HoonSmart.cim>> “ราช กรุ๊ป” กางแผนปี 65 ทุ่มงบลงทุน 3 หมื่นล้านบาท ขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้า 2.8 หมื่นล้านบาท ธุรกิจอื่น 2 พันล้านบาท เดินหน้าเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ ด้านผลงานปี 64 กำไร 7,772 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% รับรู้รายได้จากโครงการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์อีก 1,377 เมกะวัตต์
บริษัท ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า ในปี 2565 บริษัทฯ ตั้งงบลงทุน 30,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินลงทุนเพื่อขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้า 28,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการใหม่ 26,500 ล้านบาท และโครงการเดิม 1,500 ล้านบาท ส่วนงบลงทุนในธุรกิจอื่นนอก ภาคการผลิตไฟฟ้า เป็นจำนวนเงิน 2,000 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการใหม่ 1,400 ล้านบาท และโครงการเดิม 600 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มอีก 700 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการประเภทเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่น้อยกว่า 450 เมกะวัตต์ และโครงการประเภทพลังงานทดแทน ไม่น้อยกว่า 250 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนในปี 2565 เพิ่มถึง 9,800 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ บริษัทฯ จะรับรู้รายได้จาก 6 โครงการที่ลงทุนและดำเนินงานเชิงพาณิชย์ รวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 1,376.89 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย กลุ่มโรงไฟฟ้าสหโคเจน กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 124.95 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว ในประเทศอินโดนีเซีย 145.15 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าเน็กส์ซีฟ ราช ระยอง 45.08 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนไพตัน ในประเทศอินโดนีเซีย 930.78 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลมอีโค่วิน ในประเทศเวียดนาม 15.15 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ส่วนขยาย 31.19 เมกะวัตต์ รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาซาฮาน 1 ที่บริษัทฯ ได้ลงทุนเพิ่มเติมเมื่อปลายปีที่แล้วที่กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 86.20 เมกะวัตต์ ด้วย
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง จะเริ่มเปิดให้บริการบางส่วนในเดือนส.ค.และโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ในสปป. ลาว จะเริ่มดำเนินการผลิตในไตรมาส 4 และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัท Kyuden Mirai Energy Co., Ltd ปีละ 100,000 ตัน ภายใต้สัญญาซื้อขายระยะเวลา 15 ปี
ด้านผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2564 บริษัทฯ รับรู้กำไรส่วนของบริษัทฯ จำนวน 7,772.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% เปรียบเทียบกับปี 2563 คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 5.36 บาท
นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า ในปี 2564 บริษัทฯ สามารถเดินหน้าลงทุนขยายธุรกิจได้เป็นอย่างดีและใช้เงินลงทุนรวม 12,459.49 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจำนวน 7,366.29 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนโครงการใหม่ และโครงการเดิม จำนวน 5,803.62 ล้านบาท และ 1,562.67 ล้านบาท ตามลำดับ
ส่วนธุรกิจนอกภาคการผลิตไฟฟ้า ใช้เงินลงทุนรวม 5,093.20 ล้านบาท โดยเป็นโครงการใหม่ จำนวน 4,537.10 ล้านบาท และโครงการเดิม 556.10 ล้านบาท ในด้านกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 1,212 เมกะวัตต์ จากการลงทุนใหม่ 4 โครงการ ซึ่ง 3 โครงการเป็นกิจการที่ดำเนินงานแล้ว และโครงการประเภทกรีนฟิลด์ 1 โครงการ ส่งผลให้กำลังการผลิตรวมเป็น 9,115.04 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตภายในประเทศไทย 59% และในต่างประเทศ 41%
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังรับรู้รายได้จากโครงการพลังงานลมขนาดใหญ่ 2 แห่งที่อยู่ในการดำเนินงานของ บริษัท ราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในออสเตรเลีย มีกำลังการผลิตรวม 376.74 เมกะวัตต์ ได้ผลิตไฟฟ้าจำหน่ายอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเล็กเตอร์ กำลังการผลิต 226.80 เมกะวัตต์ ดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเมื่อเดือนเมษายน โดยพลังงานไฟฟ้าประมาณ 136.08 เมกะวัตต์ ให้กับ Infigen Energy มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 10 ปี พลังงานไฟฟ้าประมาณ 44 เมกะวัตต์ จำหน่ายให้กับ ALDI Foods Pty Ltd เป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในเครือรัฐออสเตรเลีย มีระยะเวลาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 10 ปี
ส่วนพลังงานไฟฟ้าอีกประมาณ 46.72 เมกะวัตต์ จำหน่ายในตลาดซื้อขายไฟฟ้าของเครือรัฐออสเตรเลีย สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 70% และรับรู้กำลังการผลิต 149.94 เมกะวัตต์ ได้จำหน่ายไฟฟ้าอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม ให้กับ Alinta Sales Pty Ltd มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 15 ปี
นางสาวชูศรี กล่าวว่า ในปี 2565 บริษัทฯ กำหนดกลยุทธ์ 3-G (Growth, Green, Generate Strategy) เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดย G-1 มุ่งเน้นแสวงหาโอกาสเติบโตเพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่ากิจการเพิ่มในอนาคต G-2 สนับสนุนพลังงานทดแทน และยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ G-3 เน้นเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าและความเป็นเลิศขององค์กร
นอกเหนือจากเป้าหมายการลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะต้องดำเนินการให้สำเร็จแล้ว บริษัทฯ ยังมีเป้าหมายที่จะยกระดับการจัดการประเด็นด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะการจัดการลด ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งได้วาง 6 แนวทางในการดำเนินงาน นับตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนต่อเนื่องทุกปี การกระจายการลงทุนในธุรกิจคาร์บอนต่ำ การเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเพื่อ ลดการใช้เชื้อเพลิงและพลังงาน การปลูกป่าเพื่อสร้างแหล่งดูดกลับก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งกำหนดสัดส่วนประเภทเชื้อเพลิงสำหรับการลงทุน และจำกัดเพดานการลงทุนเชื้อเพลิงถ่านหิน บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า แนวทางดังกล่าวนี้จะช่วยจำกัดและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ได้อย่างต่อเนื่อง
บริษัทฯ มีเป้าหมายเพิ่มการลงทุนกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนปีละ 250 เมกะวัตต์ และจะต้องเพิ่มขึ้นให้ถึง 2,500 เมกะวัตต์ในปี 2568 และ 4,000 เมกะวัตต์ในปี 2578 ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตามลำดับ กอปรกับแผนการปลูกและอนุรักษ์ป่าไม้ ที่จะดำเนินการตั้งแต่ปี 2565-2577 พื้นที่รวม 50,000 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะช่วยดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 670,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า