KTBST ชี้สงครามการค้าขยายวง แนะรอจังหวะซื้อช่วงดัชนีย่อตัว

บล.เคทีบี คาดหุ้นสัปดาห์นี้ผันผวน อาจปรับตัวลงจากสงครามการค้าที่ขยายตัว แม้ปัจจัยในประเทศหนุนแต่ต่างชาติอาจขายลดความเสี่ยง แนะรอสถานการณ์คลี่คลายหรือเข้าซื้อเมื่อราคาปรับตัวลงมามาก มองแนวรับสำคัญที่ 1,650-1,670 จุด

ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)หรือ KTBST ประเมินตลาดหุ้นสัปดาห์นี้ (10-14 ก.ย.) ว่า ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging market) จะยังมีความกังวลจากประเด็นเรื่องสงครามการค้าอยู่ หลังจากช่วงสัปดาห์ก่อนตลาดปรับตัวลง 3.5% ขณะที่ค่าเงินปรับตัวลดลง 0.8% โดยการปรับตัวลงของดัชนีในหลายๆตลาด ทั้ง ตุรกี, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, อินเดีย เกิดจากปัจจัยลบภายในประเทศที่มีอยู่แล้วและได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าเข้าไปอีก ซึ่งสัปดาห์นี้ความกังวลดังกล่าวจะยังคงมีอยู่และเคลื่อนไหวไปตามประเด็นข่าวสงครามการค้าว่าจะมาเพิ่มระดับความรุนแรงมากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ความรุนแรงของสงครามการค้าดูจะมีมากขึ้น หลังจากสหรัฐฯขาดดุลการค้ากับจีนสูงเป็นอันดับที่ 1 ขณะที่ตัวเลขดุลการค้าสหรัฐฯเดือน ก.ค. พุ่งถึง 9.5% MoM จึงเป็นการทำให้สหรัฐฯ ต้องยิ่งออกมาตรการเพื่อลดการขาดดุลการค้า KTBST คาดว่าหากสหรัฐฯประกาศเก็บภาษีนำเข้าจากจีน 2.67 แสนล้านเหรียญฯ และอาจเพิ่มมาตรการกับผู้ผลิตสินค้าจีนที่ละเมิดสิทธิประโยชน์ทางปัญญาด้วย ซึ่งจีนก็น่าจะตอบโต้กลับในทำนองเดียวกัน ขณะที่การเจรจาการค้าสหรัฐกับแคนาดา ยังไม่มีข้อสรุปแต่ไม่น่าจะเป็นบวกต่อตลาดในช่วงนี้ นอกจากนี้สหรัฐเปิดเผยด้วยว่าเตรียมเจรจาการค้ากับญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่สหรัฐฯขาดดุลมากเป็นอันดับที่ 5 อีกด้วย

ดังนั้นแนวโน้มตลาดหุ้นสัปดาห์นี้จะมีความผันผวนจากการเปิดสงครามการค้าของสหรัฐฯที่เริ่มขยายไปยังประเทศอื่นๆ มากขึ้น และจะเป็นปัจจัยหลักกดดันตลาดในสัปดาห์นี้ อาจทำให้เกิดแรงขายจากนักลงทุนต่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงต่อไปอีก ส่วนปัจจัยในประเทศนั้น ตัวเลขการบริโภคที่ดีขึ้นจากการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นแรงซื้อในกลุ่มรากหญ้า พร้อมกับความคาดหวังในเรื่องการเลือกตั้ง จะเป็นตัวช่วยพยุงดัชนีฯไม่ให้ร่วงลงไปแรง เหมือนในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ตอนนั้นดัชนีฯปรับตัวลงประมาณ 7% จากความกังวลต่อสงครามการค้า

สำหรับการลงทุนสัปดาห์นี้ ด้วยมุมมองที่คาดว่าตลาดมีผันผวนในระยะสั้นและมีโอกาสอ่อนตัวลง คาด SET จะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,650-1,710 จุด จึงแนะนำให้ “ชะลอการลงทุน” เพื่อรอให้สถานการณ์คลี่คลาย อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก แต่ยังมีปัจจัยภายในประเทศด้านเศรษฐกิจและการเมืองยังเป็นตัวหนุน ดังนั้นการร่วงลงของดัชนีเป็นจังหวะในการเข้าซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานดีหรือหุ้นที่มีราคาปรับตัวลงมามาก มองแนวรับสำคัญที่ 1,650-1,670 จุด ส่วนหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวและหุ้นที่ราคาปรับตัวลงมามาก ได้แก่ CPALL , CPN , PLANB , AMATA, SCB , LH และ EA