาคตเพิ่มเป็นสัดส่วน 70-80% โรงไฟฟ้าขยะ 1 เมกะวัตต์ สร้างรายได้ปีละ 45-52 ล้านบาท แต่ให้กำไรมากกว่า จากรายได้ 2 ทางคือ การกำจัดขยะสัมปทาน 20-25 ปี และขายไฟ”นายจอมทรัพย์ กล่าว

ส่วนโครงการในต่างประเทศยังคงเดินหน้าต่อไป ที่ญี่ปุ่น บริษัทกลับไปพิจารณาการลงทุนใหม่ ที่เวียดนาม เน้นลม และโซลาร์ แม้ว่ารัฐบาลเสนอพลังงานขยะมา แต่ยังไม่ทำ ปีที่ผ่านมาได้สัมปทานพลังงามลมจำนวน 700 เมกะวัตต์ เฟสแรกจำนวน 340 เมกะวัตต์ เริ่มก่อสร้างปลายปีนี้ ใช้เวลาก่อสร้าง 14-18 เดือน COD บางส่วน 152 เมกะวัตต์ และกำลังเข้าประมูลโซลาร์ แต่ต้องระมัดระวัง ไม่ได้มุ่งหวังโครงการใหญ่ เป็นการกระจายพื้นที่ ลดความเสี่ยง ประมาณ 30-50 เมกะวัตต์/โครงการ ส่วนประเทศอื่นมี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ ไต้หวัน

นายจอมทรัพย์กล่าวถึงการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์) ว่าจะยื่นไฟลิ่งได้ในเดือนก.ย. จำหน่ายสินทรัพย์ในโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 19 โครงการ ขนาดกำลังการผลิต 118 เมกะวัตต์ ให้กับกองทุน ขนาดเบื้องต้น 9,000 ล้านบาท คาดให้อัตราผลตอบแทน 6-7% จะรับรู้เข้ามาในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 หรือต้นไตรมาส 2 ซึ่งการขายทรัพย์สินมีกำไร ทำให้ส่วนของทุนเพิ่มขึ้น นำไปขยายสินเชื่อได้มากขึ้น ส่วนเงินที่ได้มานำไปชำระหนี้ประมาณ 4,000 ล้านบาท ลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย และนำเงินไปลงทุนในกองทุนฯ อีก 1,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 4,000 ล้านบาทจะนำไปลงทุนในอนาคต โดย SUPER ซื้อหน่วยลงทุนจำนวน 15%

“SUPER ไม่มีนโยบายเพิ่มทุน กำไรที่ได้จากการขายทรัพย์สินเข้ากองทุน เป็นส่วนของผู้ถือหุ้น ทำให้เรามีเงินในการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นในต้นทุนที่ถูกกว่าออกกองทุน และมีกระแสเงินสดที่มั่นคงอีก 23 ปีจากสัมมปทานขายไฟโซลาร์ที่เหลืออยู่ ทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนค่อยๆลดต่ำลง เหลือ 1.66 เท่า” นายจอมทรัพย์ กล่าว

สำหรับภาระหนี้ของบริษัท แบ่งเป็นหนี้ระยะสั้นจำนวน 6,900 ล้านบาท ปีนี้ครบกำหนดชำระ 3,300 ล้านบาท มีกระแสเงินสดพร้อม ส่วนหนี้ระยะยาวร่วม 2 หมื่นล้านบาท ยังมีระยะเวลาชำระ 10-12 ปี ซึ่งไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
นายจอมทรัพย์ กล่าวต่อว่า มีแผนจะซื้อหุ้น SUPER เพิ่ม โดยจะเป็นการซื้อในนามส่วนตัวจากปัจจุบันมีสัดส่วนการถือหุ้นของตนเองและครอบครัวทั้งหมดรวมราว 40-41%