HoonSmart.com>>ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งปรับ ผู้กระทำความผิด 12 ราย รวม 12.81 ล้านบาท นำโดย “ทักษะ บุษยโภคะ” บิ๊กบริษัทโมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป กรณีใช้ข้อมูลภายใน(อินไซเดอร์เทรดดิ้ง) ซื้อหุ้น”พลาสติค และหีบห่อไทย” และใบสำคัญแสดงสิทธิ กรณี MODERN ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TPAC กับกลุ่มตระกูลโลเฮีย ตั้งโต๊ะซื้อหุ้น TPAC สูงกว่าราคาในตลาดขณะนั้นปี 58
ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 12 ราย กรณีซื้อหุ้นบริษัท พลาสติค และหีบห่อไทย (TPAC) และใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้น (TPAC-W1) โดยอาศัยข้อมูลภายใน เปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น และช่วยเหลือการกระทำความผิด โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวม 12,810,027.82 บาท
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า บุคคลจำนวน 12 ราย ได้แก่ 1.นายทักษะ บุษยโภคะ (ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป (MODERN) 2.นายชัชชัย ธรรมารุ่งเรือง (ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการและกรรมการบริหาร MODERN) 3.นายกวีวุฒิ เนื่องจำนงค์ (ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของ MODERN) 4.นายราเมซ กุมาร นาซิงปุระ (ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ (IVL) 5. นาย Ashok Jain 6.นางสาวธัญธร ตันติธรรม 7.นาย Alexandru Erhan 8. นาย Anish Goyal 9.นายธนรรถ บุษยโภคะ 10. นางสาวเบญจมาศ ธรรมารุ่งเรือง 11. นางสาวอนุตรีย์ เนื่องจำนงค์ และ 12. นางสาวพีรกานต์ เนื่องจำนงค์ ได้ซื้อหุ้น TPAC และ TPAC-W1 โดยอาศัยข้อมูลภายใน เปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น และช่วยเหลือการกระทำความผิด
ปัจจุบัน นายทักษะ บุษยโภคะ ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ MODERN และนายกวีวุฒิ เนื่องจำนงค์ เป็นกรรมการ MODERN
นายทักษะ นายชัชชัย และนายกวีวุฒิ นายราเมซ และพนักงานของ IVL 4 ราย ได้แก่ นาย Ashok นางสาวธัญธร นาย Alexandru และนาย Anish ได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับการตกลงซื้อขายหลักทรัพย์ TPAC ระหว่าง MODERN (ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TPAC) กับกลุ่มตระกูลโลเฮีย (มีความเกี่ยวข้องกับ IVL) ทำให้กลุ่มตระกูลโลเฮียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และมีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของ TPAC โดยกำหนดราคาซื้อสูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้น
ในระหว่างวันที่ 22 ก.ค. – 8 ต.ค. 2558 นายทักษะได้ซื้อหุ้น TPAC โดยใช้บัญชีซื้อขายของนายธนรรถ และได้เปิดเผยข้อมูลภายในให้แก่นายธนรรถ ซึ่งได้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์โดยซื้อขายหลักทรัพย์ TPAC นายชัชชัยได้ซื้อหุ้น TPAC โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวเบญจมาศ และนายกวีวุฒิได้ซื้อหุ้น TPAC โดยใช้บัญชีซื้อขายของนางสาวอนุตรีย์และนางสาวพีรกานต์ ขณะที่นายราเมซ นาย Ashok นางสาวธัญธร และนาย Anish ได้ซื้อหุ้น TPAC โดยใช้บัญชีซื้อขายของตนเอง และนาย Alexandru ได้ซื้อหุ้น TPAC และ TPAC-W1 ในบัญชีซื้อขายของตนเอง ก่อนหน้า TPAC เปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 12 ต.ค.2558
การกระทำของนายทักษะ นายชัชชัย นายกวีวุฒิ นายราเมซ นาย Ashok นางสาวธัญธร นาย Alexandru และนาย Anish เป็นความผิดฐานซื้อหลักทรัพย์ TPAC โดยอาศัยข้อมูลภายในตามมาตรา 241 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับเดียวกัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิด ปัจจุบันการกระทำดังกล่าวยังคงเป็นความผิดตามมาตรา 242 และ มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ การกระทำของนายทักษะยังเป็นความผิดฐานเปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น
ส่วนการกระทำของนายธนรรถ นางสาวเบญจมาศ นางสาวอนุตรีย์ และนางสาวพีรกานต์ เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานซื้อหลักทรัพย์ TPAC โดยอาศัยข้อมูลภายในตามมาตรา 241 ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 บัญญัติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้กับการกระทำความผิดดังกล่าวได้
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับบุคคลทั้ง 12 ราย โดยให้ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้เงินเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิด ดังนี้ นายทักษะ จำนวน 1,180,000 บาท นายชัชชัย จำนวน 863,700 บาท นายกวีวุฒิ จำนวน 6,601,432.50 บาท นายราเมซ จำนวน 632,950 บาท นาย Ashok จำนวน 569,940 บาท นางสาวธัญธร จำนวน 512,430 บาท นาย Alexandru จำนวน 536,242 บาท นาย Anish จำนวน 580,000 บาท สำหรับนายธนรรถ นางสาวเบญจมาศ นางสาวอนุตรีย์ และนางสาวพีรกานต์ ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง รายละ 333,333.33 บาท ทั้งนี้ หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าที่ ค.ม.พ. กำหนดจนถึงอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ
การที่ ค.ม.พ. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดทั้ง 12 ราย อาจเป็นเหตุให้ผู้กระทำความผิดดังกล่าวเข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง